ทำไม AIS ต้องชูเรื่อง IoT เป็นหัวใจหลักในงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2018

งานแถลงวิสัยทัศน์ของ AIS ในปี 2018 เน้นประเด็นหลักไปที่เรื่อง IoT และที่น่าสนใจคือ ไม่ได้มีเพียงผู้บริหารของ AIS เท่านั้นที่ขึ้นมาพูด แต่เชิญตัวแทนทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กัน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)

AIS จัดงานแถลงวิสัยทัศน์ของบริษัทเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว อย่างในปีก่อน 2017 AIS มาในชื่องาน AIS VISION 2017 DIGITAL FOR THAIs ประเด็นหลักคือการพูดถึงการยกระดับเครือข่ายไปสู่ Next G Network ที่ได้เห็นกัน รวมถึงการก้าวเป็น Digital Service Exclusive ในนาม AIS PLAY และปิดท้ายที่การนำดิจิทัลขยายไปสู่ภาคเกษตรกรรม ผู้ประกอบการ OTOP, สาธารณสุข, การศึกษา และเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพ

มาในปี 2018 AIS สานต่อสิ่งที่ประกาศไว้ในปีก่อน แต่ทิศทางชัดเจนมากขึ้น เพราะปีนี้ AIS จัดงานแถลงวิสัยทัศน์รูปแบบสัมมนาในชื่อ “Digital Intelligent Nation 2018” และมีหัวใจหลักคือเรื่อง IoT

ทำไมต้อง IoT

คำถามแรก ทำไมงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2018 ของ AIS ต้องชูเรื่อง IoT เป็นหัวใจหลัก

คำตอบคือ เรื่องนี้ทำเพียงลำพังไม่ได้ เพราะ IoT หรือ Internet of Things (อินเทอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง) ที่เป็นการนำเอาเทคโนโลยีไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ แล้วใช้ในการสื่อสาร สั่งงาน หรือควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น สั่งปิด-เปิดไฟในบ้านได้ด้วยเสียง, ควบคุมแสง-ความชื้นในการปลูกต้นไม้ได้ด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะ, ระบบที่จะใช้กับรถยนต์ไร้คนขับในอนาคต หรือไกลไปจนถึงการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Smart City

อุปกรณ์ควบคุมและสั่งการ IoT

ความฝันทั้งหมดข้างต้นนั้น จะเกิดขึ้นได้ “จริง” ในโลกแห่งความเป็นจริง จะให้ใครคนใดคนหนึ่งทำเพียงลำพังไม่ได้ เพราะสิ่งสำคัญคือการร่วมมือกันของพันธมิตรจากหลายหลายภาคส่วน

AIS ประกาศความร่วมมือ IoT Alliance Program (AIAP)

เพื่อสร้าง ecosystem ที่ดีสำหรับ IoT ในอนาคต ด้าน AIS จึงประกาศความพร้อมด้วยการเปิดตัวพันธมิตรในงานแถลงวิสัยทัศน์ปี 2018

ประกาศความร่วมมือ IoT Alliance Program (AIAP)
ประกาศความร่วมมือ IoT Alliance Program (AIAP)

โครงการความร่วมมือนี้มีสมาชิกจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ทั้งในและต่างประเทศ โดยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถ, Product, Service หรือ Solution เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

แล้ว IoT ของ AIS ไปถึงไหนแล้ว

ปี 2017 AIS เปิดเครือข่าย NB-IoT หรือ Narrow Band Internet of Things ที่เป็นเครือข่าย IoT ระดับสากล พร้อมรองรับอุปกรณ์อัจฉริยะ โดยพัฒนามาเพื่อการรับส่งข้อมูลปริมาณไม่มาก ใช้พลังงานไฟฟ้าต่ำ ประหยัดต้นทุน และต่อยอดการใช้งานได้มากมาย อาทิ Smart city หรือใช้เพื่อการเกษตรเช่น Smart Farming เป็นต้น

NB-IoT ของ AIS

ปี 2018 AIS เปิดตัว IoT ที่มีชื่อว่า eMTC – Enhance Machine Type Communication โดยตัวนี้จะยกระดับขึ้นมาให้สามารถส่งข้อมูลในปริมาณมากขึ้น พร้อมทั้งเคลื่อนที่ได้ด้วย เช่น สามารถติดตั้งในรถพยาบาลเพื่อส่งข้อมูลของผู้ป่วยได้แบบเรียลไทม์ หรือเหมาะสำหรับการใช้เพื่อส่งข้อมูลในรถยนต์ไร้คนขับในอนาคต

โดย AIS ให้ข้อมูลว่าจะเริ่มนำไปใช้ในกรุงเทพ หัวเมืองต่างๆ และโครงการ EEC พร้อมทั้งระบุว่า จากนี้ต่อไปเรื่องของ IoT คือเรื่องไปไกลกว่าเอกชนแล้ว เพราะต้องใช้ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

AIS แสดงความพร้อมด้านพันธมิตรในการสร้าง ecosystem สำหรับ IoT

เมื่อหัวใจของงานคือการแสดงพลังของความร่วมมือจากพันธมิตร การจัดงานของ AIS ในปี 2018 จึงไม่ใช่การให้ซีอีโอ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) ขึ้นพูดบนเวทีแต่เพียงผู้เดียวเหมือนปีก่อนๆ ที่ผ่าน หากแต่เป็นการจับมือร่วมแรงกับภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรผู้เกี่ยวข้องในการร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงหลายปีต่อจากนี้ 

ลองดูความเห็นบางช่วงบางตอนของพันธมิตรจากหลากหลายวงการที่มาร่วมงานแถลงวิสัยทัศน์ของ AIS ในปีนี้

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ภาครัฐ : ปาฐกถาพิเศษ Thailand’s Development Landscape Forward โดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ดร. สมคิด ระบุว่า “ประเทศไทยผ่านช่วงเศรษฐกิจทรุดไปแล้ว ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่เราตื่นสายไปหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ตื่น … วันนี้ AIS จัดงานขึ้นมาเพื่อทำให้ทุกคนได้รู้ว่า ดิจิทัลสำคัญเพียงใด การจะเปลี่ยนผ่านเพื่อแข่งขันในอนาคตได้ต้องใช้เทคโนโลยี เศรษฐกิจระดับรากหญ้าต้องใช้เทคโนโลยีไปช่วย เพื่อศักยภาพในการแข่งขัน และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ”

“ในช่วง 3 ปีจากนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญมาก เราต้องรีบเปลี่ยนผ่านให้ได้ เพราะสิ่งที่เรามีมา 30 กว่าปีมันไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว ประเทศไทยนับจากนี้จะเป็นของคนรุ่นหนุ่มสาว ที่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ก้าวทันโลก”

ญนน์ โภคทรัพย์ President of Central Group
ญนน์ โภคทรัพย์ President of Central Group

ค้าปลีก : บรรยายพิเศษ Connecting The Lifestyle Experience โดย ญนน์ โภคทรัพย์ President of Central Group

ญนน์ ตอกย้ำการเดินหน้าสู่โลกดิจิทัลของค้าปลีกอันดับต้นๆ ของไทยว่า จะอยู่ที่เดิมไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะแม้ปัจจุบันเครือเซ็นทรัลจะค่อนข้างยิ่งใหญ่ในประเทศ แต่หลังจากนี้ไป จะมีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ดังนั้นถ้าไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ก็เท่ากับย่ำอยู่กับที่ “ยิ่งใหญ่ในวันนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะยิ่งใหญ่ตลอดไป ถ้าไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง”

นอกจากนี้การเดินหน้าลงทุนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ต้องต่อเนื่องมากกว่าเดิม ดูได้จากการที่ทำ Central on Demand รวมถึงการทำตลาดร่วมกับ JD.com อีคอมเมิร์ซเบอร์ต้นๆ จากจีน ถือเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้บริษัทก้าวต่อไปในยุคดิจิทัล

คุณบุรณัชย์ ลิมจิตติ Senior Vice President - International  Marketing, Advertising and Public Relations บริษัท กรุงเทพดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)
คุณบุรณัชย์ ลิมจิตติ Senior Vice President – International  Marketing, Advertising and Public Relations บริษัท กรุงเทพดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)

การแพทย์ : บรรยายพิเศษเรื่อง Embracing The digital World of Health โดย คุณบุรณัชย์ ลิมจิตติ Senior Vice President – International  Marketing, Advertising and Public Relations บริษัท กรุงเทพดุสิต เวชการ จำกัด (มหาชน)

บุรณัชย์ พูดบนเวทีว่า ปัจจุบันมีโรคร้ายที่ยากต่อการรักษาและคร่าชีวิตมนุษย์หลักๆ อยู่ 4 โรค คือ โรคไขข้อและกระดูก, โรคมะเร็ง, โรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับสมอง ซึ่ง BDMS เชื่อว่า Digital จะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น

ดังนั้น BDMS จึงพัฒนาทั้งแนวนอน คือการขยายเครือข่ายโรงพยาบาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาแนวตั้ง คือยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น นำไปสู่อนาคต

การพัฒนา Digital Healthcare โดยใช้ข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ วินิจฉัย และเริ่มกระบวนการรักษา ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มีความทันสมัยและเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคน ถือเป็นการสร้าง Customer Journey ใหม่ เพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุด

“อนาคตการรักษาพยาบาลไม่ได้เริ่มที่โรงพยาบาล แต่เริ่มได้จากทุกคน การติดตั้งอุปกรณ์ IoT เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพ ติดตามผลเพื่อการรักษาสุขภาพที่ดี และหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็สามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว”

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)

รีบสร้าง ecosystem ให้สำเร็จ คือ mission สำคัญของ AIS

สมชัย ซีอีโอของ AIS ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงที่สุดแล้ว การสร้างเครือข่าย IoT ก็เพื่อไปตอบโจทย์ภาพใหญ่ของการเป็น Smart City เพราะสิ่งที่สำคัญคือการร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญต้องเร่งทำ “เพราะถ้ารอบบ้านของเรา หรือต่างชาติทำสำเร็จก่อน ประเทศไทยจะแย่แน่ และเราอาจจะต้องไปซื้อของเขามาใช้ ”

AIS ได้พัฒนา 3 แพลตฟอร์ม ที่จะใช้พลังจาก IoT สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ได้แก่

  1. AIS IoT Alliance Program – AIAP: โครงการความร่วมมือของสมาชิกที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ที่จะร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถในการพัฒนา IoT ให้เกิดขึ้นจริง
  2. The Play 365 : Local VDO Platform แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ Content Creator ทุกคนสามารถนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภค เพราะ Local VDO Platform คือสิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องสร้างให้เกิดขึ้น
  3. AIS IMAX VR : VR Content Platform ให้นักพัฒนา VR Content สามารถเรียนรู้จากผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลกอย่าง IMAX พร้อมโครงการ VR Content Creator Program เวทีของการสร้าง Content VR ให้กับอุตสาหกรรม
PLAY 365
PLAY 365

สรุป

งานแสดงวิสัยทัศน์ของ AIS ปีนี้ได้จำกัดอยู่แค่ทิศทางของตัวเองเท่านั้น แต่ได้เปิดกว้าง สร้างความร่วมมือ เพื่อชี้ให้ประเทศเห็นพลังของ IoT และร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ โดยมี IoT เป็นเครื่องมือสำคัญ พร้อมกับเปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ ที่จะผลักดันธุรกิจของ AIS ให้ก้าวสู่ Content Service Provider แบบเต็มตัว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา