การเติบโตของ Sharing Economy นั้นเป็นไปอย่างก้าวกระโดดในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นคือญึ่ปุ่นที่บริการเช่าห้องพัก, เช่าจักรยาน รวมถึงเช่ารถยนต์เกิดขึ้นเต็มไปหมด และร้านสะดวกซื้อ Lawson ก็พยายามเกาะกระแสนี้ไว้
เปิดด้วยบริการรับฝากกุญแจก่อน
หลายๆ บริการในแนวคิด Sharing Economy นั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่มีสินค้า หรือบริการอยู่กับตัวเอง ก็สามารถแบ่งปันให้ผู้ที่อยากจะใช้สิ่งเหล่านั้น แถมยังได้รับการตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่คุ้มค่า แต่การเชื่อมต่อผู้ให้ กับผู้ใช้บริการนั้นไม่ง่ายเลย เพราะสุดท้ายก็เกิดความไม่สะดวกขึ้นเมื่อต้องมานัดเจอกันเพื่อแลกเปลี่ยน
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคือบริการเช่าห้องพักระยะสั้นของ Airbnb ที่สามารถเช่าห้องพักได้ผ่านระบบ Online แต่เวลาจะได้กุญแจก็ต้องมานัดเจอกันอยู่ดี ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงเกิดธุรกิจตู้รับฝากกุญแจขึ้น หนึ่งในผู้เล่นนั้นคือ Keycafe จากแคนาดาที่ให้บริการดังกล่าวกว่า 500 แห่งใน 8 ประเทศ
ซึ่งญึ่ปุ่นก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยทางบริษัทได้ร่วมมือกับร้านสะดวกซื้อ Lawson เพื่อติดตั้งตู้ดังกล่าวที่เปิดให้เจ้าของห้อง, รถยนต์ หรืออื่นๆ นำกุญแจมาฝากไว้ในตู้ ส่วนผู้ใช้บริการก็เพียงมาเปิดตู้เพื่อหยิบออกไปใช้งาน แต่เพื่อความปลอดภัย การจะหยิบกุญแจแต่ละครั้งก็ต้องมีรหัสลับที่ส่งผ่านอีเมลจากระบบไปให้ผู้เปิดตู้
ส่วนเจ้าของกุญแจก็จะได้รับอีเมลแจ้งเตือนเมื่อมีการเปิดตู้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เจ้าของกุญแจสามารถตั้งเวลาในการเปิดตู้ หรือเปลี่ยนรหัสได้ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยอีกชั้นหนึ่ง สำหรับค่าบริการเหมาจ่ายอยู่ที่ 1,980 เยน/เดือน (ราว 570 บาท) และหากเป็นครั้งคราว คิดค่าบริการ 690 เยน/ครั้ง (ราว 200 บาท)
ซึ่งร้านสะดวกซื้อ Lawson จะนำตู้นี้ไปติดตั้งในสาขาที่ห้างสรรพสินค้า Ginza Six กลางกรุงโตเกียวก่อน และภายในปี 2561 มีแผนขยายไปอีก 100 แห่งในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เพราะมีนักท่องเที่ยวใช้บริการในลักษณะ Sharing Economy มากขึ้น แต่ยังเน้นที่กรุงโตเกียว, โอซาก้า และนาโกย่าเป็นหลัก
สรุป
ในญี่ปุ่น Sharing Economy เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น เช่นร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่นั่นก็เพิ่งร่วมกับ SoftBank เพื่อให้บริการ Bike Sharing ที่มีรถจักรยานกว่า 5,000 คัน ผ่านการกระจายจุดใช้บริการให้ครบ 1,000 แห่งในปี 2561 ซึ่งเหตุที่ร้านสะดวกซื้อมารุกตลาดนี้ เพราะเปิด 24 ชม. ทำให้ใช้บริการได้ตลอดเวลานั่นเอง
อ้างอิง // Nikkei Asian Review
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา