ตลาด Gaming Gear 700 ล้านบาทยังมีโอกาส หลังกระแส E-Sport เริ่มบูมในประเทศไทย

ต้องยอมรับว่า E-Sport เริ่มเป็นที่รู้จัก และถูกยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น จึงไม่แปลกที่สินค้าเกี่ยวกับการเล่นเกมอย่าง Gaming Gear จะเติบโตอย่างชัดเจน จนล่าสุดมูลค่าในปี 2560 ปิดที่ 700 ล้านบาทไปแล้ว

Gaming Mouse ของ Razer // ภาพจาก pixabay.com

รายได้กลุ่มใหม่ที่สำคัญของผู้ค้าไอที

Gaming Gear หรืออุปกรณ์สำหรับเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นคีย์บอร์ดแบบ Mechanical, เมาส์ที่สามารถปรับความละเอียดได้เยอะ, หูฟังที่แยกเสียงรอบทิศทางได้อย่างชัดเจน รวมถึงแผ่นรองเมาส์ที่ทำให้การเคลื่อนไหวแม่นยำยิ่งขึ้น ล้วนแต่มีการเติบโตขึ้นอย่างมากในประเทศไทย

โดยถ้าอ้างอิงข้อมูลจากบริษัทวิจัย Newzoo จะพบว่า ในปี 2560 สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าตลาดรวมกันราว 700 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนอย่างมาก นั่นก็เพราะการเล่นเกมในประเทศไทยเริ่มจริงจังมากขึ้น เช่นเล่นเพื่อการแข่งขัน หรือเล่นเพื่อโชว์คนอื่น จนบางครั้งอุปกรณ์เสริมไอทีธรรมดาๆ เริ่มไม่ตอบโจทย์

และจากการเติบโตนี้เอง ร้านค้าไอทีต่างๆ เริ่มนำเข้าสินค้ากลุ่ม Gaming Gear เข้ามาจำหน่ายมากขึ้น เพราะนอกจากมีโอกาสจำหน่ายที่สูง ยังมีส่วนต่างกำไรค่อนข้างเยอะ หรือมากกว่าตัวเลขหลักเดียวที่ได้กำไรจากสินค้า Component ต่างๆ เช่น Mainboard, Ram และ Notebook จนเริ่มแข่งขันในเรื่องนี้กันมากขึ้น

เสถียร บุญมานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอลูชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด

แบรนด์ต่างประเทศยังครองตลาด 70%

อย่างไรก็ตามในตลาด Gaming Gear ของประเทศไทยยังถูกครองด้วยแบรนด์จากต่างประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Razer, Steel Series, Zowie และ Hyper X ซึ่งก่อนหน้านี้ราคาสินค้านั้นค่อนข้างสูง เช่นคีย์บอร์ดมีราคาเฉลี่ย 2,000 บาท แต่ปัจจุบันเริ่มลดราคาลงมาเพื่อขยายตลาด และตอนนี้ราคาเฉลี่ย 1,000 บาทแล้ว

เสถียร บุญมานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีโอลูชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอที มองว่า เหตุที่ราคาเฉลี่ยของ Gaming Gear เริ่มลดลงมา เพราะต้องการขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น เพราะกลุ่มผู้เล่นเกมใหม่ๆ ยังไม่ได้มีกำลังซื้อเหมือนคนที่ซื้อ Gaming Gear ในยุคแรก ดังนั้นหากยังต้องการเติบโต ก็ต้องกดราคาลงมา

“ตอนนี้แบรนด์ต่างประเทศครองตลาดไทยอยู่ราว 70% และแต่ละรายก็มีส่วนแบ่งพอๆ กัน เพราะทุกคนต่างก็มีการสนับสนุน และการจัดกิจกรรมการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์อย่างต่อเนื่อง ส่วนเหตุที่ลดราคาลงมา เช่นเมาส์ของ Razer ก็เหลือราคาเริ่มต้น 800 บาท ก็เพราะอยากกินตลาดนี้ที่มันเติบโตมากขึ้น”

ภาพจาก Flickr ของ BagoGames

โอกาสแบรนด์ไทยเริ่มมา เพราะราคาสู้ได้

ในทางกลับกัน เมื่อราคาในตลาดเริ่มถูกบังคับให้ลดลง ทำให้แบรนด์ท้องถิ่นเริ่มมีโอกาส เช่นเดียวกับแบรนด์ Neolution ของบริษัท ที่ก่อนหน้านี้วางราคาไว้ชนกับอินเทอร์แบรนด์ แต่เมื่อแข่งขันลำบาก จึงกลับมาเน้นที่สินค้าในระดับกลางล่าง เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งผู้ใช้ที่กำลังจะซื้อ Gaming Gear ตัวแรก และไม่ได้มีกำลังซื้อมากนัก

“เมื่อผู้บริโภคกลุ่มใหม่เพิ่ม มันก็เป็นโอกาสของเรา และแบรนด์ท้องถิ่นด้วย เนื่องจากตลาดนี้มันจะโตด้วยกลุ่มกลางล่าง ยิ่งเศรษฐกิจไทยมันอาจไม่ดีเหมือนเมื่อก่อนด้วย ดังนั้นผู้ผลิต, ผู้นำเข้า รวมถึงผู้ขาย ก็ต้องดิ้นรนเพื่อทำสินค้าออกมาให้ตอบโจทย์ และขายในตลาด รวมถึงมีกำไรมากกว่า”

สำหรับ Neolution เอง ปัจจุบันมีสินค้าแบรนด์ตัวเองชื่อ Neolution E-Sport มียอดจำหน่ายเกือบ 10% ของมูลค่าตลาดนี้ในปีก่อน และมีการนำเข้าสินค้าแบรนด์ Hyper X จากต่างประเทศ โดยถ้ารวมยอดขาย 2 แบรนด์จะคิดเป็นราว 17-18% ของมูลค่าตลาด

สรุป

เชื่อว่าตลาด Gaming Gear ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะตลาดเกม และกระแส E-Sport นั้นเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งนักกีฬาไทยโด่งดังมากเท่าไร โอกาสที่คนเล่นเกมหน้าใหม่จะหันมาใช้อุปกรณ์ตัวนี้ จากเดิมที่ใช้เมาส์คีย์บอร์ดธรรมดา ดังนั้นปีนี้น่าจะมีแบรนด์ต่างประเทศเข้ามารุกตลาดในประเทศไทยมากขึ้นแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา