การส่งออก ‘แรร์เอิร์ธ’ หรือ ‘ธาตุหายาก’ จากจีนไปสหรัฐฯ พุ่งขึ้นกว่า 660% ในเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 353 ตัน หรือมากกว่าเกือบ 7 เท่าเทียบกับเดือนพฤษภาคม หลังทั้งสองยอมผ่อนปรนข้อตกลงการค้าเบื้องต้น
ย้อนไปเมื่อเดือนเมษายน จีนเริ่มออกมาตรการส่งออกแรร์เอิร์ธที่เข้มงวดขึ้น โดยกำหนดให้ต้องขอใบอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ เพราะมาตรการนี้ ทำให้หลายบริษัทต้องรอเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนกว่าจะส่งออกแรร์เอิร์ธได้
ส่งผลให้แรร์เอิร์ธขาดแคลนทั่วโลก โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในยุโรปบางแห่งต้องหยุดผลิตชั่วคราว แม้กระทั่ง ‘อีลอน มัสก์’ ซีอีโอของ Tesla ก็ยอมรับว่า โครงการหุ่นยนต์ของบริษัทก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นในเดือนมิถุนายน จีนส่งออกแรร์เอิร์ธไปทั่วโลกถึง 3,188 ตัน เพิ่มขึ้นราว 160% จากเดือนก่อนหน้า แม้จะยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 38% ก็ตาม สะท้อนว่าข้อจำกัดก่อนหน้านี้ กระทบซัพพลายเชนโลกขนาดไหน
โดยในเดือนมิถุนายน ‘เยอรมนี’ เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดของโลก อยู่ที่ 764 ตัน ตามมาด้วย ’สหรัฐฯ’ 353 ตัน อันดับ 3 ‘เวียดนาม’ ตามมาติดๆ ที่ 340 ตัน อันดับ 4 ‘เกาหลีใต้’ 280 ตัน และ ‘ไทย’ นำเข้าสูงเป็นอันดับห้า อยู่ที่ 205 ตัน
ปัจจุบัน แรร์เอิร์ธถูกใช้งานหลักๆ ในกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานสะอาดของสหรัฐฯ ซึ่งยังพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนอย่างมาก ทำให้การส่งออกน่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะตอนนี้ผู้ผลิตจีนเริ่มได้ใบอนุญาตส่งออกกันมากขึ้นแล้ว
การส่งออกที่เพิ่มขึ้นนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับที่ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ผ่อนปรนข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีกับจีน อนุญาตให้ ‘NVIDIA’ กลับมาส่งออกชิป AI รุ่น H20 ไปยังจีนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกระงับมาตั้งแต่เดือนเมษายน
สรุปคือ ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยอมลดแรงกดดันลงบ้างแล้ว
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า โลกยังพึ่งพา ‘แรร์เอิร์ธ’ จีนอย่างมาก เพราะจีนควบคุมการผลิต และการแปรรูปวัตถุดิบเหล่านี้มากกว่า 90% ของตลาดโลก และมันไม่ใช่อะไรที่จะแทนที่ได้ง่ายๆ
ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การสร้างซัพพลายเชนใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งจีน อาจต้องใช้เวลาหลายปี เพราะกระบวนการแยก และแปรรูปแร่เหล่านี้ซับซ้อนมาก และจีนเองก็พัฒนามาเป็นสิบๆ ปี
ระหว่างนี้ สหรัฐฯ ก็พยายามหาทางลดการพึ่งพาจีนสุดๆ เช่น Apple ที่จับมือกับบริษัทเหมืองแร่อย่าง ‘MP Materials’ ประกาศลงทุน 500 ล้านดอลลาร์ฯ สร้างโรงงานรีไซเคิลแรร์เอิร์ธในประเทศ หวังเพิ่มความแข็งแกร่งให้ซัพพลายเชนของตัวเอง
นักวิเคราะห์มองว่า การที่การส่งออกจีนกลับมาพุ่งแรงขนาดนี้ เป็นเครื่องย้ำว่า จีนยังมีอำนาจต่อรองในศึกวัตถุดิบเทคโนโลยีระดับโลกที่สูงมาก และสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่จีน มีต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ
- ค่ายรถยนต์ทั่วโลกแตกตื่น เมื่อจีนมีแผนคุมเข้มการส่งออก ‘แรร์เอิร์ธ’
- พบ ‘แรร์เอิร์ธ’ จากไทยส่งเข้าสหรัฐฯ จำนวนมากหลังจีนแบนการส่งออกไปสหรัฐฯ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา