ชวนเดินรอบเมืองเชียงใหม่ พิสูจน์ข้อเท็จจริง QR Payment แพร่หลายมากแค่ไหน

กลางเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย อนุมัติให้ 5 ธนาคารแรกเริ่มใช้งาน QR Payment หรือเรียกว่ามาตรฐาน QR ในการจ่ายเงินได้แล้ว เร็วๆ นี้ธนาคารอื่นๆ น่าจะผ่านการอนุมัติตามมาเรื่อยๆ

เวลาผ่านมายังไม่ถึงเดือน สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อจีนใช้เวลา 3 ปีทำให้เมืองหลักๆ ใช้งาน QR Payment แซงหน้าเงินสดไปแล้ว ประเทศไทยจะเดินตามทิศทางนี้ด้วยหรือไม่

ซื้อขาย อาหารในมหาวิทยาลัย

ย้อนดู 2 สัปดาห์ จุดเริ่มต้นการใช้ QR Payment

ถ้านับเวลาถึงสิ้นเดือน พ.ย. เป็นเวลา 2 สัปดาห์ที่ QR Payment เริ่มใช้อย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านั้น SCB เป็นหนึ่งในธนาคารที่ทาง ธปท. กำหนดพื้นที่สำหรับทดสอบบริการ เช่น ตลาดนัดจตุจักร, ห้างแพลตินั่ม, ตลาดสามย่าน และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากผ่านการอนุมัติให้ทำในวงกว้างได้ SCB ลุยเปิดที่หาดใหญ่ และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นไปขอนแก่น ก่อนจะวกขึ้นเชียงใหม่

อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุด Retail Productsและ Retail Payments และ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer ของ SCB เป็นผู้บริหารที่อาสาพาเดินทั่วเชียงใหม่ และบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ

ร้านมือถือก็รับ QR Payment

ทั้งแข่งขัน และกระตุ้นการใช้ให้เกิดขึ้น

ช่วงแรกเริ่มการแข่งขันจะไม่ใช่การแข่งระหว่างธนาคาร แต่เป็นการแข่งกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ต้องเปลี่ยนจากเงินสดมาเป็น QR Payment นี่คือความยาก แต่โชคดีคือ ประเทศจีนเริ่มมาก่อน Alipay และ WeChat Pay เข้ามาในไทยสักระยะแล้ว ดังนั้นจึงใช้เวลาในการบอกผู้บริโภคไม่ยากนัก แต่ต้องลงให้ลึกกว่า

ธนา บอกว่า QR Payment จะเป็นการใช้จ่ายที่เรียกว่า Micro Payment นั่นคือจ่ายตั้งแต่ 1 บาทเป็นต้นไป จะซื้อน้ำ ซื้อขนม ต้องจ่ายได้หมด มาทดแทนเงินสดอย่างแท้จริง 100% ดังนั้น SCB จึงเดินกลยุทธ์เริ่มต้นที่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งรู้จัก QR Payment จากนักท่องเที่ยวจีนอยู่แล้ว และเริ่มต้นกับมหาวิทยาลัย ที่มีนักศึกษาซึ่งพร้อมจะใช้งานเทคโนโลยีใหม่

และเพื่อตอบความไม่แน่ใจว่า เงินเข้าจริงหรือไม่ SCB จึงมี SCB Connect เป็น LINE@ ให้คนไทยที่ใช้ LINE กว่า 40 ล้านคนสามารถ Add Friend แล้วรับข้อความทันทีว่า มีเงินเข้าบัญชีแล้วหรือไม่ ไม่ต้องสมัคร SMS ไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน และต่อไปจะแจ้งชื่อคนโอนได้ด้วย เพื่อพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ จะรู้เลยว่า ลูกค้าคนไหนโอนเงินแล้ว

ทำบุญผ่าน QR Payment

ตัดวงจรเงินสด ไปที่ไหนก็ต้องเจอ QR

ความเป็น Micro Payment ต้องอยู่ในทุกที่ จะใช้หรือไม่ แล้วแต่ผู้บริโภค ดังนั้นในวัดถ้าอยากทำบุญผ่าน QR Payment ก็ต้องสามารถทำได้ อยากซื้อพวงมาลัย ก็ต้องทำได้เช่นกัน

เรียกว่า พยายามสร้าง Demand เพื่อตัดวงจรเงินสด สร้างความเคยชิน เมื่อเจอบ่อยๆ เข้า เกิดความคุ้นเคย กล้าที่จะใช้ และสุดท้ายก็จะอยากใช้งานไปเรื่อยๆ เพราะสะดวกกว่า ปลอดภัยกว่าเงินสด

แม่มณี ตลุยตลาดวโรรส

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่แรก SCB เลือกสร้างคาร์แรกเตอร์ให้กับ QR Payment เพื่อให้ง่ายกับการสื่อสาร เมื่อเดินเข้าไปในตลาดวโรรส รวมถึงตลาดอื่นๆ ในเมืองเชียงใหม่ บอกกับพ่อค้าแม่ค้าว่า นี่คือ “แม่มณี” เป็นตัวแทนการรับจ่ายเงินด้วย QR Payment ทุกอย่างก็คุยกันง่าย เข้าใจกันง่าย

“ถ้าบอกว่า QR Payment บางครั้งอธิบายกันยาก แต่พอใช้ แม่มณี ที่เป็นนางกวัก ช่วยเรียกเงิน เรียกลูกค้า และช่วยรับเงินด้วยระบบ QR Payment พ่อค้าแม่ค้าจะเข้าใจได้ในทันที”

การตลุยตลาดวโรรส ไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบขนส่งในเชียงใหม่ คือ รถแดง หรือสี่ล้อที่วิ่งไปทั่วเมือง สามารถรับจ่ายด้วย QR ได้ด้วย นี่คือการเริ่มต้นสร้างระบบให้ครบทั้ง ecosystem ต่อจากนี้ SCB จะไปลุยต่อที่ภูเก็ต และชลบุรี มหาวิทยาลัยบูรพา เมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองต่างๆ

สรุป

จุดเด่นของ SCB คือ การใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อสารกับพ่อค้าแม่ค้า การเดินลุยตลาด จัดโปรโมชั่นดึงดูดให้ร้านใช้ SCB เป็นบัญชีหลักในการเก็บเงิน สิ่งที่ได้เปรียบของ SCB คือ การมีส่วนแบ่งในตลาด SME ไม่มากนัก ดังนั้นการโกยลูกค้าที่เป็น SME และร้านค้าได้ ไม่ว่ามากหรือน้อย ก็เป็นฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้นทันที และช่วงนี้คือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระบบครั้งสำคัญ ดังนั้น SCB ลุยไม่หยุดแน่นอน

และจับตารอดูให้ดี การร่วมมือกับ The Mall Group เพื่อรับจ่ายเงินแบบ B2C การร่วมมือกับโอสถสภา เพื่อรับจ่ายเงินแบบ B2B และ การใช้ Vending Machine หรือเครื่องซื้อขายอัตโนมัติ จะเป็นอีกก้าวกระโดดสำคัญของระบบ QR Payment

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา