ยักษ์ขยับตัว! สิงห์ตั้ง “Singha Ventures” ลงทุนสตาร์ทอัพ ติดสปีดการเติบโต

สิงห์จัดตั้ง Singha Venture กองทุนสำหรับลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพทั้งไทย และต่างประเทศ ประเดิมก้อนแรก 25 ล้านเหรียญ หวังใช้เทคโนโลยีมาเสริมให้ธุรกิจหลักเติบโตเร็วยิ่งขึ้น

ไม่หวังกำไร แต่เอาเทคโนโลยีมาใช้ไม่ให้โดน Disrupt

ธุรกิจสตาร์ทอัพเป็นที่พูดถึงในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 5 ปีมาแล้ว แต่ที่บูมอย่างหนักเห็นทีจะเป็นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีสตาร์ทอัพหน้าใหม่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เทรนด์ที่สำคัญก็คือการที่องค์กรใหญ่เริ่มจัดตั้งกองทุนหรือที่เรียกว่า Ventures เป็นของตัวเอง เพื่อที่จะลงทุนในสตาร์ทอัพ เป็นการต่อยอดธุรกิจที่ทำอยู่ให้โตยิ่งขึ้น

“สิงห์” เป็นยักษ์ใหญ่ล่าสุดที่กระโดดลงมาจับธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยการจัดตั้ง “Singha Ventures” ในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพ เพราะมองเห็นโอกาสในการใช้เทคโนโลยี และไอเดียจากสตาร์ทอัพมาช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจมากขึ้น เพราะลำพังแค่การเติบโตแบบออแกนิกในยุคนี้ค่อนข้างลำบาก ยิ่งอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีพร้อมจะ Disrupt ทุกอย่างด้วย

Singha Ventures ได้เริ่มก่อตั้งช่วงกลางปี 2560 จดทะเบียนที่ฮ่องกง เพราะต้องการให้ภาพเป็นโกลบอลไม่ได้จำกัดอยู่ในไทย มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตีเป็นตัวเลขกลมๆ ราว 800 ล้านบาทไทย

ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร Singha Ventures เล่าถึงความเป็นมาของโปรเจ็คนี้ว่า

“ตอนนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงเยอะจากเทคโนโลยี กระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำได้แค่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม คนที่แข็งแรงคือคนที่อยู่รอด Singha Ventures เป็นก้าวสำคัญของสิงห์ที่จะต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเติมบริษัท”

การขยับตัวครั้งนี้ของสิงห์แสดงให้เห็นว่าการเติบโตเพียงลำพังด้วยธุรกิจเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การจะใช้โมเดลซื้อกิจการเพื่อสร้างการเติบโตก็ยังมีควาเมสี่ยง และไม่ได้มีดีลให้เห็นอยู่ตลอด การที่เลือกลงทุนในสตาร์ทอัพจึงเป็นแสงสว่างที่จะช่วยให้สิงห์เติบโตได้เร็วขึ้น อาศัยเทคโนโลยี รวมถึงไอเดียมาปรับใช้ในธุรกิจ เพราะการที่จะจัดตั้งทีมดิจิทัลขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่ต้องลงทุนอีกมหาศาล รวมถึงเรื่องบุคลากรอีก

ซึ่งส่วนตัวของภูริตมีความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพมาสักพักใหญ่แล้ว มีการลงทุนในสตาร์ทอัพในนามส่วนตัวด้วย แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าที่ไหนบ้าง และมีการบินไปต่างประเทศเพื่อศึกษาดูงาน และเรียนรู้สตาร์ทอัพแต่ละรายอยู่เสมอ มองโมเดลของเวนเจอร์ในตลาดอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และจีน เป็น 3 ประเทศหลักในเอเชียที่มีความแข็งแกร่งด้านสตาร์ทอัพ เพื่อปรับใช้กับตนเอง

Singha Ventures ลงทุนอะไรบ้าง?

การจัดตั้ง Singha Ventures ในครั้งนี้ ได้ดึงมือดีอย่าง “วรภัทร ชวนะนิกุล” เป็นผู้จัดการ Singha Ventures ซึ่งวรภัทรร่วมงานกับบุญรอดฯ ได้ 3 ปีแล้วในตำแหน่งผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด และผู้อำนวยการกลุ่มกลยุทธ์ธุรกิจ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งดูแลในส่วนของการวางกลยุทธ์ และเรื่องการลงทุนของสิงห์อยู่แล้ว และส่วนตัวของวรภัทรก็มีความสนใจเกี่ยวกับสตาร์ทอัพอยู่แล้วด้วย จึงรับบทบาทผู้จัดการ Singha Ventures เพิ่มเติม

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ Singha  Ventures สนใจเข้าในการลงทุน ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลักทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่

1.สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer products) ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เครื่องปรุงรส รวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เพราะมองว่าธุรกิจอาหารอย่างไรก็มีความสำคัญกับมนุษย์ และมองเรื่องแพคเกจจิ้งใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลก

2.เทคโนโลยี Supply chain ด้านการขนส่งและการจำหน่ายสินค้า เช่น การขนส่งถึงลูกค้าปลายทางโดยตรง (last mile) การขนส่งระหว่างภาคธุรกิจ และการส่งสินค้าและบริการ e-commerce

3.ลงทุนในระบบหรือโปรแกรมต่างๆ เพื่อช่วยในการทำงานขององค์กร (Enterprise solutions) เช่น Software as a service (SaaS) Cloud computing ระบบการจ่ายเงิน และระบบการให้สินเชื่อแก่คู่ค้า

รวมถึงธุรกิจในอนาคตอื่นๆ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ(Healthcare) เทคโนโลยีชีวภาพ(Biotech) เทคโนโลยีสำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์(Property technology) และ Internet of Things(IoT) เป็นต้น

ซึ่งการลงทุนจะโฟกัสธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีโมเดลธุรกิจชัดเจน มีตลาด และมีรายได้แล้ว (ระดับ Series A) และมีความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนในระดับ Seed Funding stage หากมีไอเดียที่โดดเด่น และอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีสามารถนำมาพัฒนาต่อยอด สามารถ Synergy กับสิงห์ได้

ในปี 2560 ที่ผ่านมา Singha Ventures ได้เริ่มต้นลงทุนแบบ Fund of Funds ก่อน หรือลงทุนใน 2 กองทุน ได้แก่ Kejora Ventures แพลตฟอร์มนระบบ Technology ecosystem ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย มีการลงทุนในธุรกิจแล้วกว่า 29 ธุรกิจ และ Vertex Ventures จากสิงคโปร์ มีเครือข่ายของบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ในวงการ Technology และ Venture Capital อย่างกว้างขวางทั่วโลก รวมมูลค่าการลงทุน 25 ล้านเหรียญ

เหตุผลที่ลงทุนแบบ Fund of Funds ก่อน เพราะต้องการเน็ตเวิร์คจากกองทุนก่อน ในปีนี้จะลงทุนโดยตรงกับสตาร์ทอัพมากขึ้น หลักการเลือกต้องดูทั้งโมเดลธุรกิจ และผู้ก่อตั้งว่ามีวิสัยทัศน์อย่างไรบ้าง

ไม่กินรวบทั้งบริษัท

วรภัทรบอกว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพจะไม่ถือหุ้นใหญ่อย่างแน่นอน มองให้โตไปพร้อมกัน

“การลงทุนในสตาร์ทอัพจะเข้าไปถือหุ้นเริ่มต้นที่ 25% เป็นกรอบที่ตั้งไว้เริ่มต้น จะไม่เข้าไปฮุบมากกว่า 50% เพื่อให้สตาร์ทอัพมีพลังในการทำต่อ เพราะถ้าผู้ก่อตั้งมีหุ้นน้อยกว่า 50% จะไม่มีแรงจูงใจในการทำต่อไป การลงทุนจะค่อยเป็นค่อยไป สร้างโอกาสการเติบโตพร้อมกัน”

ผนึกกำลัง โตได้ไกลกว่า

ภูริตมองว่าสตาร์ทัพในไทยยังไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก ต้องการสร้างการเติบโตไปด้วยกันทั้งสิงห์เอง และตัวสตาร์ทอัพ การที่ผนึกกำลังกันเป็นการนำจุดแข็งของทั้ง 2 ฝ่ายมารวมกันทำให้เติบโตได้ไวกว่าโตคนเดียว ซึ่งสิ่งที่ต่างจะได้จากกันก็คือ

  1. Collaboration สตาร์ทอัพสามารถใช้ Resource ที่สิงห์มีทั้งบุคลากร การวิจัยและพัฒนา รวมถุงที่สิงห์ คอมเพล็กซ์ได้เตรียมสร้างพื้นที่สำหรับสตาร์ทอัพเพิ่มเติมด้วย
  2. Network สิงห์มีคู่ค้า และพาร์ทเนอร์อยู่ 50 ประเทศทั่วโลก และเครือข่ายร้านค้าอีกกว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศไทย
  3. Investment ร่วมกันเป็นพาร์ทเนอร์ระยะยาว สิงห์จะให้เงินลงทุนในการทำธุรกิจ

ทั้งนี้ภูริตพูดปิดท้ายว่า “การลงทุนในสตาร์ทอัพไม่ได้หวังผลกำไร ลงทุนไป 100 ตัว มีกำไรสัก 10 ตัวก็โอเคแล้ว กำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่การได้เทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจไม่ให้โดน Disrupt เป็นสิ่งสำคัญกว่า ในอนาคตเบียร์อาจจะโดน Disrupt ก็ได้ อาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาที่ทำให้การผลิตเบียร์ง่ายขึ้น ทั้งหมดเป็นการเรียนรู้ เพื่อเตรียมพร้อมในอนาคต”

สรุป

  • สตาร์ทอัพกลายเป็นสิ่งที่องค์กรใหญ่ลงมาจับจองกันมากขึ้น เพราะการที่จะโตด้วยตนเองเป็นไปได้ยากแล้ว ต้องอาศัยไอเดียจากคนนอกมาช่วยสร้างการเติบโตให้มากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา