ไขรหัสความสำเร็จของคอนเทนต์ซีรีส์อินเดีย ที่ขึ้นแท่นเรตติ้งสูงสุดในหลายๆ ช่อง กลายเป็นอาวุธเด็ดที่ช่องเลือกสานต่อ โดย CEO ของ JKN ผู้นำเข้าซีรีส์อินเดียจะมาเผยถึงปัจจัยความสำเร็จ เตรียมนำซีรีส์ฟิลิปปินส์มาสานต่อความปังอย่างต่อเนื่อง
อาวุธเด็ดสร้างเรตติ้งของช่อง
ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ได้เห็นกระแสความนิยมของซีรีส์อินเดียมากขึ้นมหาศาล กลายเป็นแม็คเน็ตของช่องทีวีดิจิทัลหลายช่องทั้ง ช่อง 3 ช่อง 8 และ Bright TV ที่สำคัญคือสามารถครองช่วงเวลาไพร์มไทม์ และกวาดเรตติ้งขึ้นอันดับหนึ่งให้แก่ช่องได้ด้วย
เบื้องหลังการมาของซีรีส์อินเดียในไทยนั้นมาจากการนำเข้าของ “บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)” หรือ JKN ผู้นำเข้าลิขสิทธิ์คอนเทนต์ต่างประเทศ ซึ่งได้เริ่มนำซีรีส์อินเดียเข้ามาในไทยตั้งแต่ปี 2557 แล้ว จากนั้นก็เสนอขายตามช่องสถานีต่างๆ แต่เพิ่งมาเป็นที่นิยมเมื่อ 1-2 ปีนี้เอง
ในปีที่ผ่านมา JKN ได้ขายลิขสิทธิ์ซีรีส์อินเดียให้แก่ 3 ช่องด้วยกัน ได้แก่ ช่อง 3 (รวมทั้ง 3 ช่อง) จำนวน 10 กว่าเรื่อง, ช่อง 8 จำนวน 3-4 เรื่องและช่อง Bright TV จำนวน 10 กว่าเรื่อง ถ้ารวมจำนวนในการขายทั้งหมดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมารวม 50 กว่าเรื่อง คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
ในปีนี้มีนำเข้ามาอีก 20 กว่าเรื่อง ซึ่งได้ทำการปิดการขายจนหมดสต็อกแล้ว ยังคงป้อนให้กับลูกค้า 3 ช่องเดิมอยู่ ช่อง 3 อีก 10 กว่าเรื่อง ช่อง 8 อีก 10 เรื่อง Bright TV และมีการพูดคุยกับอีก 3-4 ช่อง อีก 10 กว่าเรื่อง
จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
“เราได้นำซีรีส์อินเดียเข้ามาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ให้ครอบคลุมเป็น Asian Content และมีการประเมินว่าปีนี้ยังคงได้รับความนิยมสูงอยู่ เข้าถึงกลุ่มผู้ชม และสร้างกระแสได้ดี หลายช่องที่นำไปออกอากาศก็มีเรตติ้งดีขึ้น ทำให้เรตติ้งสถานีดีขึ้นด้วย”
JKN ได้ทำการเอ็กซ์คลูซีฟกับสตูดิโอผลิตซีรีส์ในอินเดียรายใหญ่ทั้ง 4 ราย ได้แก่ Sony, FOX, Vicom และ Zee เป็นการกวาดซื้อแบบเหมามาหมด ไม่เหลือให้รายอื่นซื้อเข้ามาได้อีก และตอนนี้สามารถซื้อมาฉายในช่วงเวลาใกล้เคียงกับอินเดียได้เลย ไม่ต้องรอจบก่อนแล้วค่อยฉาย เพราะโปรดักชั่น การพากย์รวดเร็วขึ้น
ไม่ใช่แค่สนุก แต่วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน
ในช่วงหนึ่งคนไทยฮิตซีรีส์เกาหลีกันทั่วบ้านทั่วเมือง เพราะด้วยนักแสดงหน้าตาดี บทละครที่โรแมนติก ซึ่งน้ำตาไหล เป็นการสร้างทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการดูคอนเทนต์ที่แตกต่างจากละครไทย แต่พบว่าพักหลังซีรีส์เกาหลีได้รับความนิยมน้อยลง เพราะด้วยบทเดิมๆ ไม่ค่อยแตกต่าง ทำให้คนไทยเริ่มเปิดใจระบคอนเทนต์อื่นๆ แทน
“หลักการเลือกซีรีส์แต่ละเรื่องเข้ามานั้น จะยึดหลักว่าการบริหารใช้สมอง แต่ดูคอนเทนต์ใช้หัวใจ จะดูบท กับไดอาล็อคเป็นหลักว่ามันกินใจแค่ไหน เข้าถึงคนดูแค่ไหน รวมถึงผู้กำกับ ทุนสร้างต่างๆ ด้วย”
จักรพงษ์ได้มองความสำเร็จของซีรีส์อินเดียไว้ 5 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. จับตลาดถูก เป็นเรื่องของพื้นฐานการตลาด จับจุดถูกว่าคนไทยชอบคอนเทนต์แบบไหน ชอบดูอะไร เป็นเรื่องของ Local Marketing และซีรีส์อินเดียมีเพลงประกอบ คนไทยชอบรองเพลงอยู่แล้วด้วย
2. การเลือกคอนเทนต์ มีการสกรีนเลือกคอนเทนต์ที่คิดว่าจะปังแน่ๆ มาฉาย ถ้าเป็นเรื่องประวัติศาสตร์หนักๆ หรือดราม่าหนักๆ เกินไปก็ไม่เอา ดูว่าคนไทยจะชอบแบบไหน
3. วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน อีกหนึ่งอย่างที่ทำให้ซีรีส์อินเดีย กับซีรีส์เกาหลีต่างกันคือเรื่องวัฒนธรรม อินเดียจะมีความใกล้เคียงคนไทยมากกว่า ทั้งการใช้ชีวิต การพูด ศาสนา ภาษาไทยที่มาจากภาษาสันสกฤต และมีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าที่เคยเรียนในประวัติศาสตร์อย่างพระเจ้าอโศก หนุมาน หรืออย่างเรื่องพระพิฆเนศที่จะลงจอในปีนี้ ก็เป็นเทพที่คนไทยบูชา มีความ Connected กันอยู่ไม่น้อย
4. จับคนดูตลาดแมส ด้วยพื้นฐานของคนอินเดียเป็นคนระดับกลาง-ล่างค่อนข้างเยอะ ซีรีส์แต่ละเรื่องจึงผลิตมาเพื่อจับคนดูกลุ่มนี้ เช่นเดียวกันเมื่อมาฉายในไทยทำให้เข้าถึงคนดูระดับแมส หนือกลาง-ล่าง เนื้อหาของซีรีส์เป็นเรื่องของแม่ผัวลูกสะใภ้ก็เยอะ คนดูจึงชอบ ต่างจากซีรีส์เกาหลีที่คนดูส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่น
5. ลงทุนน้อยกว่าละครไทย 50% ในแง่ของผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ การลงทุนเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ซึ่งซีรีส์อินเดียใช้งบลงทุนน้อยกว่าการทำละครไทยเองถึง 50% และได้เรตติ้งดีกว่าด้วย
ช่อง 3 ลูกค้ารายใหญ่ หวังใช้อินเดียแทนที่เปาบุ้นจิ้นสักที
จากลูกค้าที่ซื้อลิขสิทธิ์ทั้งหมด ช่อง 3 เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด มีมูลค่าการซื้อถึง 9 หลัก เพราะนำไปลงในช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่อง ในปีนี้จะมีการซื้ออีก 10 กว่าเรื่อง เฉลี่ย 150-300 ชั่วโมง/เรื่อง
แต่มีปีนี้มีไฮไลท์ที่เรื่อง “ม่านรักม่านประเพณี” ซีรีส์ฟอร์มยักษ์จำนวน 2,200 ตอน ช่อง 3 หวังว่าจะนำมาแทนที่ซีรีส์เดิมๆ อย่างเปาบุ้นจิ้น หรือแดจังกึมที่มีการฉายมาหลายปีได้เสียที
ส่วนช่อง 8 ในปีนี้ได้ทุ่มงบ 800 ล้าน ลงซีรีส์อินเดียอีก 10 เรื่อง หวังเป็นเจ้าตลาดซีรีส์อินเดีย และโกยเรตติ้งขึ้นอันดับ 3 ให้ได้
เตรียมนำซีรีส์ฟิลิปปินส์แซ่บๆ เข้ามาเสริม
โดยปกติ JKN ใช้งบลงทุนด้านคอนเทนต์เฉลี่ย 600-800 ล้านบาท/ปี เป็นคอนเทนต์รวมทุกกลุ่มรวมหลาย 100 เรื่อง ในที่นี้เป็นซีรีส์อินเดียสัดส่วน 40% เพิ่มขึ้นจากหลายปีก่อนที่มีการใช้เพียง 20-25%
ในปีนี้เตรียมนำคอนเทนต์ฟิลิปปินส์มาเสริมทัพอีกกว่า 100 เรื่อง คาดว่าจะมาเบียดกับละครไทยได้ เพราะเนื้อหาใกล้เคียงกัน เป็นเนื้อหาแซ่บๆ ตบกระจาย มีคุยกับทางช่อง 3 และ Bright TV รวมถึงอีก 3 ช่องที่จะฉายแล้ว
มีการประเมินว่าซีรีส์อินเดียจะยังคงได้รับความนิยมอีกเป็น 10 ปี เพราะมีความสดใหม่ และมีความยาว บางเรื่องอยู่เป็นหลายปี ทำให้ยังคงได้รับความนิยม
สรุป
– จากคอนเทนต์ที่หลายคนมองว่าไม่ได้รับความนิยม แต่สามารถสร้างความปังได้ จนกลายเป็นอาวุธหลักในการโกยเรตติ้งของช่องทีวีในสภาวะสงครามคอนเทนต์ในตอนนี้ เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว ปัจจัยที่ทำให้ซีรีส์อินเดียประสบความสำเร็จ มาจากการจับจุดผู้บริโภคได้ เมื่อคอนเทนต์โดนใจ ก็พร้อมที่จะสละเวลาดูแน่นอน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา