จุฬาฯ เตรียมจัดผังเมืองย่านสยาม-ปทุมวันจากภาพลักษณ์ย่านการค้า การศึกษา สู่เมืองนวัตกรรม ปั้นโมเดล Siam Innovation District : SID สนับสนุนสตาร์ทอัพ
พลิกสยามสแควร์ เป็นเมืองนวัตกรรม
อย่างที่ทราบกันดีว่าที่ดินย่านสยาม ปทุมวัน ส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการเป็นผู้บริการ โดยทำเลนี้มีทั้งที่จุฬาฯ บริหารเอง และปล่อยให้เช่า เกิดธุรกิจมากมาย เป็นย่านการค้า และแหล่งเศรษฐกิจ แหล่งช้อปปิง และย่านการศึกษา เพราะมีสถาบันกวดวิชามากมาย รวบรวมกลุ่มวัยรุ่นแห่งใหญ่ของประเทศ มีทราฟิกวันละประมาณ 120,000 คน
ในปีนี้จุฬาฯ ได้โปรเจคต์ยักษ์ในการพัฒนาย่านสยามให้กลายเป็นย่านนวัตกรรมก็คือ Siam Innovation District ครอบคลุมพื้นที่ 3 ส่วนหลัก คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ และสวนหลวง-สามย่าน
เป็นแนวคิดที่ต้องการเพิ่มพื้นที่อุดมปัญญา เปิดรับบุคคลทั่วไปที่มีไอเดีย สนับสนุนสตาร์ทอัพที่ต้องการต่อยอดธุรกิจ โดยใช้พื้นที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วันเป็นศูนย์ของ Siam Innovation District ให้บุคคลทั่วไปสามารถมาดูงานได้ โครงการนี้เป็น 3 ส่วนผสมระหว่าง ภาคมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนเรื่องบุคลากร, เอกชน (ผู้ให้เงินสนับสนุน) และรัฐบาล ให้เงินลงทุน
ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงโปรเจคต์นี้ให้ฟังกว่า
“จริงๆ จุฬาฯ เริ่มมีการทำโครงการเกี่ยกวับนวัตกรรมอย่างจริงจังตอนปี 2557 แต่เฉพาะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จัดงาน Innovation Expo แต่พอทำไปทำมาก็เห็นว่านวัตกรรมต้องมีความหลากหลาย เอาหลายศาสตร์มารวมกัน จึงทำโครงการ CU Innovation Hub ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม”
จากนั้นจุฬาฯ จึงมองภาพใหญ่มากขึ้นในระดับประเทศ ไม่ได้จำกัดแค่ในมหาวิทยาลัย จึงเสนอแผนโครงการ Siam Innovation District แก่ทางภาครัฐ แล้วจึงนำพื้นที่ที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์วันที่แต่เดิมโตโยต้าเช่าอยู่ มาทำเป็นศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรม หรือ Futurium
ฟิวเจอร์เรียมตั้งอยู่ภายในอาคารสยามสแควร์วัน มีทั้งหมด 4 ชั้น นอกจากจะเป็นสำนักงานโครงการแล้ว ยังเป็นสถานที่จัดเวิร์คชอป การบรรยาย กิจกรรม นิทรรศการและที่จัดแสดงตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทย มีฐานข้อมูลด้านนวัตกรรมและ co-working space สำหรับผู้มาใช้บริการ
ทำไมจุฬาฯ ต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพ
ศาสตราจารย์ บัณฑิตมองว่าภาพใหญ่ของคนไทยคือยังเป็นฝ่ายที่ซื้อเทคโนโลยี ยังไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเองเหมือนอย่างบริษัทดังๆ ระดับโลก ทั้งๆ ที่คนไทยมีศักยภาพไม่แพ้คนต่างชาติ ซึ่งขาดแค่โอกาส และเวทีในการแสดงนวัตกรรมเพื่อต่อยอดสู่ตลาดโลก
“ในพื้นที่สยามมีบริษัทสตาร์ทอัพราว 10 บริษัท เมื่อเทียบกับต่างประเทศจะเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ประเทศจีนแค่มหาวิทยาลัยเดียวมีกว่า 2,000 บริษัทแล้ว การมีนวัตกรรมช่วยต่อยอดธุรกิจได้ และพัฒนาบ้านเมืองได้อีก”
ได้มีการจัดตั้งโครงการ 100 SID เป็นโครงการให้ทุนสำหรับพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม มีการแบ่งเป็นทุนเพื่อสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของธุรกิจใหม่ (Scale Up Fund) ทุนละ 5 ล้านบาท จำนวน 15 ทุน และทุนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจเกิดใหม่ (Seed Fund) ทุนละ 1 ล้านบาท จำนวน 25 ทุน รวมทุนทั้งสองประเภทเป็นเงิน 100 ล้านบาทสำหรับ 40 นวัตกรรม
โครงการนี้สตาร์ทอัพต้องผ่านการพิชชิ่งเหมือนกับสตาร์ทอัพทั่วไป เน้นที่ 5 หัวข้อสำคัญต่อสังคมไทย ได้แก่ นวัตกรรมเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิต (Lifestyle), นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนทางทรัพยากรอาหาร พลังงาน และน้ำ (Sustainable Development), นวัตกรรมเพื่อการสร้างสรรค์สังคมและเมืองอัจฉริยะ (Inclusive Community & Smart City), นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและวิศวกรรมหุ่นยนต์ (Digital Economy & Robotics) และนวัตกรรมเพื่อการศึกษา (Innovative Education)
แผนต่อไปของจุฬาฯ เตรียมการขยายพื้นที่นวัตกรรมไปยังโซนอื่นอย่าง สวนหลวง แต่ยังคงใช้เวลาอีกหลายปีในการก่อสร้าง อาจจะใช้ชื่อว่า Smart Intelligence Community
สรุป
- เป็นการปรับตัวของจุฬาฯ ในการบริหารจัดการที่ดิน โดยมองเห็นภาพใหญ่ของประเทศในการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่กำลังมีการเติบโต ซึ่งจุฬาฯ เองมีที่ในกำมือค่อนข้างเยอะ การเปิดศูนย์การค้าอาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะบริเวณนั้นมีศูนย์การค้าแน่น ต้องเปลี่ยนในโมเดลอื่น
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา