สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผย กรณีค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดให้ปรับขึ้นเป็น 308-330 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่อยู่ในช่วง 300-310 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 305.44 บาทต่อวัน ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% ดันให้ต้นทุนผู้ประกอบการค้าปลีกเพิ่มขึ้น 1.68%-2.25%
กระทบ 4 ข้อหลัก
จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า
“การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2561 เป็นการปรับขึ้นตามแต่ละพื้นที่ ไม่เท่ากันทั่วประเทศ โดยมีการจัดกลุ่มจังหวัดแบ่งค่าแรงขั้นต่ำเป็น 7 ระดับ ต่างจากปีก่อนที่แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.6% และส่งผลกระทบใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- ปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่เมืองหลวง เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่ย้ายกลับภูมิลำเนาของตนเอง
- ปัญหาค่าจ้างแรงงานรายชั่วโมง เพิ่มสูงขึ้น โดยการจ้างพนักงานพาร์ทไทม์ 4 ชั่วโมง จะมีต้นทุนถึงชั่วโมงละ 77 – 82.50 บาท (กฏหมายกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็นรายวัน การจ้างพาร์ทไทม์ เพียง 4 ชั่วโมง ก็ต้องจ่ายค่าจ้างเต็มวัน)
- ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากค่าจ้างแรงงาน อาทิ เงินสมทบต่างๆ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนเงินทดแทน, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนคนพิการ เป็นต้น
- ผลกระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างแรงงานทั้งระบบ ทั้งในแง่ของการปรับค่าแรงของตำแหน่งงานที่สูงขึ้นไป ซึ่งแม้จะจ่ายค่าจ้างเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำแล้ว แต่ก็ต้องปรับ เพื่อให้มีช่วงห่างของค่าจ้างที่เหมาะสม รวมไปถึงการจ้างแรงงานที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือในการทำงาน ก็ต้องปรับให้สูงขึ้นกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยเช่นกัน
จากผลกระทบทั้ง 4 ด้าน ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น โดยสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานเกิน 500 คนขึ้นไป จากเดิมที่อัตราค่าแรงอยู่ที่ 300 -500 บาท แต่ตามข้อกำหนดใหม่ที่ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นเป็น 308-330 บาทต่อวัน ทำให้องค์กรต้องปรับเพิ่มค่าแรงอีก 5-22 บาท (จากฐาน 300 บาท) และปรับค่าแรงขึ้นตามขั้นบันได
ทำให้องค์กรนั้นต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 3.39 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมอัตราเพิ่มสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมอีก 11.83% กองทุนเงินทดแทนอีก 1.87% และ กองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการอีก 58,035 บาทต่อคน
ค้าปลีกกระทบหนัก
ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก จากเดิมที่อัตราค่าจ้างแรงงานพื้นฐานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6%-9% ต่อยอดขาย แต่ตามข้อกำหนดใหม่ ธุรกิจค้าปลีกจะมีค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 2% บวกกับเงินสมทบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น 10.0% และเงินกองทุนทดแทนที่เพิ่มขึ้นอีก 1.83% รวมอัตราการเพิ่มขึ้นถึง 11.83%
ซึ่งจะส่งผลให้อัตราค่าจ้างพนักงานพื้นฐานใหม่กลายเป็น 7.09 %-10.64% ต่อยอดขาย หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.68%-2.25% ของยอดขาย นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการจะต้องมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 8.61-13.33% เพื่อที่จะมีกำไรไปจ่ายค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้น (ขึ้นกับอัตรากำไรของแต่ละธุรกิจ)
ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงจำนวนพนักงานปัจจุบัน พนักงานพาร์ทไทม์ พนักงาน Outsource แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย และพนักงาน Sub Contract อื่นๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10%-15% ของพนักงานประจำทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะทำเรื่องเจรจาขอปรับเพิ่มค่าแรงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับองค์กรธุรกิจต่างๆ อาจมีความแตกต่างกันไปตามพื้นฐานของแต่ละบริษัท โดยธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานเกินอัตราขั้นต่ำที่กำหนดไว้ อาจยังไม่ได้รับผลกระทบในระยะแรก แต่ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากที่สุด เพราะจะมีผลต่อการอยู่รอดของธุรกิจ เนื่องจากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ การขาดเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะขาดเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 18% ต่อปี
ภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ
ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ ผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรงกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในภาคการค้าและบริการ ที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจร้านอาหาร ที่ส่วนใหญ่จะจ่ายค่าจ้างโดยอ้างอิงกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลัก ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องออกมาตรการระยะสั้นในการช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียนแก่ธุรกิจเหล่านี้
ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ เนื่องด้วยทางเลือกที่ค่อนข้างจำกัดในการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงาน หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานทั้งหมดไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า ก็อาจช่วยบรรเทาภาระต้นทุนบางส่วนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา