เลียนแบบแบบไม่ต้องลอก พาชมร้านราเมนข้อสอบออนไลน์ในญี่ปุ่น

ราเมนข้อสอบ หรือ Ichiran ramen นั้นนับเป็นร้านที่คนไทยที่มีโอกาสไปญี่ปุ่นก็มักจะหาโอกาสแวะไปกินกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเพราะรสชาติที่ค่อนข้างถูกปากหรือมีกิมมิคในการสร้างตัวเลือกจำนวนมากให้ลูกค้าได้ปรับแต่งจนถูกรสนิยมของตัวเองได้

ประเด็นการที่ร้านราเมนในไทยนำรูปแบบร้านมาเปิดในไทยแล้วหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเป็นการเลียนแบบมาจนเกินไปคงเป็นเรื่องที่สังคมต้องถกเถียงกันต่อไปว่าการนำแนวคิดมาใช้งานในระดับใดจึงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ แต่โอกาสนี้ Brand Inside ขอนำไปดูร้านราเมนในญี่ปุ่นเองที่ใช้แนวคิดการทำ “ข้อสอบ” เช่นเดียวกันแต่ก็มีการปรับแต่งไปบ้าง

เนื่องจากชื่อร้านเป็นภาษาญี่ปุ่นอย่างเดียว ไม่เหมือนอิชิรันที่มีชื่อภาษาอังกฤษไว้ด้วยจึงขอไม่ถอดเสียงไว้ในบทความนี้ อย่างไรก็ดีร้านนี้อยู่ชั้นล่างของร้านอาหารไทย “ชาวไทย” ใกล้สถานีชิบูย่า

เมื่อเข้าร้านมา จะพบกับเครื่องขายคูปองแบบเดียวกับร้านราเมนทั่วไปในญี่ปุ่น รวมถึงอิชิรันที่ก็ต้องเจอตู้ขายคูปองก่อนเช่นกัน แต่เมื่อได้รับคูปองออกมาแล้ว ตัวคูปองจะใหญ่เป็นพิเศษและมี QR มาในตัว

จากนั้นก็เตินไปหาที่นั่งได้ตามใจชอบ ร้านนี้มีทั้งที่นั่งแบบโต๊ะธรรมดาและแบบช่องนั่งเดียวแบบเดียวกับอิชิรัน มาจนถึงตอนนี้ยังไม่เจอพนักงานเลยนอกจากที่มองเห็นอยู่ในครัว

ทุกโต๊ะจะมีแท็บเล็ตวางอยู่ สามารถกดเลือกภาษาอังกฤษได้ด้วย สิ่งแรกที่ต้องทำคือสั่งสแกน QR จากคูปอง เมื่อสแกนแล้วก็จะเข้าสู่หน้าจอ “ข้อสอบ” ที่เราคุ้นเคยกันดี ตัวเลือกในข้อสอบนั้นใกล้เคียงกับอิชิรันอย่างมาก ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญราเมนนักคงบอกไม่ได้ว่าปกติร้านราเมนอื่นๆ เปิดตัวเลือกที่ต่างออกไปจากนี้ไหม และเมื่อสั่งเสร็จเรียบร้อยแล้วก็รอราเมนได้เลย

ตัวราเมนโดยรวมๆ ผมมองว่าอยู่ในระดับกลางๆ และยังคงชอบอิชิรันมากกว่าอยู่ดี แต่การมาทานราเมนครั้งนี้ผมพบว่าได้อะไรมากกว่าราเมนอร่อย หรือได้ทดสอบกิมมิคการทำข้อสอบออนไลน์ เพราะหัวใจของระบบเหล่านี้จริงๆ แล้วคือความพยายามลดการใช้แรงงานอย่างมากของทางร้าน

ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในร้านผมเจอพนักงานเพียงครั้งเดียวคือขณะนำอาหารมาเสิร์ฟ และเมื่อเดินออกจากร้านก็มีปุ่มกดแจ้งว่าจะออกจากร้านแล้ว หลังจากนั้นพนักงานคงมาเก็บโต๊ะต่อไป ด้วยแนวทางอย่างนี้ทำให้ลูกค้าเจอพนักงานน้อยลงกว่าอิชิรัน ที่พนักงานต้องมารับข้อสอบไปในครั้งแรกเสียอีก

อุตสาหกรรมร้านอาหารของญี่ปุ่นมีความพยายามลดพนักงานมาเป็นเวลานาน ร้านราเมนเล็กๆ ก็มีเครื่องหยอดเหรียญ ทอนเงินก่อนที่ลูกค้าจะสั่งคำสั่งพิเศษกับเมนูอาหารมาเป็นเวลานาน แนวทางการสร้างแบบฟอร์มข้อสอบแบบอิชิรันทำให้ลูกค้าสามารถสั่งคำสั่งได้อย่างละเอียด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เสียเวลาพนักงานที่ต้องจดคำสั่ง และลดความผิดพลาดในการรับคำสั่งลูกค้าไปได้อย่างมาก ขณะที่ร้านราเมนข้อสอบออนไลน์เช่นนี้ลดการใช้พนักงานไปอีกขั้น เพราะพนักงานไม่ต้องเดินมารับข้อสอบตั้งแต่ทีแรก

อุตสาหกรรมร้านอาหารของไทยยังเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง พนักงานเดินรับออเดอร์จำนวนมาก และต้องมีพนักงานประจำที่แคชเชียร์จ่ายเงิน ผมเคยมองในครัวอิชิรันนั้นมี น่าจะมีพนักงานรวมคนเสิร์ฟอาหารและพ่อครัวไม่เกิน 10 คนเท่านั้น ขณะที่ที่นั่งในร้านมีประมาณ 30 ทีนั่ง และมีอัตราการหมุนเวียนลูกค้าค่อนข้างสูง ขณะที่ร้านอาหารในไทยการใช้สมาร์ตโฟนเพื่อรับออเดอร์ยังเป็นเรื่องแปลกใหม่ และจำกัดอยู่ในร้านที่มีศักยภาพสูงพอสมควรเท่านั้น เท่าที่ผมพบบ้างนอกจากเครือร้านใหญ่ๆ ตามห้างก็เช่น โจ๊กมัลลิกา ที่ให้พนักงานจดออเดอร์ทางสมาร์ตโฟนมาสักระยะแล้ว แถมมีสลิปแนบคำสั่งทุกใบเพื่อลดความผิดพลาดเวลาลูกค้าสั่งอาหารคล้ายกันแต่มีรายละเอียดต่างกันไป

อุตสาหกรรมร้านอาหารของไทยคงมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากจากร้านอาหารในญี่ปุ่นที่พัฒนากันไปไกล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา