มองเกมที่อยู่อาศัยผ่านสายตา “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กับยุคที่ Developer จะเก่งแค่สร้างไม่ได้

ถึงโลกจะหมุนเร็วขนาดไหน “ที่อยู่อาศัย” ก็ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของการดำรงชีวิต แต่ใช่ว่าผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์จะชูตัวเองว่าสร้างบ้าน หรือคอนโดฯ ได้เก่ง เพราะตอนนี้ผู้ซื้อไม่ได้มองแค่เรื่องนั้นแล้ว

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้ เฮ้าส์

สร้างเก่ง ใช่ว่าจะชนะในตลาดเสมอไป

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ หรือที่เรียกกันเท่ๆ ว่า Developer ความเชี่ยวชาญในเรื่องวิศวกรรมโยธา และสถาปัตยกรรมด้านออกแบบภายนอก-ภายใน คือเรื่องที่จำเป็นในลำดับต้นๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และสร้างแต้มต่อในการขายโครงการทั้งบ้านแนวราบ กับคอนโดมิเนียม

แต่ปัจจุบัน “ดิจิทัล” มีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคมากกว่าเดิม ทำให้ความรู้เกี่ยวกับการสร้างบ้านที่มากกว่าคู่แข่ง ไม่ได้สร้างความได้เปรียบในการจูงใจอีกต่อไป นอกจากนี้การที่ผู้พัฒนาโครงการยังติดอยู่ใน Pipeline เดิมๆ หรือต้องทำการขออนุญาต, สร้าง และต่อด้วยขายกับลูกค้าแบบตัวๆ ก็ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจอย่างมหาศาล

จึงไม่แปลกที่ตอนนี้ผู้บริโภคจะเห็นผู้พัฒนาโครงการต่างๆ เดินหน้าดิจิทัลเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อทำตลาด หรือเข้าไปสนับสนุนโครงการ Startup เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับตัวโครงการ ซึ่ง Q.House ที่มี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอยู่ ก็เดินแผนนี้แล้ว เพราะมองว่าสร้างเก่ง ไม่ได้จะชนะในตลาดเสมอ

ภาพจาก Facebook ของ Q.House

Transportation คือ Location ที่แท้จริง

“ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในวงการอสังหาริมทรัพย์จะพูดถึงเรื่องที่ดิน หรือ Location ว่ามันสำคัญที่สุด แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะก่อนที่ที่ดินจะดี มันต้องมีระบบคมนาคม หรือ Transportation เสียก่อน ดังนั้นการชนะในธุรกิจนี้ ก็ต้องมองระบบการคมนาคมที่เปลี่ยนไปให้ออกด้วย” ชัชชาติ กล่าว

โดยในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการคมนาคมมาก เพราะในปี 2570 รถไฟฟ้าจะครอบคลุมเกือบทุกส่วนของเมือง จึงไม่แปลกที่คอนโดฯ จะกระจายไปชานเมืองมากกว่าเดิม ที่สำคัญฝั่งผู้มีรายได้น้อยจะลำบากในการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้มากกว่าเดิมด้วย

อย่างไรก็ตามถึงเส้นทางหลักของขนส่งมวลชนจะดีขึ้น แต่ส่วนย่อยอย่าง Feeder หรือเส้นทางที่เชื่อมต่อจากระบบคมนาคมหลัก ไปสู่จุดหมาย เช่นบ้าน หรือสำนักงาน ยังไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นโครงการที่อาศัย Feeder น้อยที่สุด ย่อมจูงใจในการเลือกซื้อ ที่สำคัญกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ยินดีที่จะจ่ายแพงกว่า เพื่อดำรงชีวิตให้มีความสุขที่สุด

อัตราการจำหน่ายที่อยู่อาศัยแต่ละแบบในไทย

จาก Developer สู่ Platform อสังหาฯ

“เราเห็นได้ชัดว่า คมนาคมดีขึ้น ที่ดินก็ราคาสูงขึ้นทันที และกลายเป็นภาระของใครหลายๆ คน เพราะเงินเดินปรับขึ้นแค่ปีละ 3% แต่ค่าที่ในกรุงเทพเพิ่มถึง 8% ดังนั้นมันก็ตามกันยาก นอกจากนี้คนเริ่มหันมาซื้อคอนโดฯ ก่อนซื้อรถยนต์แล้ว แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนเมืองอย่างชัดเจน”

ดังนั้นตัวธุรกิจจำหน่ายที่อยู่อาศัยก็ต้องปรับ Model ธุรกิจไปอีกขั้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในการค้นหาลูกค้า ซึ่ง Q.House เองก็พัฒนาเรื่องนี้แล้ว ทั้งการยกระดับเว็บไซต์ให้สามารถค้นหาโครงการต่างๆ ได้เร็วขึ้น รวมถึงการจำลองภาพในโครงการต่างๆ มาให้เห็นทุกซอกทุกมุมบนเว็บไซต์เช่นกัน

สำหรับ Q.House ต้องการเป็น Platform เพื่อสร้างโอกาสการในด้านการเติบโต และการจะทำอย่างนี้ได้ต้องอาศัยดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลัก เพื่อหนีจากผู้ควบคุมที่บางครั้งขาดประสิทธิภาพ, ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว, เข้าใช้งานในระบบได้อย่างสะดวก และได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคอย่างทันท่วงที นอกจากควบคุมคุณภาพในการพัฒนาโครงการ

สรุป

ต้องยอมรับว่าคนมีรายได้น้อยลำบากจริงๆ และถ้ารัฐบาลยังเห็นเน้นสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแค่คนบางกลุ่ม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็คงยังอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นหากใช้นวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพจริงๆ ประโยชน์ควรจะตกถึงคนทุกกลุ่ม และต้องมองให้ไกลไปถึงระดับประเทศด้วย ไม่ใช่นั้นปัญหาก็ยังอยู่ที่ระบบเดินทางคนเดียวเหมือนเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา