การปรับตัว, เป้าหมายของ AIS และสิ่งที่น่าห่วงในโทรคมไทย ของ CEO สมชัย เลิศสุทธิวงศ์

ช่วงที่ผ่านมา “สมชัย เลิศสุทธิวงศ์” CEO ของ AIS พี่ใหญ่วงการโทรคมนาคมประเทศไทย อาจจะถอยไปเน้นงานบริหารเป็นหลัก และปล่อยให้ทีมผู้บริหารคนอื่นๆ ออกมาลุยหน้าฉากมากขึ้น แต่มุมมองและแนวคิด ยังคงน่าสนใจอยู่เช่นเดิม

Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยแบบเป็นกันเอง ถึงการปรับตัวสู่ Digital Service Provider และสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบในวงการต่อการพัฒนาประเทศ

ครึ่งทางการเปลี่ยนแปลงของ AIS

สมชัย บอกว่า AIS ได้แถลงถึงการเปลี่ยนแปลง หรือการ Transform สู่ Digital Service Provider มาประมาณ 2 ปีแล้ว ตอนนี้ถือว่าเดินมาครึ่งทาง ทุกอย่างอาจไม่ได้รวดเร็วอย่างที่คิดไว้ เพราะเป็นสิ่งใหม่ที่ AIS เลือกจะเปลี่ยนในวันที่ธุรกิจยังคงแข็งแกร่งมากกว่าจะปล่อยให้สถานการณ์บังคับ แต่ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย และท้าทายพนักงานทุกคน

สำหรับโมเดลการเปลี่ยนองค์กร มี 2 วิธีหลัก คือ 1. การแยกองค์กรใหม่ออกไปเพื่อทดสอบทดลองสิ่งใหม่ๆ ในไทยมีหลายบริษัทเลือกวิธีนี้ แต่คนในองค์กรเดิมอาจจะไม่มีความรู้สึกร่วม แต่ทำได้ทันที ขณะที่วิธีที่ 2. การเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร ซึ่งเป็นทางที่ยากกว่า และ AIS เลือกวิธีนี้

“การเปลี่ยนแปลงภายในต้องทำความเข้าใจ เปลี่ยนแนวคิด วัฒนธรรมองค์กรใหม่ทั้งหมด ซึ่งยากมาก แต่ AIS เห็นว่านี่คือแนวทางที่จะมุ่งไป และใช้การพูดคุยกันบ่อยๆ ซึ่งถึงวันนี้มาได้ครึ่งทางแล้ว”

พัฒนา 5 แพลตฟอร์ม พร้อมขยาย Fix Broadband

ในมุมมองทางธุรกิจ การเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป AIS จึงพัฒนาสู่ Digital Service Provider และขยายบริการโครงข่ายใหม่คือ Fix Broadband หรือ AIS Fibre ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้า 5 แสนราย และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านในปีนี้

นั่นคือ AIS จะต้องยกระดับตัวเองขึ้นเป็นผู้ให้บริการ Fix Broadband รายใหญ่ภายใน 3 ปีจากนี้ เทียบเท่ากับ True และ 3BB ที่มีผู้ใช้บริการเจ้าละ 2-3 ล้านราย

อีกส่วนหนึ่งคือ การพัฒนา ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อรองรับกรเป็น Digital Service Provider ใน 5 ส่วนหลัก

  1. VDO Platform ซึ่งปัจจุบันให้บริการร่วมกับพันธมิตร เช่น HBO, Netflix, VIU และจะมีมาเพิ่มอีกเร็วๆ นี้ พร้อมกับสร้าง Local Content Platform เพื่อให้ผู้พัฒนาคอนเทนต์ในประเทศใช้งาน ลดการพึ่งพิงกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ ซึ่ง AIS มีผู้ใช้ 40 ล้านราย ถือเป็นโอกาสอย่างดี
  2. Mobile Money Platform หรือ mPay ซึ่งให้บริการมา 12 ปี ทำกำไรให้บริษัทได้ด้วย ซึ่งแนวทางต่อไป mPay จะร่วมมือกับธนาคาร เช่น การให้บริการ Personal Loan ซึ่งไม่ใช่จุดแข็งของธนาคาร และ AIS มีฐานข้อมูลลูกค้าชัดเจน สามารถวิเคราะห์เครดิตสกอร์ได้
  3. Cloud Platform สร้าง Data Center ทั่วประเทศให้บริการลูกค้าธุรกิจ รวมถึงการผนวก CS Loxinfo เข้ามาทำให้สามารถให้บริการได้ดียิ่งขึ้น
  4. IoT Platform หรือ M2M ติดตั้งซิมการ์ดในทุกอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถทำงานเชื่อมต่อกับโครงข่ายได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น
  5. Partner Platform ทำงานร่วมกับ Partner ข้ามอุตสาหกรรม โดยใช้ Data Analytics เพื่อนำเสนอบริการให้ตรงกับความต้องการ เช่น ธุรกิจประกันภัย

สมชัย บอกว่า ทิศทางของ AIS ชัดเจนคือ ต้องการเป็นพี่ใหญ่ที่สร้าง ecosystem ที่พันธมิตรจากทุกอุตสาหกรรมสามารถเข้ามาร่วมมือและเติบโตไปพร้อมกัน จึงกลายเป็น 5 Digital Platform ที่จะสร้างรายได้ในอนาคต

“จากเดิม AIS ลงทุนแสนล้านสร้างบริการ Voice และ Data สามารถอยู่ได้ 10 ปี แต่ปัจจุบันลงทุนแสนล้าน อยู่ได้มากที่สุดแค่ 5 ปี แปลว่าบริการแบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป”

อุตสาหกรรมน่าห่วง ต้นทุนสูงขึ้นมหาศาล

ปีนี้จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 ซึ่งจากร่างหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศออกมา ราคาเริ่มต้นการประมูลกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ปัญหาที่จะตามมาคือ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นมหาศาลแบบไม่สมเหตุสมผล และไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศแน่นอน

ปัจจุบัน AIS มีคลื่นความถี่ในมือ 900, 1800 และ 2100MHz รวมแล้วขนาด 55 MHz ซึ่งถือว่าเพียงพอกับการใช้งาน ไม่ต้องได้คลื่นความถี่เพิ่มแล้วก็ได้ และมีภาระที่ต้องชำระค่าใบอนุญาตให้กับ กสทช. แสนล้านบาท ซึ่งไม่ใช่อุปสรรคเลย เพราะ AIS มีกำไรจากการให้บริการปีละประมาณ 3 หมื่นล้านบาท สามารถจ่ายชำระได้แน่นอน แต่คำถามคือ เป็นผลดีกับอุตสาหกรรมหรือไม่ เทียบกับสิงคโปร์ ที่ประเทศเล็กกว่าไทยหลายเท่า แต่ผู้ให้บริการมีคลื่นความถี่ในมือขนาด 100MHz เพื่อให้บริการ

“กสทช. ต้องพิจารณาว่า อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุด จากการประมูลครั้งที่ผ่านมาชัดว่า ไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่แน่นอน ซึ่งการมี 3 รายตอนนี้ แข่งขันกันเต็มที่ ผู้ใช้บริการพึงพอใจ คุณภาพบริการดี เป็นสภาพอุตสาหกรรมที่ดีแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรทบทวนเงื่อนไขการประมูลครั้งใหม่ และปรับฐานให้ผู้ให้บริการ 3 ราย คือ AIS dtac และ True มีต้นทุนที่ใกล้เคียงกันที่สุด”

สรุป

สมชัย CEO แห่ง AIS ตอกย้ำจุดยืนชัดเจนคือ AIS จะเน้นการสร้างพันธมิตรเพื่อขยายบริการในทุกๆ Digital Platform เพราะเชื่อว่า การเติบโตไปด้วยกัน จะสร้างบริการที่มีคุณภาพและรายได้ที่ยั่งยืน มากกว่าการรวมทำทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว และนี่เพิ่งเดินมาได้ครึ่งทางของการ Transform เท่านั้น อีกครึ่งที่เหลือจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ต้องติดตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา