ถือเป็นอีกแบรนด์รถยนต์ที่ค่อนข้างอินดี้พอสมควรสำหรับ Mitsuoka เพราะไม่ว่ากระแสโลกจะไปทางไหน ตัวแบรนด์ก็ยังเน้นแต่การออกแบบภายใต้แนวคิด “คลาสสิค แต่วิ่งได้จริง” มาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วถึงปัจจุบัน
ขายได้เรื่อยๆ เพราะดีไซน์ไม่เหมือนใคร
Mitsuoka Motor ก่อตั้งเมื่อปี 2511 ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายเล็กในญี่ปุ่น โดยช่วงแรกเน้นผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก ก่อนที่จะมาโด่งดังจริงๆ กับการนำโครงรถยนต์ของค่ายใหญ่ๆ มาดัดแปลงให้กลายเป็นรถยนต์แบบคลาสสิก โดยเริ่มต้นที่หยิบโครงของ Nissan รุ่น Silvia S13 มาแต่งใหม่ให้เป็นรถยนต์คลาสสิครุ่น Le-Seyde ในปี 2533
แถมยังจำกัดจำนวนจำหน่ายเพียง 500 คัน ซึ่งก็ขายหมดภายใน 72 ชม. แรกอีกด้วย ดังนั้นเมื่อตัวธุรกิจเริ่มจับทางได้ จึงเดินเดินกลยุทธ์นี้มาตลอด ประกอบกับการเจรจากับแบรนด์รถยนต์หรู ทั้ง Audi และ Lamborghini เพื่อเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง เพราะรถยนต์ประเทศที่บริษัททำตลาดใช่ว่าจะมีคนซื้อจำนวนมากๆ ในแต่ละปี
ส่วนปัจจุบัน Mitsuoka ทำตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทั้งหมด 5 รุ่นประกอบด้วย GaLue ที่นำโครงของ Nissan รุ่น Tiena มาดัดแปลง, Ryugi ที่นำโครงของ Toyota รุ่น Corolla Axio มาดัดแปลง, Viewt ที่นำโครงของ Nissan รุ่น March มาดัดแปลง และ Himiko ที่นำโครงของ Mazda รุ่น MX-5 มาดัดแปลง
แตกต่างอย่างมั่นใจ ด้วยยอดขายที่เติบโต
ซึ่ง Himiko นั้นเพิ่งปรับโฉมใหม่ หลังจากวางจำหน่ายรุ่นแรกในปี 2551 และขายไปได้กว่า 271 คันทั่วโลก (ในประเทศ 60% ส่งออก 40%) ผ่านคงเรื่องการออกแบบนี้เน้นความคลาสสิคไว้เช่นเดิม แต่ปรับแต่งเรื่องเครื่องยนต์ให้ใช้ขนา 1,500 ซีซี และเปิดราคาขายเริ่มต้น 5 ล้านเยน (ราว 1.46 ล้านบาท)
Akio Mitsuoka ประธานของ Mitsuoka ตอกย้ำนโยบายการทำตลาดของบริษัทว่า แม้กระแสรถยนต์รักษาสิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายกำลังเร่งพัฒนา แต่ของบริษัทเองจะเน้นเรื่องการแบบ และแตกต่างด้วยความย้อนยุค ไม่ได้ตามกระแสหลัก พร้อมชูเรื่องการประกอบแบบ Hand-Made
สำหรับ Mitsuoka นั้นนอกจากจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก ยังส่งออกไปที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ยนตรกิจเคยนำเข้ามาขายในไทยเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ปัจจุบันเลิกไปแล้ว), ตะวันออกกลาง และอังกฤษ รวมถึงมีเป้าหมายขยายไปตลาดอื่นๆ ที่มีความชื่นชอบรถยนต์สไตล์คลาสสิคเช่นเดียวกัน
สรุป
กลยุทธ์ของ Mitsuoka ก็ค่อนข้างน่าแปลกใจว่ายังเดินมาได้นานขนาดนี้ เพราะด้วยดีไซน์ที่มันคลาสสิคมากๆ และคงมีผู้บริโภคที่ชื่นชอบสินค้าแบบนี้เพียงน้อยนิด แต่หากรักษากลุ่มนี้เอาไว้ได้ ก็ไม่แปลกที่จะขายได้เรื่อยๆ ผ่านการทำตลาดในสินค้าที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน
อ้างอิง // Japan Today, ภาพและเนื้อหาจาก Mitsuoka
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา