โรงเรียนอนุบาลในจีนกำลังเจอวิกฤตหนัก เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลง อีก 5 ปีอาจต้องปิดตัวเกินครึ่ง

‘โรงเรียนอนุบาล’ ใน ‘จีน’ กำลังเจอวิกฤตหนักจากอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้จำนวนเด็กเล็กที่เข้าเรียน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

หนึ่งในนั้นคือ โรงเรียนอนุบาลของรัฐแห่งหนึ่งในเมืองฮาร์บิน มณฑลเฮย์หลงเจียง แต่เดิมรับเฉพาะลูกหลานข้าราชการเช้าเรียน แต่วันนี้ต้องเปิดรับเด็กจากครอบครัวทั่วไปมากขึ้น เพื่อให้โรงเรียนไปต่อได้

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่บางพื้นที่ แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ ปี 2022 จีนมีประชากรลดลงครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยมีเด็กเกิดใหม่เพียง 9.56 ล้านคน ตัวเลขนี้ลดลงอีกในปี 2023 ก่อนจะขยับขึ้นเล็กน้อยในปี 2024 เพราะเป็น ‘ปีมังกร’ ปีมงคลที่ชาวจีนเชื่อว่าเหมาะแก่การมีลูก

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังน่ากังวล ปัจจุบันจีนมีโรงเรียนอนุบาลประมาณ 253,300 แห่ง ลดลงกว่า 13% จากปี 2020 ขณะที่จำนวนนักเรียนอนุบาลก็ลดลงจากจุดพีกที่ 48.18 ล้านคน เหลือ 35.84 ล้านคนในปี 2023 หรือหายไปถึง 25.5%

‘Sunglory Education’ บริษัทวิจัยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 จำนวนเด็กในอนุบาลอาจลดลงเหลือครึ่งเดียวของปี 2020 และจำนวนโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศอาจหายไปถึง 44% จากจุดสูงสุดในปี 2021

ซึ่งโรงเรียนหลายแห่งเริ่มได้รับผลกระทบหนักแล้ว เช่นในเมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ‘Jing Yazhen’ เจ้าของและผู้ก่อตั้งเครือโรงเรียนอนุบาล ‘Zheng Yuan Jun Xing Education’ ต้องปิดโรงเรียนไปมากถึง 8 แห่ง จาก 12 แห่งในปีนี้ เพราะแบกหนี้กว่า 21 ล้านหยวน (ราว 94.34 ล้านบาท)

ส่วนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง คุณครูจากโรงเรียนอนุบาลของรัฐแห่งหนึ่งเล่าว่า โดยปกติแล้ว โรงเรียนต้องรับสมัครนักเรียนใหม่จำนวน 150 คนทุกปี เพื่อให้ให้ระบบเดินต่อได้อย่างราบรื่น แต่ปีนี้กลับมีเด็กสมัครมาเพียง 20 กว่าคนเท่านั้น สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นแบบชัดเจน และน่าตกใจ

เมื่อไม่มีเด็ก ก็ไม่จำเป็นต้องมีครู

เมื่อเด็กน้อยลง ความต้องการคุณครูก็ลดตาม คุณครูที่ยังไม่ได้บรรจุก็เสี่ยงตกงาน ส่วนคุณครูประจำอาจต้องย้าย หรือปรับบทบาท โรงเรียนหลายแห่งเริ่มให้ครูโทรหาผู้ปกครองโดยตรง เพื่อชวนมาสมัครเรียน ขณะที่ผู้บริหารก็เร่งปรับตัว เสนอรูปแบบการเรียนที่ยืดหยุ่นขึ้น และพัฒนาคุณภาพการสอนเพื่อแข่งขันแย่งเด็ก

บางโรงเรียนเลือกเปลี่ยนบทบาทใหม่ เช่น เปิดเป็นศูนย์กิจกรรมพ่อแม่ลูก หรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อใช้ทักษะของครูอนุบาลให้เกิดประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่บางแห่งเริ่มรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งตอบโจทย์พ่อแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน และมองหาคนดูแลลูกในเวลากลางวัน

ภาครัฐเองก็เร่งออกนโยบายรองรับแนวโน้มนี้ โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ร่วมกับอีก 6 หน่วยงาน ตั้งเป้าเพิ่มสถานที่ดูแลเด็กเล็ก ในราคาที่เข้าถึงได้อีก 660,000 ที่นั่งภายในสิ้นปีนี้

ที่มา: South China Morning Post

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา