Jack Ma เตรียมส่ง Alibaba Cloud ช่วยควบคุมการจราจรในมาเลฯ แถมจะช่วยปรับปรุงผังเมืองด้วย

ความฝันถึงการเป็น Smart City ไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อ Alibaba สานต่อความสัมพันธ์อันดีกับมาเลเซีย เตรียมส่ง City Brain ลงไปดูแลการจราจร รายงานผลแบบเรียลไทม์ และจะช่วยปรับปรุงผังเมืองด้วย

Najib Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับ Jack Ma Photo: forum.lowyat.net

Alibaba Cloud จะช่วยจัดการจราจร และปรับปรุงผังเมืองให้มาเลเซีย

หลังจากที่มีความสัมพันธ์อันดีของ Jack Ma กับ Najib Razak นายกรัฐมนตรีมาเลเซียผ่านการลงนามตั้งศูนย์กระจายสินค้าของ Alibaba ภายในพื้นที่เขตการค้าเสรีดิจิทัล (DFTZ) จนในท้ายที่สุดได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อปลายปี 2017

ล่าสุด Alibaba จะทำโครงการใหม่ที่ชื่อว่า “Malaysia City Brain” โดยร่วมกับหน่วยงานของมาเลเซียที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉพาะหรือ MDEC และอีกหน่วยงานหนึ่งคือ รัฐบาลท้องถิ่นกัวลาลัมเปอร์

โครงการ City Brain จะเป็นโครงการที่ใช้ Alibaba Cloud เข้าไปจัดการและควบคุมการจราจรในเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยี Cloud และ AI เพื่อติดตามดูยานพาหนะบนท้องถนน จนนำไปสู่ขั้นสูงสุด คือการช่วยแนะนำในการปรับปรุงผังเมืองให้ดีขึ้นได้

รูปภาพจำลองการทำงานของ City Brain ในเมืองหางโจว ประเทศจีนของ Alibaba Cloud

Alibaba Cloud ทำงานอย่างไร?

Alibaba Cloud จะเข้ามาเก็บข้อมูลจากรูปภาพและวีดิโอที่บันทึกไว้ทั่วในเมือง โดยการร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ Alibaba สามารถรวบรวมข้อมูลจากบริษัทโทรคมนาคมและบริการแอพเรียกรถ (ride-hailing app) ในประเทศมาเลเซียได้ทั้งหมด

  • ในเฟสที่ 1 Alibaba จะทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นกัวลาลัมเปอร์เพื่อประสานงานรับข้อมูลจากกล้องกว่า 500 ตัวที่กระจายอยู่ใน 281 จุดทั่วเมืองหลวง เพื่อการวิเคราะห์การจราจรแบบเรียลไทม์
  • ในเฟสที่ 2 Alibaba จะดึงข้อมูลจาก GPS และระบบสัญญาณไฟจราจรของเมืองมาทำงานร่วมด้วย ในส่วนนี้เข้าใจว่า หาก Alibaba มีข้อมูลของการทำงานด้านจราจรท้องถิ่น จะทำให้สามารถควบคุมการจราจรได้อย่างครอบคลุม เช่น หากวิเคราะห์แล้วว่า ขณะนี้รถกำลังติดในจุดนั้นๆ ก็สามารถสั่งการให้สัญญาณไฟจราจรในจุดนั้นเป็นสีเขียว เพื่อทำให้ความหนาแน่นของการจราจรในจุดนั้นลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Alibaba บอกว่า ในอนาคตข้อมูลส่วนนี้จะเป็นข้อมูลเปิดที่ให้ภาคเอกชน พาร์ทเนอร์ในอุตสาหกรรมต่างๆ และสถาบันวิจัย มาร่วมพัฒนาอัลกอริธึ่มเพื่อทำให้ระบบ City Brain ของมาเลเซียตัวนี้เก่งและฉลาดมากขึ้น

Alibaba เคยใช้ City Brain ในบ้านเกิด และประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว

ในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียถือเป็นแห่งที่ 2 ที่ Alibaba จะนำเอาเทคโนโลยี City Brain ไปใช้

ก่อนหน้านี้ Alibaba เคยใช้ City Brain ในบ้านเกิดคือเมืองหางโจว ประเทศจีน และประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะช่วยทำให้การจราจรคล่องตัวเพิ่มมากขึ้นถึง 15% ในหลายพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจจับการฝ่าฝืนกฎการจราจรได้มากถึง 500 ครั้งต่อวัน

ส่วนการนำมาใช้ในมาเลเซีย นอกจากที่จะเป็นการสานต่อความสัมพันธ์อันดีจากการให้ Alibaba เข้ามาสร้างฮับกระจายสินค้าในปลายปีที่แล้ว นักวิเคราะห์ ยังมองว่า “มาเลเซียเป็นประเทศแรกๆ ที่สนับสนุนนโยบาย One Belt One Road ของจีน” 

การเติบโตของ Alibaba Cloud  (ที่โดยเฉพาะ Amazon) ต้องจับตามอง

หนึ่งในสิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลกอย่าง Amazon และ Alibaba ต่างมีระบบ Cloud ที่พร้อมให้บริการกับลูกค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ

Amazon Web Services หรือ AWS เป็นเจ้าตลาดของโลกมานาน ก็ได้ทำโครงการ Smart City ทำนองนี้ในสิงคโปร์และนิวยอร์ก โดยร่วมมือกับหน่วยงานขนส่งในท้องถิ่น แต่หลังจากนี้ เมื่อ Alibaba ที่เริ่มรุกตลาด Cloud มากขึ้น และล่าสุดไปเริ่มต้นทำ City Brain ในตลาดนอกประเทศอย่างมาเลเซีย ก็ต้องบอกว่าน่าจับตามองเป็นอย่างมาก

Gartner รายงานว่า ในปี 2016 Alibaba สามารถไต่อันดับขึ้นมาอยู่ที่ 3 ของโลกแซง Google จากการทำรายได้ในส่วนบริการ Cloud 

  • อันดับ 1 คือ Amazon ทำรายได้ 9,775 ล้านดอลลาร์ มีส่วนแบ่งตลาด 44.2%
  • อันดับ 2 คือ Microsoft ทำรายได้ 1,579 ล้านดอลลาร์ มีส่วนแบ่งตลาด 7.1%
  • อันดับ 3 คือ Alibaba ทำรายได้ 675 ล้านดอลลาร์ มีส่วนแบ่งตลาด 3.0%
  • อันดับ 4 คือ Google ทำรายได้ 500 ล้านดอลลาร์ มีส่วนแบ่งตลาด 2.3%

แม้ Alibaba จะแซง Google มาได้ แต่ในแง่ส่วนแบ่งตลาด AWS ของ Amazon ยังครองตลาดไว้เกือบครึ่ง แต่จะประมาท Alibaba ไม่ได้ เพราะความร่วมมือในลักษณะเดียวกันกับมาเลเซียอาจจะเกิดขึ้นที่อื่นได้อีก ดูแล้วกุญแจสู่ความสำเร็จของ Alibaba คือการมีข้อมูลในด้านของการจัดการเมือง รวมถึงวงการค้าปลีกที่ทำอยู่แล้ว และการเงินที่เป็นหน่วยหนึ่งในธุรกิจ ต่อจากนี้คงจะได้เห็น Cloud ของ Alibaba ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น

ที่มา – Alizilatechinasia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา