แม้ Instagram หรือ IG ยังไม่ใช่เครื่องมือการตลาดยอดนิยมเท่าไหร่นัก แต่พฤติกรรมผู้ใช้มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จากฟีเจอร์ใหม่ๆ ทำให้ปีนี้ IG น่าจะมีสีสันขึ้น จับตาดู 6 เทรนด์ที่นักการตลาดไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด
ได้เห็นกูรูออกมาฟันธงดิจิทัล เทรนด์หลายสำนัก รวมถึงเจาะเทรนด์ของโซเชียลมีเดียแต่ละตัวด้วย ถึงคราวของ Instagram โซเชียลมีเดียสำหรับแชร์ภาพที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 800 ล้านคนทั่วโลก
ในปีนี้ “พอล เว็บสเตอร์” หัวหน้าฝ่ายพัฒนาและสร้างสรรค์แบรนด์อินสตาแกรม ภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก (Facebook) ได้เผยข้อมูลของ Instagram และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 เพื่อเป็นแนวทางแก่นักการตลาดในการวางแผนสื่อโฆษณาต่อไปได้ โดยได้สรุปเป็น 6 ข้อด้วยกัน
-
ร้านค้าบนโลกโซเชียล
ใน IG ได้มีคาแร็กเตอร์บางอย่างที่ทำให้ผู้บริโภคมักเข้ามาค้นหาทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร และเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ โดยติดตามจาก Location และแฮชแท็ก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่แบรนด์ต้องทำการสื่อสารกับเขาผ่านช่องทาง IG ได้แล้ว โดยผลสำรวจบอกว่า 62% ของกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลบอกว่า หากแบรนด์ติดต่อกับพวกเขาผ่านโซเชียลมีเดีย ก็จะเพิ่มโอกาสในการเป็นลูกค้าประจำที่จงรักภักดีต่อแบรนด์นั้นได้ (อ้างอิง Zenith Media กรกฎาคม 2560)
ในปี 2018 นี้ จากการที่แบรนด์ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสื่อสาร จะกลายเป็นร้านค้ามากขึ้น และจะช่วยกระตุ้นยอดขายผ่านช่องทางโซเชียลได้เป็นอย่างดี ตลอดปีที่ผ่านมาในสหรัฐฯ IG ได้ทดลองฟีเจอร์ Shopping ซึ่งช่วยให้การซื้อสินค้าภายในแอพพลิเคชั่นเป็นเรื่องง่ายขึ้น และได้ขยายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นในปีนี้
-
วิดีโอยังมาแรง แต่แบรนด์ควรใช้ Stories มากขึ้น
มีการคาดการณ์ว่าในปี 2019 ที่จะถึงนี้ 72% ของยอดการชมวิดีโอออนไลน์ทั้งหมดจะเกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งช่วยสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับแบรนด์ต่างๆ ในการครีเอตคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ เพื่อสร้างประสบการณ์ในการชมวิดีโอแบบใหม่ๆ จะช่วยดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น
โดยที่ภายใน IG มีฟีเจอร์ Stories ที่มีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นวิดีโอแบบชั่วคราวจะอยู่เพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของแบรนด์ที่จะหันมาใช้ฟีเจอร์นี้เพื่อสร้างสีสัน และความแตกต่าง ออกจากคอนเทนต์รูปแบบเดิมๆ ทำให้การทำคอนเทนต์มีอิสระ และมีความคิดสร้างสรรค์ ผู้บริโภคไม่เบื่อ
-
แค่แชท ก็ปิดการขายได้แล้ว
นอกเหนือจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคของการใช้สมาร์ทโฟนแล้ว พฤติกรรมของผู้บริโภคยังเปลี่ยนจากการโทรศัพท์พูดคุยกัน เป็นการส่งข้อความ หรือการแชทหากันมากขึ้น เพราะเป็นการสื่อสารที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด (เพราะเสียแค่ค่าดาต้า) ซึ่งในทางธุรกิจนั้น 64% ของผู้คนก็เริ่มใช้ช่องทางในการแชท ส่งข้อความเพื่อพูดคุยกับแบรนด์ หรือร้านค้า แทนการโทรศัพท์ หรืออีเมลแล้ว มีการคาดการณ์ว่าจำนวนนี้จะเติบโตขึ้นในปีนี้ และจะเห็นการซื้อขายผ่านการส่งข้อความมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
-
ธุรกิจเล็กก็แจ้งเกิดได้บนโลกโซเชียล
ในอดีตนั้นการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดระดับโลก กลายเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับแบรนด์ใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะด้วยงบการลงทุน หรืออำนาจในการลงสื่อมีมากกว่า แต่เมื่อโซเชียลมีเดียมีบทบาทมากขึ้น ทำให้การตลาดไม่ได้จำกัดแค่แบรนด์ใหญ่ แต่แบรนด์เล็กก็สามารถแจ้งเกิด และเติบโตในระดับโลกได้เช่นกัน แค่มีการบริหาร จัดการเครื่องมือให้ดี สื่อสารตรงกับกลุ่มเป้าหมาย
-
การเติบโตของ Niche Market
ในโลกของโซเชียลมีเดีย ผู้คนจากทั่วโลกได้เชื่อมต่อกันผ่านการแชร์ความสนใจ และความชอบที่คล้ายกัน เห็นได้ชัดใน IG ทีเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ที่มีความสนใจเฉพาะอยู่จำนวนมาก ซึ่งแปลว่ามีกลุ่มผู้ชมที่มีส่วนร่วมสูง มีคุณค่า และสามารถเข้าถึงได้ง่าย สำหรับแบรนด์ใดก็ตาม เป็นโอกาสในการเจาะกลุ่ม Niche Market ตามความสนใจของแต่ละกลุ่ม โดยเลือกการสื่อสารผ่านคอมมูนิตี้ต่างๆ
-
ประเมินคุณค่าของคอนเทนต์ที่มีมากกว่ายอดไลค์
เครื่องมือวัดผลที่นักการตลาดเห็นเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุดคือ “ยอดไลค์” รวมถึงการคอมเมนต์ต่างๆ ในคอนเทนต์นั้น เป็นตัววัดความประสบความสำเร็จในโลกโซเชียล แต่สิ่งที่แบรนด์จะได้นอกเหนือจากยอดไลค์ ยังมีเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นการวัดผลที่มีความหมายที่แท้จริง การที่แบรนด์ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ลึกยิ่งขึ้น ได้เรียนรู้พฤติกรรมและความเป็นมาของกลุ่มเป้าหมาย สามารถสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจในเวลาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายในที่สุด
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา