หรือว่านี่คือทางรอดของธุรกิจเพลงไทย ในวันที่กำไรจากธุรกิจเพลงหดตัวลง GMM Grammy ยักษ์ใหญ่จับมือกับ LINE TV ดึงศิลปินจากทางค่ายผลิตมารายการดึงผู้ชม พร้อมทั้งบอกว่า ธุรกิจเพลงยุคนี้ต้องเป็นมากกว่าเพลงทั่วๆ ไป
GMM Grammy : อนาคตของธุรกิจเพลงคือ ดิจิทัล
“Digital Disruption เป็นสิ่งที่ดี การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่อุปสรรคของเรา สำหรับ GMM Grammy ยุคนี้คือยุคของการต่อยอดความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องทำกับพาร์ทเนอร์”
คำพูดด้านบนเป็นของ ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจจีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โดยเล่าให้กับสื่อมวลชนฟังระหว่างการจัดแถลงข่าวความร่วมมือกับ LINE TV ที่นำทีมโดย อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย
ในฐานะหัวเรือใหญ่ของ GMM Music ภาวิต บอกว่า ปี 2017 ที่ผ่านมาธุรกิจเพลงในส่วนดิจิทัลของบริษัทเติบโต 28% โดยปัจจุบันสัดส่วนธุรกิจเพลงที่เป็นดิจิทัลคิดเป็น 40% “มันหมายความว่า ธุรกิจเพลงของเรายังขายในส่วนที่เป็นซีดีได้ ซีดีเพลงยังไม่ตาย” และแม้ตัวเลขจะบอกแบบนี้ แต่แกรมมี่จะนิ่งนอนใจไม่ได้ เพราะออนไลน์คืออนาคต ภาวิต บอกด้วยว่า “ภายใน 3 ปีจากนี้ เราจะทำให้ธุรกิจเพลงมีสัดส่วนที่เป็นดิจิทัล 50% และมีรายได้เพิ่มขึ้น 20-30% ทุกปี”
- หลังจากแอบคุยกันมาพักใหญ่ ล่าสุด GMM Grammy ประกาศผลิต original content ลงบน LINE TV ที่เป็นพาร์ทเนอร์ดิจิทัลแพลตฟอร์มรายใหญ่ โดยแกรมมี่จะดันศิลปินของทางค่ายมาทำรายการลงบน LINE TV ตลอดทั้งปี 2018
แน่นอน การจับมือผลิต original content เพื่อลงแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง LINE TV ในวันนี้คือก้าวที่สำคัญของ GMM Grammy เพราะธุรกิจเพลงต้องโกออนไลน์ ภาวิตเองก็เคยบอกไว้ว่า อนาคตของธุรกิจเพลงคือดิจิทัล
LINE : เพลงไม่ได้มีไว้ฟังอย่างเดียว แต่ต้องดูได้ด้วย
ส่วนด้านของ LINE ประเทศไทย อริยะ บอกว่า ธุรกิจเพลงในโลกดิจิทัลน่าสนใจมาก เพราะเป็นเรื่องของการสร้างประสบการณ์กับผู้บริโภค
“LINE TV ในฐานะแพลตฟอร์ม มองเห็นว่าคอนเทนต์เพลงที่มีคุณภาพของแกรมมี่ ต้องเป็นได้มากกว่า “เพลง” เพราะเพลงไม่ได้มีไว้ฟังเท่านั้น แต่เพลงมีไว้ดูได้ด้วย เวลาคิดถึงเพลงอย่าคิดถึงเพียงแค่ MV (music video) แต่มันคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เป็นรูปแบบ (format) ใหม่ๆ ที่แปลกและแตกต่างไปจากตลาด ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาศิลปินมาทำรายการ เป็นต้น”
GMM Grammy จะมีรายการอะไรใน LINE TV บ้าง?
รูปแบบรายการที่ GMM Grammy จะผลิตลง LINE TV ในปีนี้มี 2 รูปแบบคือ
- Artist Content : รายการที่จะให้ศิลปินของค่ายแกรมมี่มาดำเนินรายการ โดยมีทั้ง 3 สไตล์คือ รายการเรียลลิตี้โชว์ เกมโชว์ และวาไรตี้โชว์
ในปีนี้แกรมมี่จะผลิตทั้งหมด 12 รายการ ได้แก่ ถ่ายเรี่ยราด, นู๋เปาวลีมี 300, เที่ยวบ้านพี่ไมค์, MBOKE (เอ็มบีโอเกะ) ศึกวันชิงไมค์, KIDS ROCK, ฮาแทะเล็ม, WHY ALWAYS OAT? อะไรๆ ก็กู, เติมฝันคนบ้านไกล, Padox Tour (พาด็อกซ์ทัวร์), SONG แปลง, ต่าย อรทัย สะบายดี, BEHIND THE SONG
ส่วนศิลปินที่จะดำเนินรายการ ได้แก่ โอ๊ต ปราโมทย์, เปาวลี, ไมค์ ภิรมย์พร, ต่าย อรทัย, ไผ่ พงศธร และดี้ นิติพงศ์ ห่อนาค โดยรายการเหล่านี้จะออนแอร์บน LINE TV ที่แรก และหลังจาก 45 วันผ่านไป คอนเทนต์เหล่านี้จะถูกทยอยลงสู่แพลตฟอร์มต่างๆ เรียกได้ว่าเป็นการกดสูตร exclusive content ตามแบบฉบับของ LINE อยู่แล้วในการดึงผู้ชม
- อธิบายรูปแบบรายการโดยคร่าวๆ รายการเหล่านี้จะมีขนาดไม่ยาว อยู่ที่ประมาณ 15-30 นาที และจะแบ่งเป็นตอนๆ (episode) เพื่อทำให้ผู้ชมต้องติดตามอยู่ทุกสัปดาห์ ส่วนในแง่เนื้อหา สิ่งที่น่าสนใจ คือการเห็นอีกด้านของศิลปินที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ใครจะรู้ว่าศิลปินบางคนมีฝีมือในการถ่ายรูป หรือทำเกษตรกรรมเป็นวิถีชีวิต ถึงที่สุดแล้วคือการทำให้แฟนคลับและผู้ชมได้เห็นอีกด้านของศิลปินที่ไม่เคยเห็น แต่แน่นอนทุกรายการจะมีการสอดแทรก “คอนเทนต์เพลง” ร่วมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน
2. Premium Music Content : ในส่วนนี้จะเป็นการใช้ศิลปินที่แกรมมี่มองว่าเป็น “แม่เหล็ก” มาดึงฐานผู้ชมให้เข้ามาดูใน LINE TV อย่างเช่น เป๊ก ผลิตโชค, โอ๊ต ปราโมทย์ และป๊อบ ปองกูล
อีกตัวที่น่าสนใจคือ เอ็กซ์คลูซีฟมิวสิควิดีโอที่จะลงใน LINE TV ก่อนแพลตฟอร์มอื่นถึง 30 วัน นอกจากนั้น ยังจะมีกิจกรรมอื่นๆ เช่น LIVE EVENT SESSION และ FAN MEET กับศิลปินของทางค่ายแกรมมี่อีกด้วย
สรุป GMM x LINE TV
ในยุคแห่งการปรับตัว ธุรกิจเพลงของแกรมมี่ต้องเป็นมากกว่า “เพลง”
สูตรล่าสุดที่ GMM Grammy ใช้ในการปรับตัว คือการจับมือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหญ่อย่าง LINE TV เพื่อผลิตคอนเทนต์จากการดึงศิลปินของทางค่ายมาทำรายการที่เป็น original content
ตัวเลขที่น่าสนใจคือ ตลาดเพลงบนมือถือเติบโตขึ้นอย่างสูงมาก ผู้บริโภคใช้งานเฉลี่ย 216 นาที หรือราวๆ 4 ชั่วโมงต่อวัน และ 94% ฟังเพลงบนมือถือในรอบ 30 วันที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มีถึง 70% ที่ฟังจากสตรีมมิ่ง นอกจากนั้นยังมีตัวเลขจากทางแกรมมี่ด้วยว่า คนไทยยังฟังเพลงไทยถึง 80-90% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก
ถ้าดูเฉพาะ Artist Content ที่ส่งมา 12 รายการในปีนี้ของ GMM Grammy จะชัดเจนมากกว่า มีคอนเทนต์ที่เอาใจคนเมืองด้วยศิลปินสายป๊อปที่โด่งดังในโลกออนไลน์ นอกจากนั้นก็ไม่พลาดที่จะเอาใจคนต่างจังหวัด ด้วยการส่งศิลปินเบอร์ต้นๆ ของวงการเพลงลูกทุ่งมาทำรายการร่วมด้วย
หรือว่านี่คือโมเดลทางรอดของธุรกิจเพลงไทยในโลกแห่ง Digital Disruption ที่กำไรจากธุรกิจเพลงเริ่มหดตัวลงไปทุกวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อมวลชนถามถึงรูปแบบธุรกิจ (business model) ที่ทั้ง 2 เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน คำตอบที่ได้คือ “ไม่ขอเปิดเผย เพราะขอให้ถือเป็นเรื่องทางธุรกิจของ 2 บริษัท” แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ รูปแบบการทำรายได้จะอาศัยจากโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของธุรกิจ LINE อยู่แล้ว
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา