Epson เป็นที่รู้จักในประเทศไทยจาก พรินเตอร์, โปรเจคเตอร์ และขยายไปสู่ตลาดอุปกรณ์ไอทีอื่นๆ
ผลการดำเนินงานในปีที่ 2560 ที่ผ่านมา Epson เผยว่ายังคงรักษาการเติบโตรวมไว้ได้ตามเป้าที่ 7% โดยแบ่งเป็นตลาดประเทศไทยเติบโต 6% และตลาดต่างประเทศภายใต้การดูแลของ Epson ประเทศไทย ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และปากีสถาน รวมมีผลประกอบการเพิ่มขึ้น 14%
สำหรับประเทศไทย กลุ่มอิงค์แท็งค์สามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้ 7% ครองผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่ง 46% ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้อิงค์เจ็ทแบบตลับหมึกและเลเซอร์แบบขาวดำรุ่นเล็กมาใช้อิงค์แท็งค์แทน เพราะมีความคุ้มค่าและประหยัดมากกว่า
ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์มียอดขายเติบโตขึ้น 6% และครองผู้ตลาดด้วยส่วนแบ่ง 46% เช่นเดียวกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากที่สามารถจำหน่ายเครื่องระดับกลางและระดับบนได้มากขึ้น บวกกับมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่และทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นได้ 9% เนื่องจากบรรดาธุรกิจ Photo Lab มีการขยายตัวอย่างมากและนิยมใช้ระบบ Digital กันมากขึ้น เพื่อรองรับกับทุกประเภทงานพิมพ์ได้อย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 650 Lab ทั่วประเทศใช้พรินเตอร์ของ Epson รวมมากกว่า 1,000 เครื่อง
ด้านตลาดต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์ที่เติบโตสูงสุด ยังเป็นอิงค์แท็งค์ที่ขยายตัวถึง 70% เนื่องจากตลาดเริ่มให้การยอมรับข้อได้เปรียบของพรินเตอร์ชนิดนี้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม SOHO และ SME ตามมาด้วยโปรเจคเตอร์ที่เติบโตขึ้น 43% โดยมีตลาดสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจเป็นตลาดสำคัญที่เริ่มนำเครื่องระดับกลางและระดับบนไปใช้มากขึ้น
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไปด้านการขาย ผลิตภัณฑ์ และการตลาด บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากจำนวนเครื่องพิมพ์ทั้งหมดที่จำหน่ายในปี 2560 รวมกว่า 1.3 ล้านเครื่อง พบว่า 78% อยู่ในองค์กรธุรกิจ และ 22% อยู่ในตลาดคอนซูเมอร์ ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ตลาด อิงค์เจ็ทครองส่วนแบ่งส่วนใหญ่อยู่
ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้พรินเตอร์เลเซอร์ในตลาดธุรกิจเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับยอดขายของอิงค์เจ็ท จน Epson เชื่อว่าภายใน 3 ปีจากนี้ หรือปี 2563 อิงค์เจ็ทจะขึ้นมาเป็นมาตรฐานการพิมพ์ใหม่ในตลาดองค์กรธุรกิจ ด้วยส่วนแบ่งมากกว่า 75% หรือ 3 ใน 4 ของพรินเตอร์ทั้งหมดในตลาดองค์กรธุรกิจ โดยมีปัจจัยมาจากพรินเตอร์เลเซอร์มีราคาสูง หรือเรื่องของผงหมึกที่มักตกค้างอยู่ตามตัวเครื่องและยังเป็นอันตรายต่อร่างกาย
Epson เป็นหนึ่งในผู้พลิกโฉมวงการพรินเตอร์ ตั้งแต่ในปี 2553 หลังจากเปิดตัวอิงค์แท็งค์ตระกูล L-Series ต่อมาใน ปี 2558 ได้เปิดตัวพรินเตอร์ระบบชุดหมึกถอดเปลี่ยนได้ RIP (Replaceable Ink Pack) และล่าสุดปี 2560 ได้เปิดตัวอิงค์เจ็ทความเร็วสูงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ รุ่น WorkForce ที่ใช้หัวพิมพ์ไมโครปิเอโซรุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพการทำงานและให้คุณภาพงานทัดเทียมกับพรินเตอร์เลเซอร์
สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจของ Epson ในปี 2561 ตั้งเป้าเติบโตรวม 7% โดยแบ่งเป็นตลาดประเทศไทยที่ 5% และตลาดต่างประเทศที่ 15% แต่หลังจากนี้ในตลาดต่างประเทศที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Epson ประเทศไทยจะไม่นับรวมประเทศเวียดนามอีกต่อไป เพราะบริษัทแม่ได้มีการตั้งออฟฟิศในประเทศเวียดนามแล้ว จึงเหลือแค่กัมพูชา ลาว พม่า และปากีสถาน ซึ่งในส่วนของ 3 ธุรกิจหลักที่จะโฟกัสเป็นพิเศษ ได้แก่ อิงค์เจ็ทความเร็วสูงสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ เลเซอร์โปรเจคเตอร์ และหุ่นยนต์แขนกล
Epson ได้กำหนดวิสัยทัศน์ที่เรียกว่า Epson 25 โดยตั้งเป้าให้ปี 2025 หรือ พ.ศ. 2568 เป็นปีที่เอปสันจะสามารถสร้าง Connected Age หรือยุคแห่งการเชื่อมโยงคน สิ่งของ และข้อมูลเข้าด้วยกัน ผ่าน 4 เทคโนโลยีของ Epson ที่ทรงประสิทธิภาพ ได้แก่ พรินเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารทางภาพ อุปกรณ์สวมใส่ติดตัว และหุ่นยนต์
ปี 2560 ที่ผ่านมา ทั้ง 4 กลุ่มเทคโนโลยีได้ช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจของ Epson ให้เติบโตได้ด้วยดี และบริษัทฯ คาดการณ์ว่าธุรกิจโดยรวมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 9% ในปีงบประมาณ 2560 นี้ และจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในอีก 3 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 7%
ตอนนี้หลายอุตสาหกรรมมีความตื่นตัวในการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในสายการผลิต เพื่อเพิ่มผลิตผล ปรับปรุงคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน และพัฒนาศักยภาพการทำงาน มีการคาดการณ์ว่าภาคการผลิตของประเทศไทยราว 50% จะเริ่มใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 1 – 3 ปี ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางจะพร้อมในอีก 3 – 5 ปี
Epson ได้เริ่มนำหุ่นยนต์แขนกล SCARA Robot และ 6-Axis Robot เข้ามาทำตลาด ซึ่งเหมาะกับงานที่ต้องการความเร็วและความแม่นยำสูง ใช้งานในพื้นที่จำกัดได้ดี เพราะมีขนาดกระทัดรัด โดยเฉพาะ 6-Axis Robot เป็นแขนกล 6 แกนหมุนอิสระ ทำงาน ได้ใกล้เคียงกับแขนคน มีความยืดหยุ่น ทั้งยังใช้ระบบควบคุมการเคลื่อนไหว ช่วยลดความสั่นสะเทือนและเข้าถึงตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว มีระบบ Vision ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับรู้และแยกแยะประเภทวัตถุ ตรวจสอบ คุณภาพและรับรู้ตำแหน่งวัตถุ หุ่นยนต์จะหยิบจับหรือประกอบชิ้นงานได้ถูกต้องยิ่งขึ้น โดยตลาดเป้าหมายของ เอปสันอยู่ที่กลุ่มโรงงานผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
กลยุทธ์ 4C
กลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่
- Customer Solutions คือ การรวมเทคโนโลยีของ Epson เข้าด้วยกันและออกแบบเป็นโซลูชั่นเพื่อรองรับธุรกิจของลูกค้าแต่ละรายโดยเฉพาะ
- Customer Values คือ การพิสูจน์ให้ลูกค้าได้เห็นถึงคุณค่าทุกด้านที่ลูกค้าจะได้รับ เช่น คุณค่าด้านคุณภาพ ความคุ้มค่าในการลงทุน ความน่าเชื่อถือ หรือการประหยัดพลังงาน
- Convenience Channel คือ การขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมตลาดเป้าหมาย รวมไปถึงช่องทางจำหน่ายเฉพาะทางสำหรับผลิตภัณฑ์บางประเภทอย่าง เช่น แว่นตาอัจฉริยะ และหุ่นยนต์แขนกล
- Communications คือ การสื่อสารที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจในอุตสาหกรรมสามารถจดจำแบรนด์และคุณค่าด้านต่างๆ ผ่านสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์และกิจกรรมการตลาด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา