ไทยแลนด์เมืองคอนเสิร์ต “บิ๊ก เมาน์เท่น มิวสิค เฟสติวัล” ผ่านมา 15 ปี ทำไมถึงยังอยู่ได้?

ปัจจุบัน เทศกาลดนตรีในประเทศไทย เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง แทบจะเรียกได้ว่าเป็น สงครามคอนเสิร์ต (Red Ocean) เพราะอุตสาหกรรมดนตรีในบ้านเรากำลังเติบโตกันอย่างก้าวกระโดด ทั้ง T-POP เพลงร็อก เพลงอินดี้นอกกระแส หรือแม้แต่ลูกทุ่ง หมอลำ ก็มีฐานผู้ชมผู้ฟังขยายใหญ่ขึ้น โดยมีการจัดงานเทศกาลดนตรีไม่ต่ำกว่า 300 งานต่อปี

ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดแบบนี้ การจะทำให้งานๆ หนึ่ง อยู่ได้แบบมั่นคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ ‘บิ๊กเมาน์เท่น มิวสิก เฟสติวัล’ ทำได้ และยังเป็นชื่อเทศกาลดนตรีอันดับต้นๆ ที่คนไทยจะนึกถึงมาตลอด 15 ปี ในฐานะผู้บุกเบิกเทศกาลดนตรีสัญชาติไทย ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แบบไม่จม ไม่หาย ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน

อะไรที่ทำให้ ‘บิ๊กเมาน์เท่น’ อยู่มาได้อย่างยาวนาน และมีฐานแฟนเพลงติดตามอย่างเหนียวแน่นขนาดนี้ Brand Inside จะพาไปแง้มเหตุผลทีละข้อ ไปพร้อมๆกัน

  1. ‘ใหญ่’ ที่สุดในประเทศ – ไม่ใช่แค่คำเคลม แต่ บิ๊กเมาน์เท่น เล่นใหญ่ได้ขนาดนั้นจริงๆ จำนวนเวที ศิลปินจากทุกสังกัด ทุกแนวเพลง จากทั่วประเทศ ที่ขึ้นแสดงในพื้นที่ The Ocean เขาใหญ่ ในแต่ละปี นับเป็นการขมวดรวมเอาความฮิตของวงการดนตรี และเรื่องที่กำลังเป็นกระแสในปีนั้นๆ มารวมไว้ในงานเดียว ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เรายังเห็น บิ๊กเมาน์เท่น รักษาเอกลักษณ์ของความ ‘เล่นใหญ่’ แบบนี้อาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
  2. งานที่ศิลปินอยากขึ้นโชว์มากที่สุด – เวทีนี้เป็่นหมุดหมายของศิลปินทั่วประเทศ จากทุกค่าย ทุกแนวเพลง ตั้งแต่วงฮิตติดกระแส วงอินดี้ ศิลปินตะวันตก ไปจนถึงหมอลำ รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 120 วงต่อปี โดยทั่วไปแล้ว วงเล็กๆ หรือวงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสอาจหาเวทีใหญ่ในการแสดงไม่ง่ายนัก ซึ่งนอกจากศิลปินจะได้โชว์ของ ตกแฟนคลับหน้าใหม่ได้แล้ว เหล่าผู้ชมเองก็มีโอกาสพบเจอวงใหม่ๆ หรือเพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อนได้ด้วยเช่นกัน พูดได้ว่างานนี้เป็นหนึ่งในหมุดหมาย ที่บรรดาศิลปินมากมายอยากมาให้ได้
  3. เกาะทุกกระแส – เราอาจเคยชินกับการทำคอนเทนต์ตามกระแสในวงการมาร์เก็ตติ้ง แต่ในวงการเพลงเอง การหยิบเรื่องดังๆ มาดัดแปลงให้เข้ากับงานก็ทำได้เช่นกัน และ บิ๊กเมาน์เท่น เองก็ทำได้อย่างน่าสนใจเสียด้วย ไม่ว่าในแต่ละปีจะมีเทรนด์ หรือมีเรื่องอะไรที่เป็นกระแส ก็พร้อมนำมาสร้างสรรค์เป็นธีมได้อย่างลงตัว เช่น ในปี 2556 กับ บิ๊กเมาน์เท่น มิวสิก เฟสติวัล ครั้งที่ 5 ได้หยิบยกวลีจากเรื่อง ‘พี่มาก…พระโขนง’ มาเป็นธีมในชื่อว่า ‘มาเล่นกันเถอะ’ ในปี 2568 นี้ บิ๊กเมาน์เท่น ก็หยิบเอาเทรนด์มูเตลู เสริมมงคลของคนไทย มาสร้างสรรค์เป็นธีม “มันมงคลมาก”
  4. อยู่มานาน แต่ไม่ยอมแก่ – พร้อมปรับตัวตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไป สิ่งที่กลุ่มลูกค้าเดิมชอบก็ยังคงไว้ สิ่งที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ก็รีบนำมาปรับใช้ในงาน เช่น โซนแคมป์ปิ้ง หมูกระทะ เวทีเพื่อชาวอินดี้ แนวเพลงที่ฮิตมากในช่วงนี้
  5. แคร์ผู้ชม – การจัดไลน์อัปศิลปิน ผังงานอะไรอยู่ตรงไหน ประเภทของบัตร ไปจนถึงธีม การดีไซน์เรื่องเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจที่ยึดเอาความต้องการจริงของผู้ชมเป็นหลัก พร้อมปรับเปลี่ยนการทำงานไปตามพฤติกรรมและฟีดแบคของคนดูในแต่ละปี ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง การจัดสรรพื้นที่ การจราจร การควบคุมราคาวินมอเตอร์ไซค์ให้เหมาะสม ไปจนถึงห้องน้ำ ที่ปัจจุบัน บิ๊กเมาน์เท่น เป็นเทศกาลดนตรีที่มีห้องน้ำเยอะที่สุดในประเทศไทย ไปแล้ว
  6. เวที ที่คนถามถึงทุกปี – นอกจากไลน์อัปศิลปินที่เจ๋งแล้ว การจัดเวที แสง สี เสียง ก็เป็นสิ่งที่ช่วยไฮป์คนดูได้เช่นกัน ด้วยจำนวนเวทีที่เยอะที่สุดในประเทศ รวมไปถึงกิมมิคเพิ่มสีสันของงานอย่าง Special Stage ที่เวียนกันมาไม่ซ้ำแต่ละปีอย่างหาที่ไหนไม่ได้ เช่น อโคจรผับ – น้าเน็ก, เทยเที่ยวไทย – เวทีซอย 2, Dancing Stage – โดม ปกรณ์ ลัม, ระเบียบวาทะศิลป์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็ง เป็นไฮไลต์ ที่ทำให้แฟนๆ ตั้งตารอคอย
  7. รายได้ในท้องถิ่นคึกคัก – การจัดงานที่ใหญ่ขนาดนี้ แน่นอนว่าคนจากทั่วประเทศต้องหลั่งไหลมารวมกัน การทำงานจึงต้องให้ความสำคัญกับคนในท้องถิ่นควบคู่กับผู้ชม Big Mountain Music Festival ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในโคราช เช่น ประสานงานเตรียมความพร้อมธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร และอื่นๆ เพื่อรองรับผู้ชมจำนวนมาก จัดทำวินมอเตอร์ไซค์ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อควบคุมราคาให้เป็นมาตรฐาน ร่วมกับตำรวจและอาสาจราจรในการดูแลจราจรในพื้นที่ จับมือหน่วยกู้ภัย-หน่วยพยาบาล เตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ เปิดพื้นที่ให้คนท้องถิ่นค้าขายภายในงานได้ โดยในแต่ละปีช่วยสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นได้มากกว่า 2,200 ล้านบาท/ปี
  8. ปั้นคนรุ่นใหม่ให้มีอาชีพ – โอกาสที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลดนตรีระดับประเทศไม่ได้หาได้ง่ายๆ ซึ่ง บิ๊กเมาน์เท่น ได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ด้วยโครงการ ‘ยุวชนเกเร’ ที่เปิดรับนักศึกษาฝึกงาน เพื่อฝึกสกิลการทำอีเวนต์ และจัดงานเทศกาลดนตรี มากถึง 200 คนต่อปี ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้หาประสบการณ์ในพื้นที่หน้างานจริง พร้อมผลักดันเข้าสู่ตลาดแรงงาน สร้างโอกาสในการร่วมงานกับ GMM SHOW และบริษัทชั้นนำ
  9. รับผิดชอบสิ่งแวดล้อม – เทศกาลดนตรีที่ใหญ่ขนาดนี้ แน่นอนว่ามาพร้อมกับปริมาณขยะมหาศาล บิ๊กเมาน์เท่นได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ในการแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจัง เพื่อรักษาและป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน และส่งต่อจิตสำนึกให้ผู้ชม ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน ผ่านการจัดเก็บ คัดแยก และรีไซเคิลขยะอย่างจริงจัง รวมกว่า 11 ตัน/ปี
  10. วางตัวเป็นเพื่อนกับทุก Gen – การเลี้ยงกระแสในโซเชียล ก็เหมือนโจทย์ที่ปราบเซียนมานักต่อนัก แต่ บิ๊กเมาท์เท่น ทำได้ และทำได้น่าจดจำอีกด้วย กับคาแรคเตอร์ของ ‘พี่วัว’ แอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ ที่สื่อสารกับผู้ติดตามอย่างเป็นกันเอง กวนๆ ถูกจริตคนไทย ล้อกับชื่อเล่นสุดน่ารักของผู้ติดตามอย่าง ‘ชาวเพื่อนโค’ ที่พร้อมตอบสนองทุกคอนเทนต์ที่เสิร์ฟต่อเนื่องทั้งปี ไม่เงียบหาย ตลอดเวลากว่า 15 ปีที่เปิดเพจมา ความเหนียวแน่นนี้เอง ที่ทำให้เฟซบุ๊ก บิ๊กเมาท์เท่น กลายเป็นคอมมูนิตี้ของคนชอบคอนเสิร์ตที่แข็งแกร่ง ด้วยผู้ติดตามกว่า 1.5 ล้านคน และมีเอนเกจเมนต์ดีต่อเนื่อง ถือเป็นกลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าที่มีประสิทธิภาพ

และนี่ก็คือเหตุผลส่วนหนึ่งว่าทำไมผ่านมาแล้ว 15 ปี แต่ Big Mountain Music Festival ถึงยังครองใจแฟนเพลงและศิลปินทั่วประเทศ

สิบปากว่า ยังไงก็คงไม่เท่าตาเห็น ชวนไปสัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีกับ Big Mountain Music Festival 15 ได้ในวันที่ 6-7 ธันวาคมนี้ ที่ The Ocean เขาใหญ่

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา