ผลการประชุมบอร์ด กสทช. วันนี้ (15 มี.ค.) รับลูกจากที่ AIS และ True ได้ยื่นข้อเสนอยืดเวลาผ่อนชำระค่าใบอนุญาต คลื่นความถี่ 900 MHz ออกไปเป็นเวลา 5 ปี
แบ่งเบาภาระ AIS – True แบ่งจ่ายยาว 5 ปี
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บอกว่า บอร์ด กสทช. เห็นชอบให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ในเครือ True สามารถผ่อนชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ในงวดสุดท้ายที่ต้องจ่ายในปี 2562 แบ่งย่อยออกเป็น 5 งวด
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ทาง TUC ชนะการประมูลที่ราคา 76,298 ล้านบาท โดยต้องจ่ายเงินงวดสุดท้าย 60,218 ล้านบาท ส่วน AWN ชนะการประมูลรอบ 2 แทน Jas Mobile ที่ทิ้งใบอนุญาตไป ราคา 75,654 ล้านบาท ต้องจ่ายงวดสุดท้ายจำนวน 59,574 ล้านบาท โดยทั้ง 2 รายต้องจ่ายเงินงวดสุดท้ายทั้งหมด ในปี 2562
ดังนั้น การแบ่งชำระค่าใบอนุญาตเป็น 5 ปี จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับผู้ให้บริการทั้ง 2 ราย โดยตัวเลขนำส่งต่อปีจะอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท มีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจากการแบ่งชำระด้วย ซึ่ง กสทช. จะส่งเรื่องต่อให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันที่ 27 มี.ค. 61
ช่วยทีวีดิจิทัล พักชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี ลดค่าเช่าโครงข่าย 50%
ฐากร กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ประสบปัญหาด้านธุรกิจอยู่ ที่ประชุมเห็นตรงกันในมาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี และ กสทช. จะช่วยรับผิดชอบค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล โดยลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 24 เดือน
กรณีนี้ ทางรัฐบาลกำลังพิจารณา เตรียมออก ม.44 ภายในมี.ค.นี้ ช่วยผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล พักค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 3 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระที่ปัจจุบันธุรกิจทีวีดิจิทัล มีการแข่งขันสูง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ทำให้มีช่องทีวีดิจิทัลหลายช่องไม่สามารถสร้างรายได้ทันกับรายจ่ายที่สูงขึ้น
สรุป
ผู้บริหาร AIS เคยบอกก่อนหน้านี้ว่า หาก กสทช.อนุมัติยืดเวลาผ่อนชำระ จะทำให้สภาพคล่องดีขึ้น แต่ถึงไม่อนุมัติ AIS ก็มีความสามารถในการจ่ายค่างวดได้ ดังนั้นการที่ กสทช. เห็นชอบเสนอ ครม. ครั้งนี้ น่าจะช่วยให้ทั้ง AIS และ True มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้น โดยเฉพาะ True ที่ผลประกอบการให้บริการมือถือโดยรวมยังไม่ค่อยดีนัก
ขณะที่ ทีวีดิจิทัล การพักชำระค่าใบอนุญาต 3 ปี อาจช่วยแบ่งเบาภาระได้ แต่สำหรับช่องทีวีดิจิทัลที่รายได้จากโฆษณาน้อย เรตติ้งต่ำ และแนวโน้มไม่ดีขึ้น ทางออกที่ดีกว่าของธุรกิจอาจอยู่ที่การคืนใบอนุญาตให้ กสทช.
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา