เจาะแนวคิด Digital Ventures Accelerator องค์กรควรทำอย่างไรเพื่อสนับสนุน Startup

dv

กระแส Startup ในบ้านเราได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม และเริ่มมีการเสนอมุมมองที่แตกต่าง ว่า Startup ไม่ได้ประสบความสำเร็จง่ายๆ อย่างที่คิด และอาจจะพบกับความล้มเหลวได้ง่ายๆ ถ้าขาดปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญต่างๆ หนึ่งในนั้นคือการสนับสนุนที่เรียกว่า Accelerator หรือศูนย์บ่มเพาะเพื่อให้ Startup แปรสภาพเป็น ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีรายได้อย่างแท้จริง

Accelerator ที่ชัดเจนในไทย มีประมาณ 3-4 ราย เช่น dtac accelerate, True Incube, Krungsri RISE และ Founder Institute ซึ่งก็แตกต่างกันไปในแต่ละแห่ง รวมถึง Digital Ventures Accelerator หรือ DVA ที่กำลังเปิดรับสมัครถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่ง Brand Inside ได้นั่งจับเข่าคุยกับ ชาล เจริญพันธ์ – Head of Accelerator ที่กำลังมุ่งมั่นกับ DVA แบบสุดๆ ได้มาเล่าให้ฟังถึงมุมมองในการทำ Accelerator ได้อย่างน่าสนใจ

charl

สร้าง Innovation ลงทุนใน “คน” เพื่ออนาคตธุรกิจ

ชาลบอกว่า การทำ Accelerator ก็เหมือนกับการทำ Innovation Center คือการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเพื่อแก้ไขปัญหาเดิมๆ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และข้อดีอย่างยิ่งของ Accelerator คือ เป็นการลงทุนใน “คน” ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด

ดังนั้นจงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB และตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อ DV ขึ้นมา และลงทุนกับ “คน” เพื่อให้เกิดธุรกิจและบริการใหม่ๆ ในตลาด

สำหรับ DVA จะวางตำแหน่งให้แตกต่างจาก Accelerator ที่มีในตลาด โดยจะเน้นใน Stage สำหรับ Startup ที่มี 3 ส่วนต่อไปนี้

  1. เป็น Startup ที่ Base ในไทย (จะเป็นคนต่างประเทศก็ได้)
  2. มีสินค้าหรือบริการที่เป็นรูปร่างแล้ว
  3. เป็นสินค้าและบริการที่ขยายตลาดระดับ Regional หรือ Global ได้

13872850_1089864977767619_6307817834698566603_n

สนับสนุนการสร้าง Accelerator ให้มากขึ้น

DVA อยู่ระหว่างการรับสมัครและคัดเลือก Startup ที่สนใจเข้าร่วมโครงการของ DVA โดยจะเปิดรับประมาณ 10 ทีม แบ่งเป็นกลุ่ม FinTech ประมาณครึ่งหนึ่ง และเปิดสำหรับ Startup อื่นๆ อีกครึ่งหนึ่ง เพราะเชื่อว่า สุดท้ายความหลากหลายในโครงการ จะช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้มากกว่าการจำกัดแค่ FinTech เพียงอย่างเดียว และยังสร้างการแข่งขันให้เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งกว่าเดิม รวมถึงเชื่อว่าทุกๆ Startup สุดท้ายต้องมีเรื่องการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม DV ต้องการสนับสนุนให้องค์กรขนาดใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม ก้าวออกมาทำโครงการ Accelerator ซึ่งเป็นการสร้าง Ecosystem ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมโดยรวม เช่น dtac accelerator และ True Incube ที่เปิดรับเพียงปีละ batch เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอในการปั้น Startup ใหม่ๆ

“Startup ที่เป็นกลุ่มคุณภาพจริงๆ มีโอกาสเติบโตเป็นธุรกิจที่มีรายได้ชัดเจน มีไม่เกิน 200 รายในประเทศไทย จากทั้งหมดประมาณ 2,500 รายที่เคยมีการสำรวจคร่าวๆ แต่มีโครงการ Accelerator ที่รองรับประมาณ 20-30 ทีมต่อปี ถือว่าน้อยเกินไป”

14053881_1099463520141098_7782263360269599066_o

DVA ขยายทำ Accelerator ปีละ 2 หน เพิ่มโอกาส Startup

เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับ Startup ในตลาดมากขึ้น DVA นอกจากจะสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ หันมาทำโครงการ Accelerator แล้ว ยังเปิด DVA ปีละ 2 batch โดยใช้เวลา batch ละ 6 เดือน ซึ่งข้อดีของการที่ Corporate อย่าง SCB มาทำ Accelerator จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับ Startup ที่เข้าโครงการ ขณะที่ SCB เองก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จาก Startup

ที่สำคัญคือ DVA ไม่เร่งให้ Startup ต้องทำ Pitch เพราะรู้ว่า FinTech หรือ Startup บางราย อาจต้องการเวลาเป็นปี เพื่อให้พร้อมสำหรับการ Pitch จริงๆ อยากให้ Focus ที่ Product เป็นหลักให้มากที่สุด ดังนั้น แม้จะเข้าโครงการใน batch1 แต่อาจจะไป Pitch ที่ batch2 ก็ได้ ถ้า Startup ที่พัฒนาจนมีบริการที่ดี มีรายได้ มีลูกค้าแล้ว การ Pitch จะมีภาษีดีกว่า มีโอกาสเลือก VC มากกว่า

ชาล บอกว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ตลาดประเทศไทย และภูมิภาคนี้ใหญ่พอ ที่จะสร้างให้ Startup ไทย ไปถึงระดับ Unicorn ได้ แต่ต้องอาศัยให้ Corporate ช่วยกันผลักดัน สร้างให้เกิดการใช้งานโดยคนไทย เป็นการ Fight back กับ Startup ต่างประเทศที่เข้ามา ซึ่งทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ ชอบตลาดไทยมาก และส่ง Startup เข้ามาทำตลาดเพียบ

13938169_1099463510141099_1347653236672053894_o

ข้อแนะนำ “สิ่งที่ไม่ควรทำ” สำหรับ องค์กรที่สนใจทำ Accelerator

ชาล บอกว่า การจะเริ่มทำ Accelerator ต้องมองประโยชน์ที่จะให้กับ Startup เป็นหลัก เป็นเหมือนการลงทุน ส่วนองค์กรจะได้อะไรเป็นเรื่องของอนาคตในระยะยาว ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ควรมีคือ Domain Expert ในอุตสาหกรรมนั้นๆ และ ความเข้าใจใน Entrepreneurship ดังนั้น สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ

  1. อย่าให้คนใน Corporate มาทำ Accelerator เพราะ Startup ต้องการคนที่เข้าใจ ต้องการอิสระออกนอกกรอบ นี่คือเหตุผลที่ SCB จึงตั้ง DV ขึ้นมาดูแล และใช้คนนอกสายธนาคารเป็นหลัก
  2. อย่าทำเพื่อสร้างบริการแบบ Exclusive การ lock ให้ Startup อยู่กับองค์กรที่ทำ Accelerator จะเป็นการจำกัดการเติบโต และทำให้ Startup ตายในที่สุด ดังนั้นต้องเป็น non Exclusive แต่ใช้วิธีสร้าง Loyalty ให้เกิดขึ้นเอง
  3. อย่าทำเพื่อหวังข่าว PR ถ้าองค์กรที่ทำ หวังเพื่อให้เกิดข่าวว่า มีการสนับสนุน Accelerator ให้กับ Startup แบบนั้นรับรองว่าไปไม่รอด เพราะ Startup ต้องการเวลา ต้อง Focus กับ Product มากกว่าเรื่อง VC
  4. อย่ารีบมอง ROI อย่างที่บอกแล้วว่า การทำ Accelerator คือการลงทุนในระยะยาว ต้องให้ความช่วยเหลือ Startup จริงๆ และ Startup อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจนกว่าจะหา Core Business เจอ

13938040_1099463516807765_186353573176103040_o

สร้าง Startup Community ช่วยกันลุยตลาดโลก

การทำงานที่ DVA เริ่มต้นด้วยทีมงานหลัก 2 คน แต่มีเป้าหมายชัดเจนเหมือนกันว่า ต้องการสร้างให้ไทยมี Accelerator ระดับแนวหน้าของภูมิภาค และมี Community ที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มี Alumni Network และทุกคนมีเป้าหมายเหมือนกันคือ ผลักดันให้ Startup ไทยไปลุยตลาดโลก

สนใจสมัครเข้าโครงการ DVA คลิกที่นี่เลย http://www.dv.co.th/

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา