“สิงห์” ทุ่ม 5,000 ล้าน ตั้ง Food factors ลุยธุรกิจอาหารเต็มสูบ

กลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ หรือสิงห์ คอร์ปอเรชั่นได้จัดตั้งบริษัทใหม่ “ฟู้ด แฟคเตอร์” เพื่อสร้างเครือข่ายดำเนินธุรกิจอาหารทัง้ในไทย และต่างประเทศ วางงบลงทุนระยะยาวที่ 5,000 ล้านบาท

เพราะอาหารไม่ถูกดิจิทัล Disrupt

ในปีนี้ได้เห็นการขยับตัวของ “สิงห์” อย่างบ่อยครั้ง เป็นการขยับตัวสู่ธุรกิจใหม่ทั้งสิ้น เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เปิดตัว Singha Ventures เฟ้นหาสตาร์ทอัพเพื่อนำเทคโนโลยีมาต่อยอดธุรกิจของสิงห์ โดยที่ “เต้-ภูริต ภิรมย์ภักดี” ทายาทคนโตในเจน 4 เป็นผู้บริหารโปรเจ็คต์นี้ เพราะมี Passion กับสตาร์ทอัพอย่างมาก

มาถึงโปรเจ็คต์ล่าสุดในเรื่องอาหาร ถึงคราวทายาทคนน้องอย่าง “ต็อด-ปิติ ภิรมย์ภักดี” ที่เคยซุ่มเปิดตัว “ซอสต๊อด” ที่เป็นธุรกิจส่วนตัวไปแล้ว ล่าสุดได้เข้ามาบริหารโปรเจ็คต์ยักษ์ด้านอาหารกับ บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด

การเปิดฟู้ด แฟคเตอร์ในครั้งนี้เป็นการขยายธุรกิจอาหารของสิงห์แบบเชิงรุก ที่ผ่านมามีการจับมือร่วมกับพันธมิตรบ้าง และมีการซื้อกิจการมาบ้าง แต่ก็ยังไม่เห็นเป็นภาพใหญ่เท่าที่ควร ซึ่งฟู้ด แพคเตอร์จะเข้ามาสร้างเครือข่ายการดำเนินธุรกิจอาหาร ทั้งตลาดภายในไทยและต่างประเทศ

มีการวางแผนลงทุนในระยะ 3 ปี ตั้งแต่ 2561-2563 ใช้เม็ดเงินลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งการลงทุนออกเป็นการลงทุนใน บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด 2,500 ล้านบาท และลงทุนในบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด ในกลุ่มธุรกิจซัพพลายเชน 2,500 ล้านบาท

ปิติ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการธุรกิจซัพพลายเชน และกรรมการบริหาร บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า

“บริษัทมีความมุ่งมั่นและมีความพร้อมเดินหน้าขยายกลุ่มธุรกิจอาหารในเชิงรุก ด้วยเชื่อว่าอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย4 ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดังนั้นอาหารจึงเป็นกลุ่มธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ที่จะไม่ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption”

สร้างเน็ตเวิร์กสู่ตลาดโลก

ทั้งนี้ฟู้ด แฟคเตอร์มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายพันธมิตร เชื่อมต่อช่องทางธุรกิจอาหารสู่ตลาดโลก โดยรูปแบบการลงทุนเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้เจรจากับผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายราย ในจำนวนนี้มีอยู่ 3-4 รายที่อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมทุน หลังจากได้ข้อสรุปการร่วมลงทุนภายในไตรมาส 2 แล้ว เชื่อว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยสร้างฟู้ดเน็ตเวิร์กให้กับสินค้ากลุ่มอาหารของบุญรอดฯ ให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

“การขยายกลุ่มธุรกิจอาหารในช่วงที่ผ่านมานั้น กลุ่มบุญรอดฯ จะอาศัยเครือข่ายของเบียร์สิงห์ ในการขยายตลาดเป็นหลัก แต่หลังจากจัดตั้งบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด จะช่วยให้ทางกลุ่มเพิ่มช่องทางในการขยายตลาดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดในต่างประเทศ”

พร้อมพัฒนาสินค้าอาหารออกสู่ตลาด

หลังจากที่จัดตั้งฟู้ด แฟ็คเตอร์ ทางบุญรอดฯ พร้อมที่จะพัฒนาสินค้าออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดตั้ง ฟู้ด แล็บ ในจังหวัดปทุมธานี เพื่อการวิจัยและพัฒนามีความพร้อมในการพัฒนาสินค้า

ปัจจุบันมีบริษัทผลิตอาหารในเครือบุญรอดฯ  ซึ่งพร้อมที่จะสนับสนุนการขยายตลาดของธุรกิจอาหาร เช่น บริษัท เฮสโก โซลูชั่น จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจซอสปรุงรส และอาหารพร้อมทาน, บริษัท มหาศาล จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจข้าว ตราพันดี เป็นต้น โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ มีรวมมูลค่าทางธุรกิจอาหารในมือประมาณ 2,500 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจด้านอาหารต่อจากนี้ จะเน้นการพัฒนาอาหารไทยเป็นหลัก โดยจะมีการพัฒนาทั้งอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงปีแรกจะให้ความสำคัญกับตลาดไทย โดยวางเป้าว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 80% และรายได้จากตลาดต่างประเทศ20% และจะทยอยเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นภายใน 3 ปี

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้ง บริษัท เอสบีพี ดิจิทัล เซอร์วิส จำกัด ดำเนินธุรกิจทางด้านดิจิทัล เพื่อรองรับกับโลกดิจิลทัล ซึ่งมีผลทำให้ธุรกิจต้องปรับตัว

โดยที่เป้าหมาย 3 ปี ภายใต้ 3 บริษัทใหม่ของบุญรอดฯ สามารถสร้างรายได้แตะ 15,000 ล้านบาท จากปัจจุบันโครงสร้างรายได้มาจากกลุ่มซัพพลายเชนราว 2,500 ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจอาหาร 2,500 ล้านบาท  และหากธุรกิจอาหารของบุญรอดบุกตลาดต่างประเทศได้สำเร็จ มีแผนใช้โมเดลธุรกิจอาหารเป็นต้นแบบการขยายธุรกิจเครื่องดื่ม เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย

สรุป

ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของสิงห์ หรือบุญรอดฯ ที่ต้องขยับตัวเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาด ธุรกิจอาหารเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตในทุกๆ ปี และเป็นธุรกิจในปัจจัย 4 ของมนุษย์ ไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา