“สตาร์ทอัพผัดเป็ด” เพจเรื่องราวเผ็ดๆ ของพลพรรคเป็ด ที่อยากเตือนสติคนทำ Tech Startup

duckup1

ท่ามกลางกระแส Startup ที่กำลังถาโถมอยู่ในเวลานี้ มีกลุ่มคนจำนวนไม่มากนักที่จะออกมายืนท้าลมฝน แล้วบอกว่า Startup มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดนะ และภาพที่เห็นในอุตสาหกรรมก็ไม่ได้ดีอย่างที่เห็นกัน หนึ่งในนั้นคือ พลพรรคเป็ด จาก Facebook Page “สตาร์ทอัพผัดเป็ด” ที่หยิบเรื่องเล่า แรงๆ กวนๆ แต่จี้ใจดำได้ดีนักแล

Brand Inside เคยนำเสนอเรื่องราวของ Startup ในอินเดียล้มเหลวไปเกือบพันบริษัทใน 2 ปี เพื่อเตือนสติคนที่อยากทำ Startup และครั้งนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพจ สตาร์ทอัพผัดเป็ด กลุ่มคนที่เป็น Startup มา 7 ปี มีหนี้เกือบ 60 ล้านบาท ก่อนจะพลิกกลับมาทำกำไร และมีลูกค้าไปทั่วโลก ทำไมถึงมาเขียนเพจเพื่อเตือนสติคนทำ Tech Startup ได้อย่างแสบสันและน่าสนใจขนาดนี้

13669702_644205079080863_1409254159064422423_n

ทำไมต้องเป็นเป็ด

ตอนแรกคิดว่าจะตั้งชื่อ Startup Fuckup แต่คำมันหยาบไป เลยเปลี่ยนจาก Fuck เป็น Duck ซึ่งก็เหมาะสมดีกับตอนช่วงแรกๆ ที่พวกเรา Founder ก็ต้องทำทุกอย่างเหมือนเป็นเป็ด ทั้งหาลูกค้า, เขียนคู่มือ, ทำโบรชัวร์, ตรวจสัญญา นานๆ ทีมีโดดลงมาช่วยโปรแกรมมิ่งด้วย

13502061_628016627366375_7664301882667470868_n

คิดว่ากระแส startup เป็นอย่างไร เกินจริงไปหรือไม่

สำหรับ Tech Startup ส่วนตัวคิดว่าเกินจริงในแง่ reality เพราะว่ากระแส Tech Startup ในไทยนั้นมีมาตั้งห้าถึงหกปีแล้ว แต่ทุกวันนี้ทั้ง Accelerator หรือ Tech Startup ยังใช้ตัววัดอย่าง Valuation หรือ User Base ทั้งๆ ที่ธุรกิจที่ยั่งยืนแล้ว มันต้องวัดกันด้วย Bottom line, Profit และ Revenue

ตัวอย่างเช่น TechSauce (http://www.slideshare.net/techsauce/thai-tech-startup-ecosystem-report-2016) ว่าด้วยเรื่องการลงทุนใน Startup ไทยนะครับ ถ้าดูข้อมูลบริษัท Tech Startup ที่มีประวัติการ Raise Fund ในช่วงระหว่างปี 2011-2016 จะเห็นว่ามีบริษัทอยู่ในนั้นประมาณ 44 บริษัท แต่เมื่อดูข้อมูลผลประกอบการที่ Startup ทั้งหลายส่งให้กับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า** พบว่า 33 บริษัท ใน 44 บริษัทดังกล่าว มีผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันหลายปี และมี 4 บริษัทไม่เคยส่งงบการเงิน

โดยหากนับตัวเลขรายได้ของ 44 บริษัท อยู่ที่ 800 ล้านบาทนับว่าขนาด Segment ยังไม่ใหญ่ โดยมี 2 บริษัทที่รายได้เกิน 100 ล้านบาท และมีบริษัทเดียวที่รายได้เกิน 200 ล้านบาท และถ้านับตัวเลขขาดทุนรวมทั้งหมดที่มีการรายงานอยู่ที่ประมาณ 433 ล้านบาท และมีบริษัทเดียวที่รายงานว่ามีกำไร

ถ้าพูดถึงวงการ Startup ในต่างประเทศหรือใน Sillicon Valley ที่มี Hype เยอะ แต่ว่า Tech Startup ที่นั่นมีกำไรจริงเป็นกอบเป็นกำ สำหรับในไทยเราคงต้องดูตัวเลขผลประกอบการปี 2016 กันอีกที เราจะมานั่งพูดถึง Unicorn, Centaur มันอาจจะเร็วไป

**ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้านะครับ

13466293_625229984311706_8682118988009172885_n

คิดว่าจุดอ่อนของ Tech Startup บ้านเราคืออะไร

บริษัทที่เราทำยังนำมาเขียนได้เป็นสิบตอน แต่ถ้าให้มองจุดอ่อนใหญ่ๆ มาเขียนสัก 3 ข้อ + แถมอีก 2 ข้อ

ประการแรกคือทำ Product หรือ Software เพื่อตอบสนองอีโก้ตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจไม่ใช่สิ่งที่ตลาดต้องการ หรือถ้าต้องการก็พร้อมจ่ายด้วยราคาถูกกว่าที่ Developer คิด สุดท้ายก็ไม่สามารถสร้างกำไรได้ แล้วบริษัทก็กลายเป็นซอมบี้หรือล้มหายตายจากไป

ประการที่สอง คือไม่โฟกัสกับการดำเนินธุรกิจ คือไม่เอาการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งแรกที่คิดเมื่อตื่นนอน ยิ่งเดี๋ยวนี้สิ่งล่อใจมันมีเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเวทีแข่งขันหรือชื่อเสียงที่ได้จากการเป็นคนดังในวงการ มีคนเยอะแยะที่ได้รับรางวัลลงจากเวทีมายังไม่ถึงปีบริษัทก็เจ๊งไป

ประการที่สาม คือวินัยในการใช้เงิน อันนี้บริษัทของเราเจอกับตัวเองคือจัด Priority การใช้เงินไม่ถูกต้อง คิดดูว่าการใช้เงินล้านนึงตกแต่งออฟฟิศมันง่ายมากเมื่อเทียบกับการหารายได้ล้านนึงมาเข้าบริษัท ดังนั้นเราควรต้องโฟกัสที่การหารายได้ก่อน ยิ่งถ้าบริษัทเรายังไม่กำไรก็ยิ่งต้องคิดให้ถี่ถ้วน จากประสบการณ์พวกผม เงินที่ได้มาให้ลองวางแผนดูว่าจะอยู่ได้กี่เดือน จากนั้นให้หารสองครับ เงินนี่หมดเร็วมากจริงๆ

จุดอ่อนอีกอย่างที่เคยเจอในหมู่คนทำ Tech Startup คือตัดสินใจลุยทั้งที่ได้เงินมาน้อย บาง Tech Startup ไปแข่งขัน Raise Fund มาจากบริษัทที่บอกว่าตัวเองสนับสนุน Startup พอแข่งชนะก็ไปยืนยิ้มแฉ่งให้ทีม Marketing หรือ PR ของบริษัทนั้นถ่ายรูปตอนรับเช็คสองแสนบาทไปลงสื่อ โดยหารู้ไม่ว่าสองแสนเนี่ยจ่ายเงินเดือน Programmer สักสามคนเป็นเวลาสามเดือนก็หมดแล้ว จะไปพอกับการตั้งธุรกิจได้ยังไง

ถ้าจะเสริมอีกเรื่องก็คงเป็นเรื่องที่บุคลากรไทยยังขาดทั้งฝีมือและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะความรู้ภาษาอังกฤษเนี่ย มันเหมือนเราปิดตัวเองจากแหล่งความรู้หลายๆ แขนงไปเลย แถมยังทำให้เราขยายตลาดไปต่างประเทศได้ยาก เพราะสื่อสารกับต่างประเทศลำบาก

13438883_633840123450692_9102128377142417616_n

ฟองสบู่ Tech Startup จะแตกรึเปล่า ถ้าแตกจะเป็นอย่างไร

ต้องถามกลับว่าถ้าแตกแล้วจะมีใครเอามาทำข่าวด้วยไหม เพราะช่วงนี้กระแสมาในทางสนับสนุนเยอะ ที่จริงตอนนี้อาจมีบริษัท Tech Startup ที่ตั้งช่วงปี 2012-2013 เริ่มล้มแล้วแต่เราไม่เห็นในข่าวก็ได้ ผมเชื่อว่าในสักปีสองปีเราคงได้เห็นข่าว Tech Startup ชื่อดังล้มสักเจ้าแหละเพราะแนวโน้มตัวเลขใน Segment นี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและยังไม่มีใครพูดได้เต็มปากว่ามีโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืน

แต่ขนาดอุตสาหกรรม Tech Startup ในไทยยังเล็กอยู่ ฟองสบู่ถึงแตกก็คงเป๊าะแป๊ะไม่กระทบอุตสาหกรรมอื่นครับ ผลกระทบด้านคนว่างงานอาจจะน่าห่วงกว่าเพราะพนักงานคงต้องออกมาหางานใหม่กัน ส่วน Founder ไม่ต้องห่วงเขานัก เพราะส่วนใหญ่มาจากชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง ทางบ้านมีฐานะอยู่แล้ว ฉะนั้นล้มไปเขาไม่เจ็บตัว หรือ Founder บางคนอาจจะรวยตั้งแต่ตอนปั่น Valuation เพื่อ Raise Fund แล้วก็ได้

และผมเชื่อว่าถึงฟองสบู่แตกไป สักพักก็จะมีคนทำ Startup ใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่ครับ ธรรมชาติธุรกิจมันควรเป็นงั้นนะ แล้ว Segment Tech Startup นี้มันก็มีแนวโน้มใหญ่ขึ้น

13516196_628361810665190_6558171791590682311_n

Startup ที่จะอยู่รอด ต้องเป็นอย่างไร

ฟาร์มเป็ดเองก็เพิ่งรอดมา ไม่กล้าบอกหรอกครับว่ามีสูตรสำเร็จเพื่อให้อยู่รอด เนื่องจาก Startup ในแต่ละ Segment ก็มีคำจำกัดความว่ารอด หรือสำเร็จต่างกัน จากประสบการณ์ ทางรอดมันก็ไม่ต่างจากการรันธุรกิจอื่นๆ แค่ต้องใช้ความเข้าใจในเทคโนโลยีตะวันตกที่สูงขึ้น ขยับตามตลาดเร็วขึ้น และมีรูปแบบการทำงานที่แบนขึ้นเท่านั้นเอง

หนึ่งคือ มีทีมที่ส่งเสริมกันจริงๆ มีคนโฟกัสทุ่มเทกับการผลักดัน Product ทั้งในด้านการพัฒนา ทั้งในด้านความกล้าลงมาเกลือกกลั้วกับลูกค้าเพื่อจะเข้าใจความต้องการของเขาจริงๆ กล้าขัดกับ Founder ด้วยกันหรือกระทั่ง VC เพื่ออนาคตของ Product

สองคือ มีความชัดเจนเรื่องการสร้างรายได้ มีวินัยในการใช้เงิน ถึงตอนนี้จะตัวแดงอยู่ก็ต้องมีเป้าหมายตลอดว่าต้องเริ่มทำกำไรให้ได้ปีไหน เพราะธุรกิจรันแบบติดลบตลอดไม่ได้ สำคัญอีกอย่างคือการคงกระแสเงินสด อันนี้สำคัญมาก ถ้าเงินสดขาดมือเราจะจ่ายคนในออฟฟิศไม่ได้ถึงมีตัวเลขบัญชีดียังไงเราก็ต้องกู้เงิน หรือเอา Funding มาใช้

สามคือ ไม่หลอกตัวเอง ต่อให้เรารัก Product หรือเชื่อใน Product แค่ไหน ถ้ามันทำเงินไม่ได้ เราก็ต้องปล่อยวางมันและเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทัน

สุดท้ายคือ ใส่ใจกับการขยายฐานลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ เพราะจากประสบการณ์ ตลาดไทยมันพอให้เราอยู่ได้ แต่ถ้าจะสร้างกำไรให้หนาต้องมีตลาดต่างประเทศมาช่วยครับ

Startup จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีอะไรบ้าง

ไว้ฟาร์มเป็ดรายได้เกิน 100 ล้าน กำไรงามๆ  กว่านี้ค่อยมาถามใหม่นะครับ ตอนนี้ไม่ริอาจตอบ เพราะเรามองว่าตัวเองยังสำเร็จไม่พอ

13901506_650883565079681_2566641264237480660_n

เปิดเพจต้องการสื่อถึงอะไร หรือต้องการแซะใครหรือเปล่า

มีหลายสาเหตุครับ แรกสุดคือเรารอดมาถึงตรงนี้ ก็ตระหนักดีว่าไม่มี Product ไหนอยู่ยงคงกระพัน ทุกอย่างมีอายุทั้งนั้น ก็เลยคิดจะเอากำไรที่ได้มาลงทุนใน Product ใหม่ๆ

ทีนี้พอเหมือนวงจรมันต้องหมุนใหม่อีกแล้ว เป็ดเลยรวบรวมประวัติศาสตร์ของการทำ Tech Startup มาเขียนเพื่อเตือนตัวเองว่าเราได้บทเรียนอะไรมาบ้าง

อย่างที่สอง คือมองว่าคนในวงการนี้ยังไม่ค่อยมีใครมาเล่าเรื่องแย่ๆ ที่เจอ หรือเอาความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์สักเท่าไหร่ ซึ่งเรามองว่าถ้าเล่าความผิดพลาดของเราไปแล้ว มี Tech Startup ที่ก้าวพลาดน้อยลงไปสักบริษัทก็ยังดี เพราะช่วงที่เราเจอมาช่วงบริษัทร่อแร่มันแย่มากสำหรับเรา ไม่อยากให้ใครต้องมาเจอเรื่องเหมือนๆ กันอีก จริงๆ คืออยากให้คนที่ทำแล้วพลาดออกมาแบ่งปันประสบการณ์กันมากกว่านี้นะเพราะตอนนี้ในกระแสมันมีด้านเดียว

ที่อยากแซะก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งด้วย เพราะพูดตามตรงสภาพวงการ Tech Startup ปัจจุบันมันเป็นการสร้างภาพสวยงามกันเยอะมาก ทั้งที่ถ้าล้มเหลว ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายมันก็มีผลลัพธ์เลวร้ายเหมือนคนล้มละลายในธุรกิจอื่น แล้วยังมีการสนับสนุนผิดๆ ว่าการ Raise Fund คือรายได้ ให้มองว่า User Base หรือ Valuation คือมาตรวัดความสำเร็จอีก ซึ่งเราเคยเจ็บเพราะเชื่อแบบนั้นมาแล้วก็เลยอยากเบรคสักหน่อย

วงการนี้มันไม่ได้ใสสะอาดอย่างที่คนเขาเชื่อกันครับ เราเคยโดนโกงมาหลายรูปแบบจาก Tech Startup ด้วยกันบ้าง บริษัทใหญ่บ้าง แล้วทุกวันนี้พอ Tech Startup เริ่มเป็นกระแสมันก็มีคนอยากเกาะกระแส หาประโยชน์จากคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้าสู่วงการ Tech Startup เป็นธรรมดา เราถือว่าเตือนได้ก็เตือน

13512161_631632323671472_3672755016291699357_n

เล่าเรื่องราว ฟักอัพ และไม่ฟักอัพ ของการทำ Tech Startup

อันนี้ก็เยอะครับ เล่าวันนี้คงไม่หมด ไปตามอ่านในเพจดีกว่า (อ้าว) ขอสรุปบางเรื่องของฟาร์มเป็ดให้แทนละกัน

เราเป็น Tech Startup รุ่นแรกๆ ของไทย ก้าวพลาดหลายอย่างจนเป็นหนี้เยอะมากเกือบหกสิบล้านบาท ขาดทุนสะสมก็สามสิบจะสี่สิบล้านบาท แต่ Founder ก็กัดฟันช่วยกันพลิกกลับมาได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องขอบคุณลูกค้าที่เคารพและ VC ที่ยังให้โอกาสด้วยเหมือนกัน

เราเคยโดนดูถูกว่าแกก็แค่ของคนไทย (วันนี้ก็ยังมีคนดูถูกอยู่) แต่วันนี้แทบทุกทวีปมี Software ของเรารันทั้งอยู่ในบริษัทเล็กๆ และบริษัทที่ใหญ่ระดับโลก

บริษัทเราเคยเดิมพันด้วยการให้ Founder แต่ละคนแยกกันไปสร้าง Product ของตัวเอง กะว่าถ้าล้มก็พินาศหมด แต่ถ้าทำทุก Product ให้ทำเงินได้ กำไรก็จะมาเสริมกัน โชคดีที่ผลออกมาเป็นแบบนั้น หนี้ล้างได้หมดในสามปี

ทุกวันนี้เรามีรายได้ประมาณ 70 ล้าน รู้ตัวแล้วว่าคงไม่ได้เป็น Unicorn แต่เราก็พยายามอย่างมากที่จะให้บริษัทมีรายได้ 100 ล้านโดยยังรักษา Margin กำไรให้สูงอยู่ เพื่อจะได้เอากำไรนั้นไปสร้าง Product ใหม่ๆ เผื่อมันจะกลายเป็น Unicorn ครับ

23540974750_52007cd93f_z

มีมุมมืด (darkside) ในการทำ Tech Startup อย่างไรบ้าง

มุมมืดภายนอกอย่างการมีมุมมองต่อ Raise Fund, Growth หรือ Valuation แบบผิดๆ การมีปัญหาฉ้อโกงกัน มีผู้ไม่หวังดีมาเกาะกระแสนี่ผมพูดไปแล้วนะครับ ขอพูดเรื่องปัญหาของโลก Tech Startup ในส่วนที่เป็นผลกระทบต่อคน (Human Cost) บ้างละกัน

คนชอบพูดกันว่าวงการ Tech Startup ทำงานหนักจนชีวิตแย่ ผมว่าการพูดว่า “ทำงานหนัก” มันเป็นแค่การอวยตัวเองว่าเราขยัน เราเท่ห์ เราพร้อมตายเพื่อสิ่งที่เราทำ แต่เอาเข้าจริงมันมโนซะเยอะนะ ยิ่งถ้าเราเอาการทำงานหนักของเราไปเทียบกับอาชีพอื่นๆ แต่ที่ร้ายคือ Founder เอาวัฒนธรรมทำงานหนักไปกดดันให้พนักงานต้องทุ่มเทมากๆ ทั้งที่พนักงานได้รับผลตอบแทนน้อยกว่า Founder เยอะ ต่อให้ได้หุ้นก็ได้นิดๆ หน่อยๆ  ฉะนั้นผมรำคาญมากเวลาคนโฆษณาวงการ Tech Startup ด้วย Label ว่างานหนัก

Human Cost จริงๆมันอยู่ที่ Anxiety ที่เราต้องเผชิญตราบที่ยังทำ Tech Startup อยู่ต่างหาก คิดว่าคงเคยเจอกันมาทุกคนนะที่ตื่นมาตอนเช้าทุกอย่างราบรื่น แฮปปี้ดี แต่ยังกินข้าวกลางวันไม่ทันหมดก็มีอีเมลเข้ามารัวๆ ว่าเกิดวิกฤติเกี่ยวกับ Software ของเราลูกค้าขู่ว่าจะถอน Software เราออกให้หมด หรือเห็นเลขตัวแดงที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี VC ก็ฮึ่มๆ จนเรารู้สึกว่าบริษัทมันไร้ทางออก

หรือไม่ก็นั่งทำงานอยู่ดีๆ คนสำคัญมากในทีมเปรยว่าเดือนหน้าจะออก ทั้งที่เอกสาร Knowledge Transfer ก็ยังไม่ได้ทำ คนทำแทนก็ยังหาไม่ได้ มันทำเรา Paranoid ไปเลยนะว่าใครจะออกอีกไหม ออกแล้วจะทำยังไง

หรือ Startup ที่มีคู่แข่ง ก็ต้องตามข่าวบ่อยๆ ว่าคู่แข่งมีอะไรใหม่บ้าง เกิดวันนึงมีผู้เล่นใหม่ที่เปลี่ยนตลาดไปเลยแล้วเราจะอยู่ตรงไหน

ในขณะที่ทำ Tech Startup การตัดสินใจทุกอย่างของเราอาจมีความล้มเหลวรออยู่เป็นผลลัพธ์ และความล้มเหลวที่ล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลานี่แหละที่กดดันให้เราต้องทำงานหนักเพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่มาเยี่ยมเรา

Human Cost ที่เกิดจาก Anxiety, แรงกดดันจากความคาดหวังของนักลงทุนและความกลัวที่จะล้มเหลวนี่แหละครับคือปัญหาของ Tech Startup ที่แท้จริง มันทำให้คนในวงการ Tech Startup หลายคนชีวิตแย่ สุขภาพจิตพัง หนักๆ เข้าอาจทำให้คนที่เคยมีแต่พลังล้นปรี่และมองโลกแง่ดีต้อง Burnout อย่างกู่ไม่กลับไปเลยก็มี ยิ่งถ้าเห็นคนใกล้ตัวเป็นแบบนั้นเราจะรู้สึกแย่มากๆ

startup-photos
Credit Image: pexels

ประเทศไทย ยังขาดอะไรในการทำ Tech Startup บ้าง

วันนี้ Tech Startup ในไทยยังเป็นสนามให้คนจากบ้านฐานะกลางค่อนไปทางสูงมาพิสูจน์ตัวเองว่าสามารถรันธุรกิจสำเร็จได้ไม่แพ้รุ่นพ่อรุ่นแม่ แต่ถ้าจะให้ Startup มีผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่านี้  เราต้องเห็นคนที่มาจากชนชั้นกลาง หรือชั้นกลางค่อนไปทางล่างเข้ามาทำ Tech Startup ด้วย เพราะว่าคนกลุ่มนี้เป็น mass ที่จะเข้าใจ mass consumer ด้วยกันได้ ถ้า product ขาย mass ได้ ก็เอาไปขยายในตลาดที่กว้างขึ้นได้ เพิ่มปริมาณการบริโภคภายในประเทศได้อีกมหาศาล แถมยังเอาขยายไปต่างประเทศที่มีตลาดเป็นคนชั้นกลางเกิดใหม่ได้ง่าย

แต่น่าเสียดายที่การศึกษา, Infrastructure ในไทยยังไม่เอื้อต่อการสร้าง Tech Startup จากคนกลุ่มนี้เท่าไหร่ครับ

สูตรสำเร็จของคนที่บอกว่าการทำ Tech Startup ต้องล้มแล้วลุกให้เร็ว ก็คือคนกลุ่มที่ถ้าไม่ใช่เป็นครูสอนซึ่งไม่ต้องแบกความรับผิดชอบอะไร ก็มีพื้นเพมาจากคนชั้นกลางค่อนไปทางสูงหรือไม่ก็รวยไปเลย คนพวกนี้จะล้มแล้วลุกกี่รอบก็ได้ครับ แค่ Insert Coin To Continue แต่คนฐานะลำบากกว่านั้นเขามีโอกาสและช่วงเวลาในการสร้างรายได้จำกัดมากๆ ฉะนั้นถ้าเขาล้มแค่ครั้งเดียวก็จบแล้ว

นอกนั้นที่ผมว่าขาดก็คงเป็นความล้มเหลวของหลักสูตรการศึกษาของไทยในการสร้างฐานความรู้ภาษาอังกฤษและสร้างความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงส่งเสริมเสรีภาพด้านความคิดครับ เรื่องเสรีภาพหรือให้ซักถามผู้ใหญ่อย่ามองว่าเป็นเรื่องการเมืองนะ แต่เนื่องจาก Startup คนมักจะน้อย องค์กรจึงแบนมาก ทุกคนต้องถามกันได้ สงสัยกันได้ไม่ว่าเขาจะใส่หมวกอะไร ถ้าคนในทีมปฏิบัติกันอย่างเกรงกลัวผู้ใหญ่ ไม่กล้าถาม ไม่กล้าสงสัย บริษัทจะไปไม่รอดเอา

ประโยชน์อีกอย่างของเสรีภาพทางความคิดคือมันทำให้ยืดหยุ่น เปิดรับความคิดใหม่ๆได้ง่าย ถ้าวันไหนสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ Skill ใหม่ๆ  ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอนก็จะปรับตัวได้ทัน

digio

มองไปรอบๆ แล้ว startup ในบ้านเรา มีใครที่เข้าตาเป็ดบ้าง

DIGIO Thailand กับ Hiveground ครับ สาเหตุที่ชื่นชมเพราะเขาโฟกัสกับงานจริงๆ มี passion ในการ Run ธุรกิจของตัวเอง และที่สำคัญคือเข้าใจว่าเป้าหมายของ Tech Startup คือกลายร่างไปเป็น Corporate ที่สร้างกำไรได้ด้วยตัวเอง จ่ายเงินเลี้ยงพนักงานให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ และเอากำไรไปลงทุนเพื่อสร้างงานเพิ่มเป็นทอดๆ กงล้อแห่งทุนนิยมมันถึงจะหมุนต่อไปได้อย่างราบรื่น

Hiveground

คิดว่าไทยจะมี Unicorn กับเขาบ้างมั้ย

น่าจะมีได้ครับ แต่คงต้องใช้เวลาและมีอุปสรรคค่อนข้างมาก เพราะ Tech Startup ที่มีอยู่ในปัจจุบันดูท่าคงไม่มีใครกลายไปเป็น Unicorn ได้โดยไม่ปั่น  Valuation  ยิ่งถ้ามองเรื่องพื้นฐานความรู้ในเทคโนโลยีที่มันจะสร้างเป็น Unicorn ในยุคต่อไปได้อย่าง A.I., Energy, Robotics หรือ IOT ซึ่งจริงๆ IOT ก็คือความสามารถในการทำอุปกรณ์อิเล็คทอรนิกส์นั่นแหละแค่บางคนอยากเรียกแบบเท่ห์ๆ

ซึ่งประเทศไทยเรายังตามตะวันตกหลายปี โดยเฉพาะความรู้ฮาร์ดแวร์ในไทยยังล้าหลังมากๆ ครับ บริษัท Tech Startup ไทยอยากทำหุ่นยนต์ทุกวันนี้แค่เฟืองหรือมอเตอร์ยังต้องซื้อจากต่างประเทศเลย ถ้ามองแบบแง่ร้ายหน่อยต้องบอกว่าเราตามหลังจนน่ากลัว

ถ้าจะมี Unicorn ก็คงต้องเป็นสายที่ไม่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีชั้นสูงตะวันตกมากจนเกินไป ก็อาจจะเป็นสาย Fintech หรือ Agro มั้งครับ

unicorn

ให้คำแนะนำถึง startup, accelerator และ government

Startup: โฟกัสกับสิ่งที่ทำ อย่าหลอกตัวเอง อย่าลืมว่าเรากับร้านไก่ทอดริมฟุตบาทอาจจะมีจุดเริ่มต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกันคือสร้างรายได้ ทำกำไร แล้วเอามันไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ Founder เองก็รักษาความสัมพันธ์ในทีมให้ดี อย่าให้แตกกันนะครับ

Accelerator: Valuation หรือ Growth มันอาจเป็นแค่ Hype มูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากมายมันจะมีค่าได้ไงถ้าไม่มีการขายออกไปจริงๆ แล้วถามว่าถ้าคุณเล่นหุ้นในตลาดแล้วหุ้นมันขึ้น 6-7 เท่า ใครหน้าไหนมันจะไม่ขาย ความจริงคือ Startup ที่ว่าโตตู้มๆ นั้น เริ่มจากฐานรายได้ที่ต่ำมาก หรือไม่ก็คิด Valuation แปลกๆ แต่ถ้าขายจริงก็อาจจะหาคนซื้อไม่ได้ มองโลกด้วยความเป็นจริงบ้าง ไม่งั้นสุดท้ายคนเจ็บจะกลายเป็นคนที่ท่านสนับสนุนเสียเอง

ทางหนึ่งที่ Accelerator สามารถช่วย Tech Startup ได้ดีนอกจากจะจับคู่ Tech Startup กับ VC แล้ว ก็ต้องใช้ Connection ที่มีส่งเสริมให้ Corporate ในไทยและต่างประเทศหันมาใช้ Product ฝีมือ Tech Startup ไทยกันมากขึ้นครับ เพราะ Segment หนึ่งที่ Tech Startup ยังขาดในปัจจุบันคือสายผลิต Software หรือ Hardware ป้อน Corporate

อีกทางก็คงเป็นการเปิด API อำนวยความสะดวกให้ Tech Startup สามารถใช้ Infrastructure เช่นในส่วน Payment ของบริษัทใหญ่ๆ ได้ ซึ่งทาง AIS ได้เริ่มทำแล้ว เป็นความคิดที่ดีมากครับ

อยากทิ้งท้ายอีกเรื่องคือปัญหาความเครียดในหมู่คนทำ Tech Startup ที่มีค่อนข้างสูงและไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน อยากให้ accelerator ต่างๆ ยอมรับปัญหาตรงนี้กันมากขึ้นและมี support group อย่างเป็นทางการเสียที

startup thailand

Government: เอาเป็นว่าขอพนมปีกอธิษฐานละกันครับ

  1. สำคัญที่สุดคือรัฐบาลควรโฟกัสกับการวางหลักสูตรมีคุณภาพ สร้างแรงงานที่เชี่ยวชาญ ภาษาอังกฤษ ความรู้ด้าน soft skill ด้าน technology ที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพราะปัญหาที่เราเจอตอนนี้คือ คนจบใหม่ skill coding ด้าน Android, iOS ไม่ค่อยแข็งแรง แล้วไม่ค่อยยืดหยุ่นในการรับความรู้ใหม่ๆ พอมีเทคนิคการ coding ใหม่มาก็มักปรับตัวไม่ค่อยทัน เรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง
  1. อย่าให้เกิดการผูกขาดโดยบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศ เพราะพวกนี้เขาเห็นอะไรดีก็อยากยึดเป็นของตัวเอง คนสร้าง Startup ที่ทำ Product ออกมาได้ดีอาจจะผ่านไปตลาดต่างประเทศไม่ได้เพราะโดนบริษัทใหญ่ดูดไปก่อน
  1. ปรับปรุงให้การงดเว้นภาษีครอบคลุม Startup ให้ครบทุกประเภทเพราะตอนนี้ท่านมึนมากเลย เราเคยไปขอ BOI โดยบอกว่าเรามี Service บน Cloud เขาบอกว่าไม่ได้ๆๆๆ Cloud คือคุณต้องมีห้อง Server มี Server กองเป็นตั้งๆ
  1. ไม่ต้องไปตั้งกองทุน Startup หรอกแค่สนับสนุนให้บริษัทในไทยใช้ Product ของ Startup ไทยด้วยมาตรการภาษีก็เพียงพอแล้วเพื่อจะได้มี Startup สาย Corporate เกิดมากขึ้น ถ้าจะตั้งกองทุนสนับสนุน ควรเป็นเรื่องของการซื้อเทคโนโลยีชั้นสูงจากต่างประเทศมาให้บริษัทไทยศึกษาหรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปมากกว่า

 

ทั้ง Startup และไม่ใช Startup สามารถติดต่อเรื่องราวฟักอัพ และไม่ฟักอัพ ของพลพรรคเป็ด ได้ที่เพจ สตาร์ทอัพผัดเป็ด @startupduckup หรือคลิกที่นี่ได้เลย https://www.facebook.com/startupduckup

Credit Image: startupduckup

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา