เมื่อตลาดในประเทศจีนกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่สุดของ Starbucks ถือเป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากที่สหรัฐอเมริกาประเทศแม่ มาดูทิศทางในปี 2018 นี้ ยังคงได้เห็นการเติบโตของจีน และเอเชียแปซิฟิกอีกแน่ พร้อมทั้งมีการพัฒนาเทคโนโลยีควบคู่อีกมากมาย
จีน-APAC ตลาดฮีโร่ของ Starbucks
ปัจจุบัน Starbucks มีสาขากว่า 27,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วคงหนีไม่พ้น “เอเชียแปซิฟิก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน และคาดการณ์จะยังคงขยายตัวมากขึ้นอีกในปีนี้ Starbucks เข้ามาบุกเบิกในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ปี 1996 เริ่มต้นที่ประเทศญี่ปุ่น หรือ 22 ปีมาแล้ว ส่วนในประเทศจีนได้ทำตลาดมา 18 ปี
เมื่อดูยอดขายในภูมิภาคนี้มีการเติบโตเพียงแค่ 7% จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Starbucks ต้องเร่งเปิดสาขาให้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมามีการเปิดสาขาใหม่ในประเทศจีนถึง 550 สาขา ทำให้มีสาขารวม 3,000 สาขา ใน 135 เมือง
แต่แนวโน้มผลกำไรในจีนต่ำลงเรื่อยๆ เพราะการแข่งขันสูง โดยเฉลี่ยแล้วมีอัตราต่ำกว่าที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งนักลงทุนของ Apriem Advisors ได้วิเคราะห์ไว้ว่า จากภาวะเรื่องผลกำไร ทำให้ Starbucks เน้นที่ร้านค้าใหม่ที่มีนวัตกรรม เครื่องดื่มใหม่ๆ และสินค้าระดับไฮเอนด์ เพื่อสร้างผลกำไรให้ดีขึ้น
อย่างเช่น เมื่อเดือนธันวาคม Starbucks ได้เริ่มนำร่องโมเดลใหม่ Starbucks Reserve Roastery ในเซี่ยงไฮ้ เป็นโมเดลที่อลังการงานสร้าง ด้วยพื้นที่กว่า 30,000 ตารางฟุต ถือเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้ รองรับกับสินค้าระดับพรีเมี่ยม ซึ่งตอนนี้ที่เซี่ยงไฮ้มีสาขามากกว่า 600 สาขาแล้ว
และเมื่อปีที่แล้ว Starbucks ได้เข้าซื้อกิจการ 2 บริษัทในจีนที่เป็นพาร์ทเนอร์ในการ joint venture เปิดร้าน ได้แก่ Uni-President Enterprises Corporation และ President Chain Store Corporation มูลค่า 1,3 000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ Starbucks เป็นเจ้าของร้านอีก 1,300 แห่งในเซี่ยงไฮ้, เจียงซู และเจ้อเจียง ยิ่งสร้างอาณาจักรในจีนให้แข็งแกร่งเข้าไปอีก
ได้มองว่าในปี 2018 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นภูมิภาคที่สร้างการเติบโตให้กับ Starbucks มากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโกลบอล มีการประเมินว่าจะมีการเปิดสาขาใหม่ 1,100 สาขา โดยอยู่ในประเทศจีน 600 สาขา ซึ่งในปัจจุบันเอเชียแปซิฟิกมีร้านค้าเกือบ 7,500 สาขา
Scott Maw CFO ของ Starbucks ได้กล่าวว่า “ในช่วงไตรมาสที่ 4 ประเทศจีน และเอเชียแปซิฟิกมีส่วนช่วยในการเติบโตสามารถทำรายได้อยู่ที่ 860 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 14% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ว่าในปีนี้จะมีการบุกหนักในโซนเอเชียมากขึ้นอย่างแน่นอน”
เทคโนโลยียังมีมากขึ้นไปอีก
ในปีนี้ยังคงได้เห็น Starbucks พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ดีขึ้น แนวโน้มของการสั่ง และจ่ายเงินผ่านมือถือก็ยังคงมาเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 13.3 ล้านราย ลงทะเบียนเข้าร่วมโปรแกรม My Starbucks Rewards หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมด โปรแกรมนี้เป็นทั้งการชำระเงิน และเป็นโปรแกรม CRM ด้วย
รวมถึงได้เปิดตัวโครงการ Digital Flywheel เป็นการใช้ AI เข้ามามีส่วนร่วม มีการเก็บข้อมูลการสั่งอาหาร และเครื่องดื่มของลูกค้า และช่วยให้ลูกค้าเลือกสินค้าได้ตามโปรไฟล์ต่างๆ มีการดูโลเคชั่น และสภาพอากาศในตอนนั้นด้วย
นักวิเคราะห์ของ Altimeter ได้กล่าวว่า “Starbucks เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดีที่สุดในโลก ในการเชื่อมโยงประสบการณ์ของแบรนด์ และผู้บริโภค ระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกแห่งความเป็นจริงได้ดี และพวกเขายังคงเดินกลยุทธ์ในการผนึกโลกดิจิทัล และโลกจริงเข้าด้วยกันอยู่ตลอด”
กระตุ้นให้จ่ายเงินง่ายขึ้น
โดยปกติแล้วโปรแกรม My Starbucks Rewards เป็นการเติมเงิน และให้ลูกค้ารักษายอดเงินเครดิต แต่ตอนนี้มีการพัฒนาใหม่เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น ด้วยการ co-branded กับบัตรบัตรเครดิตวีซ่า เป็นพาร์ทเนอร์กับ Chase Bank ลูกค้าสามารถจ่ายด้วยบัตรเครดิตได้ แถมยังได้สะสมแต้ม Starbucks Rewards ด้วย ซึ่งเป็นการใช้จ่ายที่ง่ายกว่าเดิม
สรุป
- ประเทศจีนกลายเป็นประเทศเนื้อหอมที่หลายธุรกิจต้องการไปลงทุน เพราะมีโอกาสด้วยกำลังซื้อ และด้วยตลาดที่มีขนาดใหญ่ ทิศทางการลงทุนของแบรนด์กาแฟเงือกเขียวจึงไปทางจีน และเอเชียแปซิฟิกมากขึ้น
- ภาพลักษณ์ของแบรนด์ Starbucks ในภูมิภาคนี้ยังแข็งแกร่งอยู่ เป็นภาพร้านกาแฟพรีเมี่ยม ผู้บริโภคยังคงเปิดรับ ทำให้การบุกตลาดคงไม่ใช่เรื่องยาก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา