ไม่ใช่ขาดความสามารถ แต่แค่ขาดแรงจูงใจ! เด็กอเมริกันทำคะแนนสอบดีขึ้น เมื่อได้รับเงิน

ผลวิจัยพบว่า เด็กอเมริกันทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น เมื่อจ่ายเงินให้ หากทำข้อสอบถูก และจะหักเงินในกรณีที่ทำข้อสอบผิด สะท้อนว่า เด็กๆ อาจไม่ได้ขาดความสามารถ แต่เพียงแค่ขาดแรงจูงใจที่เหมาะสม

Photo: Shutterstock

“เงิน” คือแรงจูงใจสำคัญ ที่ทำให้เด็กอเมริกัน ทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น

มีงานวิจัยที่ไปศึกษาการทำข้อสอบของเด็กโดยเปรียบเทียบใน 2 ประเทศคือ จีนและอเมริกา ผลปรากฏว่า นักเรียนในอเมริกาทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น เมื่อง่ายเงินให้พวกเขา

นักวิจัยแบ่งนักเรียนจีนในเซี่ยงไฮ้ และนักเรียนอเมริกัน ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นนักเรียนที่จะได้รับเงิน 25 ดอลลาร์ (ประมาณ 800 บาท) หากตอบคำถามคณิตศาสตร์ 25 ข้อถูกทั้งหมด เงื่อนไขคือหากตอบผิด 1 ข้อ เงินจะถูกหักไปครั้งละ 1 ดอลลาร์ ส่วนอีกกลุ่มทำข้อสอบแบบไม่ได้รับเงิน

ผลวิจัยพบว่า

  •  สำหรับเด็กจีน การจ่ายเงินหรือไม่จ่ายเงินไม่มีผลต่อคะแนนสอบของทั้ง 2 กลุ่ม
  •  แต่ผลที่ได้กับเด็กอเมริกันแตกต่างออกไป เพราะ “เงิน” เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กอเมริกันทำคะแนนสอบได้ดีขึ้น ผลวิจัยระบุว่า เด็กอเมริกันกลุ่มได้รับเงิน 25 ดอลลาร์ตอบคำถามได้ถูกต้องมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เงิน และทำคะแนนได้ดีกว่าค่ามาตรฐานทั่วไปเสียด้วย
  • งานวิจัยชิ้นนี้ถึงกับวิเคราะห์ไว้ว่า หากในปี 2012 มีการจ่ายเงินให้กับเด็กอเมริกันทำข้อสอบ PISA จะทำให้คะแนนสอบ PISA ของเด็กอเมริกันขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 36 เป็นอันดับที่ 19
Photo: Shutterstock

ที่ทำข้อสอบไม่ได้ ไม่ใช่ว่า ไม่มีความสามารถ แต่แค่ขาดแรงจูงใจ

งานวิจัยใหม่ๆ หลายชิ้นเห็นตรงกันว่า เด็กที่ทำข้อสอบได้ไม่ดี ไม่ใช่เพราะขาดความสามารถ แต่เพียงแค่ขาดแรงจูงใจที่เหมาะสม

แต่ทั้งนี้ แรงจูงใจก็มีหลายมิติ เงินเป็นเพียงแค่หนึ่งในแรงจูงใจเท่านั้น เพราะถ้าไปดูประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษาอย่างฟินแลนด์ จะพบว่า ปัจจัยสำคัญในการทำคะแนนสอบได้ดีของเด็กฟินแลนด์ คือความเชื่อที่ว่าการทำงานหนัก (Hard Work) จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า หรือเด็กในรัสเซียที่เชื่อว่าความโชคดีกับคอนเน็คชั่นคือปัจจัยหลักในการประสบความสำเร็จ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ข้อสอบที่ใช้ในการทดสอบวิจัยและพูดถึงในบทความนี้คือ ข้อสอบของ PISA ที่ใช้ในการทดสอบเด็กอายุ 15 ปีในหมวดการอ่าน หมวดวิทยาศาสตร์ และหมวดคณิตศาสตร์ตามมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก โดยมีกว่า 70 ประเทศที่เข้าร่วมซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

ที่มา – QUARTZ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา