พูดคุยกับ “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” กับบทบาทใหม่ในการเปิดบริษัทเป็นของตัวเองครั้งแรกกับ “แก่น 555” ลุยงานอีเวนต์แบบเต็มรูปแบบ พร้อมกับโรดแมปสู่ความฝันที่อยากสร้างเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่แบบ Glastonbury สักครั้งในชีวิต ไม่เกิน 2 ปี คงได้เห็นกัน!
อยากทำ World Event จะมาเป็นลูกจ้างไม่ได้!
หลายคนรู้จัก “ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม” ในฐานะเจ้าพ่อเด็กแนว หรือเจ้าพ่องานดนตรี เจ้าพ่องานคอนเสิร์ต ซึ่งมีหลายคำที่นิยามให้กับผู้ชายคนนี้ ถ้าย้อนความตั้งแต่แรกเริ่มนั้น ป๋าเต็ดได้อยู่ในวงการดนตรีมา 30 ปี ทำอีเวนท์มาเยอะแยะมากมาย งานเป็นที่รู้จักตั้งแต่งาน Hotwave Music Award งาน Fat Festival และทำ Big Mountain Music Festival มา 8 ปีแล้ว แต่พอ Fat Radio ได้ปิดตัวลงก็ได้เป็น Strategic Partner กับทางแกรมมี่อยู่
จนถึงตอนนี้ป๋าเต็ดได้มีบทบาทใหม่ กับการออกมาเปิดบริษัทเป็นของตนเองแล้วเรียบร้อยกับ “บริษัท แก่น 555 จำกัด” เป็นการร่วมทุนกับบริษัท คูล เอเยนซี่ จำกัด เป็นบริษัทจัดอีเวนท์ มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท มีสัดส่วนการถือหุ้นเป็น คูล เอเยนซี่ 55% และทีมป๋าเต็ด 45% วางจุดยืนให้เป็น Event Promoter จัดอีเวนท์ทุกสิ่งอย่าง เน้นที่งานดนตรีเป็นหลัก ตอนนี้มีทีมงาน 12 คน
อีเวนท์แรกของแก่น 555 ได้ประเดิมด้วยงาน Khaoyai Countdown เป็นงานเคาท์ดาวน์วันปีใหม่ที่เขาใหญ่ วันที่ 30-31 ธันวาคม 2560
ป๋าเต็ดได้เปิดเผยที่มาของบริษัทใหม่นี้ว่า “ส่วนตัวรู้จักผู้บริหารคูล เอเยนซี่มานาน ได้ร่วมงานกันมาบ้าง แต่พบว่ามีความฝันเดียวกันคืออยากทำ World Event ระดับโลกในไทย และถ้าอยากทำเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ขนาดนี้จะเป็นลูกจ้างอย่างเดิมไม่ได้ ต้องทำเอง จึงเปิดบริษัทแก่น 555 เป็นของตัวเองครั้งแรก”
สาเหตุที่ชื่อ “แก่น” เพราะตอนที่ป๋าเต็ดทำงานอยู่แกรมมี่ ได้ก่อตั้งแผนก “เกเร” ขึ้นมา แต่ไม่สามารถเอาชื่อเกเรมาใช้ได้อีก เลยเห็นคำว่าแก่นมีความหมายได้ 2 อย่าง คือ แก่นแก้ว ซุกซน และแก่นสาร มีประโยชน์
ใฝ่ฝันทำเทศกาลดนตรีแบบ Glastonbury
จากที่เห็นป๋าเต็ดทำเทศกาลดนตรีมาตลอด โดยงานที่สร้างชื่อ และเป็นที่รู้จักมาที่สุดคงจะเป็นงาน Big Mountain Music Festival ที่จัดติดต่อกัน 8 ปีแล้ว มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นคน แต่ความฝันของป๋าเต็ดต้องการมีเทศกาลดนตรีระดับยักษ์ที่มีคนร่วมงานเรือนแสน และดึงดูดนักท่องเที่ยวมาให้ได้ มี Glastonbury ประเทศอังกฤษเป็นโรลโมเดลสำคัญ
“ผมมีแรงบันดาลใจจากงาน Woodstock เป็นเทศกาลดนตรีในยุคบุปผาชน และงาน Glastonbury ที่ประเทศอังกฤษ จุดเด่นที่ชอบคือมีดนตรีทุกแนว ผมไม่อยากให้งานของผมมีแค่ดนตรีแนวใดแนวเดียวเท่านั้น ต้องให้งานอยู่อย่างยั่งยืนได้ตลอด ไม่ว่ากระแสโลกจะเคลื่อนไปทางไหนงานนี้ก็ยังไปได้อยู่ทุกปี มีทุกแนวให้คนดูมาเลือกเอง”
การจัดเทศกาลดนตรีในตอนนี้ คู่แข่งไม่ใช่งานในประเทศไทย เพราะตอนนี้คนไทยสามารถบินไปต่างประเทศดูงานอื่นๆ ได้สบายอย่าง Summer Sonic หรือ Tomorrowland เลยต้องจัดงานที่ดึงคนจากต่างประเทศมาให้ได้
แต่ถ้าเป็นงานแบบไทยๆ ป๋าเต็ดยกให้ Full Moon Party เป็น World Event ในประเทศไทยที่คนทั่วโลกนึกถึง ความสำคัญคือมีความออแกนิกเป็นธรรมชาติที่ชาวบ้านเป็นเหมือนเจ้าของงาน ไม่ต้องทำเวทีใหญ่ แต่สามารถทำให้คนสนุกกับงานได้
“ตอนนี้งาน Big Mountain เป็นเหมือนการซ้อมใหญ่สู่การทำงานในฝันในอนาคตที่ต้องการ ซึ่ง Big Mountain จะเน้นกลุ่มคนฟังเพลงไทยเป็นหลัก แต่งานต่อไปนั้นเราจะพูดถึงชาวโลกในระดับที่ใหญ่ขึ้น ไลน์อัพศิลปินต้องเป็นคนทั่วโลกรู้จัก อีกหนึ่งความฝันของบริษัทผมก็คือปีนึงทำแค่งานเดียว แต่พเพียงอที่จะไม่ต้องทำงานอื่นๆ ทั้งปี เป็นบริษัทขี้เกียจ ทำตูมเดียว เหมือนกับบริษัท กรังปรีซ์ที่จัดงานมอเตอร์โชว์ แต่เป็นงานใหญ่ มีรายได้เลี้ยงได้ทั้งปี”
ความฝันของป๋าเต็ดกับเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่จะมาในอีก 2 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน เพราะเป็นช่วงที่บริษัท คูล เอเยนซี่ พาร์ทเนอร์ของแก่น 555 จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนในการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งป๋าเต็ดมองว่าการที่จะจัดงานใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้งบลงทุนมหาศาลราวๆ 600 ล้านบาท แต่เมื่อคูล เอเยนซี่เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ก็จะช่วยสานฝันให้เร็วขึ้น
โดยที่มองว่ารายได้จากเทศกาลดนตรีจะต้องมาจากค่าบัตร 70% และค่าสปอนเซอร์ 30% แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิดเรื่องค่าบัตร เพราะจากผลสำรวจเรื่องค่าบัตรคอนเสิร์ตในไทยที่คนยอมจ่ายเฉลี่ย 1,500 บาท เป็นราคาในระดับแมส และเป็นผลสำรวจที่เท่ากันมา 10 ปีแล้ว ส่วนระดับอื่นๆ ก็คือราคาบัตรระดับรากหญ้า เฉลี่ย150 บาท+เครื่องดื่ม และเทศกาลดนตรี EDM 2,000 บาทขึ้นไป
ส่วนเรื่องข่าวลือที่ประเทศไทยอาจจะมีการจัดงาน Tomorrowland นั้น ป๋าเต็ดก็เป็นส่วนหนึ่งในทีมงานที่ทำรีเสิจในการจัดงาน โดยมองว่าเป็นเรื่องดีต่ออุตสาหกรรม พบว่าในไทยมีโอกาสในการจัด เพราะเขาเลือกแค่ทวีปละประเทศเท่านั้น ในเอเชียก็เลือกที่เดียว เขาจะดูความเป็นไปได้ทางธุรกิจ โปรดักชั่นต่างๆ
EDM เริ่มเฟ้อ แต่ Dance Music Never Die!
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาพบว่ามีเทศกาลดนตรีแนว EDM เกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีสาวกที่พร้อมจะทุ่มเงินเพื่อร่วมงาน แต่ก็พบว่าในปีนี้กระแสเริ่มเบาบางลงอย่างเห็นได้ชัด ในมุมมองป๋าเต็ดมองว่าเริ่มเฟ้อแล้ว!
“เทศกาลดนตรีมีทั้งเฟ้อ และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน อย่างหนึ่งของคนไทยคือเห็นอะไรที่ประสบความสำเร็จมากๆ ก็จะทำตามๆ กัน อย่างเทศกาลดนตรี EDM ในช่วงหนึ่งที่นิยมกันหนัก ก็จัดกันถี่มากบางสัปดาห์มีจัดถึง 3 งาน แต่ตอนนี้พบว่ามันเริ่มเฟ้อแล้วเพราะคนทำเยอะ บางงานมีดีเจใหม่ๆ เข้ามาก็ไม่ได้ตื่นเต้นแล้ว แรกๆ สปอนเซอร์เตรียมจ่ายทันที แต่หลังๆ สปอนเซอร์ก็จะเริ่มถามว่าต่างจากครั้งที่แล้วอย่างไร มีการคิดมากขึ้น คนดูก็เริ่มคิดมากขึ้น มีการคำนวนค่าบัตรว่าคุ้มค่าหรือไม่”
แต่งาน EDM ได้ช่วยสร้างตลาดให้งานเทศกาลดนตรีมีราคามากขึ้น เพราะงาน EDM มีบัตรที่ค่อนข้างแพง 2,000 บาทขึ้นไป ช่วยยกมาตรฐานให้เทศกาลดนตรีมากขึ้น
สุดท้ายป๋าเต็ดได้มองว่า แนวเพลงอย่าง EDM อาจจะอยู่ได้ไม่นาน แต่ Dance Music ไม่ตาย เหมือน Rock & Roll มันไม่ตาย แค่เปลี่ยนชื่อเรียก และแนวดนตรี ต่อไปหมอลำอาจจะมาก็ได้
สำหรับปีหน้าแก่น 555 จะมีอีก 3 อีเวนท์ให้เห็นอย่างแน่นอน โดยตั้งเป้ารายได้รวม 150 ล้านบาท
สรุป
- หลังจากที่ทำเทศกาลดนตรีมาทั้งชีวิต ก็เริ่มทำตามความฝันอย่างจริงจังด้วยการเปิดบริษัทตัวเอง เป็นการทำร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่มีความฝันเดียวกันในการสร้าง World Event และความฝันใกล้ความเป็นจริงเมื่อบริษัทของพาร์ทเนอร์จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุน
- ตลาดเทศกาลดนตรีในไทยยังมีโอกาสอีกมาก เพียงแค่พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และจับตามต้องการของผู้บริโภคให้ทันอยู่ตลอด
ภาพจากเฟซบุ๊ก Yuthana Boonorm , Glastonbury Festival (official)
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา