Lego ประกาศผลิต “ชิ้นส่วนตัวต่อ” ด้วยพืช ไม่ใช่พลาสติกแบบเดิม เพราะต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสินค้าล็อตแรกที่ผลิตโดยไม่ใช้พลาสติกจะออกสู่ตลาดภายในปี 2018
เลิกใช้พลาสติก มุ่งสู่การผลิตอย่างยั่งยืน
Lego ผู้ผลิตตัวต่อพลาสติกรายใหญ่ระดับโลก ประกาศเพิ่มไลน์ผลิตใหม่ ใช้พลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทิลีน (Polyethylene) ซึ่งสกัดได้จากพืช เช่น อ้อย (sugarcane) โดยทางบริษัทจะเลิกใช้พลาสติกแบบเดิมในการผลิต เพราะต้องการมุ่งหน้าสู่การผลิตสินค้าและแพ็คเกจจิ้งที่ยั่งยืนภายในปี 2030
ในข่าวประชาสัมพันธ์ของ Lego ได้ระบุไว้ว่า เจ้าตัวต่อเลโก้ที่ทำมาจากวัสดุยั่งยืนนี้มี “คุณสมบัติในทางเทคนิคที่ใกล้เคียงกับพลาสติกแบบเดิม” หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ หากใครที่เหยียบไปโดนเจ้าตัวต่อเลโก้ที่ผลิตจากพลาสติกแบบใหม่ก็ยังจะเจ็บเท้าเหมือนเดิม
ที่จริงแล้ว Lego คิดเรื่องการผลิต “ตัวต่อ” อย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ปี 2015 แล้ว เพียงแต่ใช้เวลาเพื่อค้นหาวิธีการผลิตอย่างยั่งยืนอยู่พักหนึ่ง จนกระทั่งล่าสุดในปี 2018 นี้เอง ที่ได้ออกมาประกาศอย่างชัดเจนต่อหน้าสาธารณะเป็นครั้งแรก
Tim Brooks รองประธานด้านความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมของ Lego Group บอกว่า “เราต้องการสร้างผลกระทบที่ดีต่อโลก และต้องการสร้างสินค้าที่ดีให้กับเด็กๆ ด้วยวัสดุที่ผลิตมาอย่างยั่งยืน” พร้อมทั้งบอกว่า “นี่คือก้าวแรกที่มุ่งมั่นของเรา ในการผลิตชิ้นส่วนตัวต่อเลโก้ที่ทำมาจากวัสดุที่ยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม Lego รุ่นรักษ์สิ่งแวดล้อมนี้จะออกมาเป็น LEGO boxes ในปี 2018 นี้อย่างแน่นอน
อ้างอิง – Lego, Fast Company
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา