ตลาดจ้างงานไทยฟื้นตัว แต่ไม่เหมือนเดิม JobsDB บอก องค์กรไทยยุคนี้เน้น ‘พาร์ทไทม์-สัญญาจ้าง’

ในวันที่เศรษฐกิจโลกยังสวิง และธุรกิจต้องเจอกับความผันผวนแทบทุกไตรมาส หลายคนเริ่มบ่นว่า “ถ้ายังมีงานก็กอดไว้แน่นๆ นะ อย่าเพิ่งรีบลาออกเชียว เพราะตอนนี้งานหายากมาก”

แต่เมื่อดูรายงานของ JobsDB by SEEK ที่ได้สำรวจผู้ประกอบการ 702 รายทั่วไทย กลับพบว่า ตลาดแรงงานไทยเริ่ม ‘ฟื้นตัว’ แล้ว มีการจ้างงานต่อเนื่อง

ทำไมผลสำรวจบอกแบบนั้น หรือมนุษย์ออฟฟิศแบบเราๆ กำลังคิดไปเอง

จ้างงานฟื้นจริง แต่โมเดล Full-time ไม่ใช่คำตอบเดียว

‘ดวงพร พรหมอ่อน’ กรรมการผู้จัดการ JobsDB by SEEK เล่าให้ฟังว่า หลังจากปี 2567 ที่หลายบริษัทต้องรัดเข็มขัด ลดคน ลดโครงสร้าง พนักงานประจำแบบเต็มเวลาโดนหนักที่สุด โดยเฉพาะงานบัญชี การตลาด ทรัพยากรบุคคล ฝั่งงานผลิต และบริการลูกค้า

แต่พอเข้าปี 2568 สัญญาณการจ้างกลับมาคึกคักกว่าเดิม เพราะกว่า 53% ขององค์กรตั้งใจจะรับคนเพิ่มในครึ่งปีแรก

สาเหตุก็คือ รูปแบบการจ้างที่เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนที่องค์กรส่วนใหญ่เน้นหาพนักงานประจำแบบเต็มเวลา (Full-time) แต่ตอนนี้ธุรกิจโดยเฉพาะองค์กรใหญ่ หันมามองกลุ่มพนักงานประจำแบบไม่เต็มเวลา (Part-time) และสัญญาจ้าง (Contract) เยอะขึ้น

สถิติในรายงานยังบอกชัดๆ ว่า บริษัทที่มีพนักงานเกิน 100 คน มีสัดส่วนพนักงานประจำ Part-time กระโดดจาก 20% เป็น 42% ในปีเดียว ส่วน Contract Part-time ก็เพิ่มจาก 19% เป็น 28%

เนื่องจากบริษัทต้องบริหารต้นทุนให้ยืดหยุ่นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนตลอดเวลา ขณะที่คนทำงานเองก็ไม่ได้มองว่า Full-time คือทางเดียวเสมอ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากจัดสมดุลชีวิต กับการหารายได้หลายทาง

ตำแหน่งงานไหนยังฮิต ตำแหน่งไหนโดนหั่น

ในปี 2567 งานธุรการและทรัพยากรบุคคล และงานบัญชี ครองตําแหน่งงานที่องค์กรไทยจ้างงานสูงสุด 2 อันดับแรก (50%) ตามมาด้วยงานขายรูปแบบองค์กรหรือพัฒนาธุรกิจ (36%) และงานบริการลูกค้า (33%) ในขณะที่งานการตลาดหรือสร้างแบรนด์ อยู่ในอันดับ 5 (29%)

ส่วนฝั่งที่กระทบมากที่สุด คือสายงานที่ใช้คนจำนวนเยอะ ซ้ำซ้อน หรือซ้อนทับบทบาทกันได้ โดยงาน 5 อันดับแรกที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่คล้ายๆ กับในปี 2566 

โดยอันดับแรก คืองานบัญชี (21%) ตามมาด้วยงานธุรการและทรัพยากรบุคคล (18%) ส่วนอันดับ 3-5 คืองานบริการลูกค้า งานการผลิต และงานขายหรือพัฒนาธุรกิจ (13% เท่ากัน)

‘ดวงพร’ อธิบายว่า ถึงแม้จะมีการลดจํานวนพนักงานลง แต่พนักงานที่ได้รับผลกระทบก็ยังสามารถหาตําแหน่งใหม่ได้ ในบริษัทอื่นๆ เนื่องมาจากการจ้างงานที่คึกคัก ตามข้อมูลจากสํานักงานสถิติแห่งชาติ อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1%

AI ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป

อีกจุดเปลี่ยนใหญ่ที่องค์กรพูดตรงกันคือ ทักษะด้าน AI เริ่มเป็นเกณฑ์พิจารณาคนทำงาน ไม่ว่าจะสมัครสายงานไหนก็ตาม เพราะตอนนี้ 65% ขององค์กรใช้ทักษะด้านนี้เป็นตัวกรองในการสัมภาษณ์ หรือดูจากพอร์ตโฟลิโอ และบางที่มีแบบทดสอบเฉพาะ

นอกจากนี้ บริษัทกว่า 34% ยังใช้ AI ในการหาแคนดิเดต ทั้งเขียนประกาศงาน คัดกรองใบสมัคร ไปจนถึงช่วยสรุปลิสต์ผู้สมัคร วิธีนี้ช่วยให้ฝ่ายบุคคลลดงานที่ทำซ้ำๆ และจัดการเวลาได้ดีขึ้น รวมทั้งทำให้คนทำงานที่มีพื้นฐานด้าน AI ดูน่าสนใจกว่าคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย

แม้ทักษะด้าน AI เริ่มถูกพูดถึงในแวดวงคนทำงานมากขึ้น และมักมีหลายคนตั้งคำถามว่า “AI จำเป็นจริงมั้ย?” แต่สำหรับ ‘ดวงพร’ มองว่า หากมีความรู้ด้าน AI ก็จะได้เปรียบในตลาด แต่ทักษะที่สำคัญกว่าจริงๆ คือทักษะด้านข้อมูลและการวิเคราะห์ 

ถ้าจะอยู่รอด ต้องรู้จักปรับก่อน

สิ่งที่ JobsDB ย้ำตลอดคือ ต่อให้ตลาดแรงงานฟื้นขึ้นจริง ไม่มีอะไรการันตีว่าคุณจะไม่ถูกเลย์ออฟอีก

‘ดวงพร’ สรุปชัดว่า หากวันนี้คนทำงานยังอยู่ใน Comfort Zone ก็เสี่ยงมากที่สุดแล้ว เพราะถ้าวันหนึ่ง โครงสร้างองค์กรเปลี่ยนไป ทักษะที่คนทำงานมีอยู่ อาจถูกแทนด้วยเทคโนโลยีได้ตลอดเวลา

“ทางเดียวคือขยันเรียนรู้สิ่งใหม่ โดยเฉพาะเรื่องดาต้า และ AI เพราะไม่ว่าสายงานไหน ก็เริ่มหนีไม่พ้นแล้ว”

ที่มา: สัมภาษณ์กลุ่ม โดย ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา