ทุกวันนี้องค์กรขนาดใหญ่เริ่มนำแนวคิด hackathon (มาจากคำว่า hack + marathon) หรือการจัดงานแข่งแฮ็ก (ในที่นี้หมายถึงพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ได้แปลว่าเจาะระบบ) เพื่อเปิดให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในองค์กรกันมากขึ้น
รูปแบบของงาน hackathon มักเป็นการจัดงานเขียนโปรแกรมระยะสั้น 1-2 วัน โดยผู้เข้าแข่งขันซึ่งอาจเป็นได้ทั้งคนในหรือคนนอกองค์กร จะได้รับโจทย์ที่ท้าทายให้ทำซอฟต์แวร์มาแก้ไขปัญหา สิ่งที่ผู้แข่งขันต้องทำคือหาไอเดียที่ฉีกแนว และร่วมทีมกันสร้างซอฟต์แวร์ต้นแบบขึ้นมาเพื่อสาธิตว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นไปได้จริง งาน hackathon มักจบลงด้วยการนำเสนอผลงานของแต่ละทีม และตัดสินหาผู้ชนะเพื่อรับรางวัลตามที่ประกาศไว้
ผลลัพธ์ของงาน hackathon ที่สร้างเสร็จภายใน 24-48 ชั่วโมง อาจยังดูดิบๆ และใช้งานงานจริงไม่ได้ในทันที แต่ประโยชน์ของ hackathon กลับเป็นเรื่องการกระตุ้นให้เกิดการทดลองไอเดียใหม่ๆ ที่หลากหลาย (จากผู้เข้าแข่งขันหลายๆ ทีม) และองค์กรสามารถนำไอเดียไปต่อยอดเป็นผลงานจริงได้ในภายหลัง
ในกรณีที่ผู้เข้าแข่งขันเป็นบุคคลจากนอกองค์กร ก็ถือเป็นเวทีที่ดีในงานหายอดฝีมือเข้ามาทำงาน (ผลงานเข้าตาก็จ้างเลย) หรือจะอยู่ในรูปการลงทุนแลกกับหุ้นของสตาร์ตอัพก็ได้เช่นกัน
ที่ผ่านมา หน่วยงานที่จัด hackathon มักอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นหลัก โดยมุ่งเป้าการจัดงานเพื่อกระตุ้นพนักงานของตัวเอง หรือหาดาวเด่นนอกบริษัทมาทำงานด้วย แต่ช่วงหลัง ความนิยมของ hackathon ก็เริ่มแพร่หลายไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น เช่น การเงิน สุขภาพ การเกษตร ฯลฯ
หน่วยงานล่าสุดที่หันมาจัด Hackathon กับเขาด้วย ซึ่งหลายคนคงคาดไม่ถึงว่าจะทำอะไรแบบนี้ คือลีกบาสเก็ตบอล NBA ของสหรัฐอเมริกา แต่จริงๆ แล้ว NBA เป็นลีกกีฬาที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลสถิติของผู้เล่นอย่างมาก
งาน NBA Basketball Analytics Hackathon กำหนดโจทย์ให้ผู้เข้าร่วมสร้างเครื่องมือวิเคราะห์สถิติของบาสเก็ตบอลในแง่มุมต่างๆ ที่สนใจ การแข่งขันจัดขึ้นที่นิวยอร์กเป็นเวลา 1 วัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของลีก NBA และทีมบาสเก็ตบอลต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ส่วนผู้เข้าแข่งขันจำกัดเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้น ทั้งระดับปริญญาตรี-โท-เอก
รางวัลของการแข่ง NBA Hackathon อาจไม่เยอะนักในแง่ตัวเงิน (ที่หนึ่งได้บัตรของขวัญ 400 ดอลลาร์ซื้อสินค้าในร้านของ NBA) แต่ถ้าเป็นแฟนบาสเก็ตบอลแล้ว ก็มีโอกาสได้กระทบไหล่คนดังในโลกบาสเก็ตบอล ได้ร่วมทานอาหารกับเจ้าหน้าที่ของ NBA และตั๋วชมการแข่งขันฟรีสำหรับทีมใดๆ ก็ได้ที่ต้องการ
ตัวอย่างการขยับตัวของ NBA ถือว่าน่าสนใจมาก เพราะลีกกีฬาที่ดูเป็นองค์กรที่ไม่ยุ่งกับไอทีมากนัก กลับบุกเข้ามาหาทรัพยากรด้านไอทีเข้าร่วมทีม เพื่อพัฒนาระบบการวิเคราะห์สถิติของตัวเองให้ดีขึ้น
กรณีนี้คงเป็นกรณีศึกษาให้กับหน่วยงานทั่วโลกว่าควรหันมาสนใจจัด hackathon เพื่อสร้างนวัตกรรมภายในหน่วยงานกันมากขึ้น เพราะประโยคว่า “ขนาด NBA ยังจัดเลย” น่าจะแสดงให้เห็นความสำคัญของการปรับตัวให้ก้าวทันโลกเทคโนโลยี
ข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้จาก NBA Hackathon และ Computerworld
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา