กลุ่มธุรกิจ TCP สนับสนุนยุววิจัยรุ่นใหม่ ผ่านเวทีการประชุมวิชาการดาราศาสตร์

“จากความชอบดาราศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ทำให้หนูตัดสินใจประกวดโครงงานแรกในชีวิต ที่สอนให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่แค่ในห้องเรียน แต่เราได้ลองผิด ลองถูก โดยใช้ขั้นตอนคิดวิเคราะห์ไปแก้ไขอย่างเป็นระบบ ซึ่งหนูพบว่านี่คือกระบวนการคิดที่ใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิตจริงๆ” น้ำเสียงเปี่ยมพลังของ เด็กหญิงภิญญาพัชญ์ รุ่งเรือง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ สะท้อนการเติบโตของยุววิจัยรุ่นใหม่จากเวทีการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 11 (Thai Astronomical Conference (Student Session) หรือ TACs) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27–29 มิถุนายน 2568 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเวทีนี้ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากกลุ่มธุรกิจ TCP ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในระดับเยาวชน ภายใต้แนวคิดสำคัญของเวทีนี้ที่ “ไม่ใช่เวทีแข่งขัน แต่คือเวทีเพื่อการแสวงหาความรู้” โดยเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ค้นพบความรู้นอกห้องเรียน ผ่านการนำเสนอโครงงานที่ไม่ได้จำกัดเป้าหมายเพียงแค่ผลลัพธ์ แต่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น “ระหว่างทาง” ผ่านการฝึกตั้งคำถาม คิดวิเคราะห์ พิสูจน์ และค้นคว้าอย่างเป็นระบบ เพื่อปูรากฐานความคิดให้เยาวชนสามารถเติบโตไปเป็นนักนวัตกรรมแห่งอนาคต

เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ยุววิจัยรุ่นใหม่ กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ร่วมสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้ที่นำเสนอโครงงานแบบบรรยาย โดย สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า เราเชื่อว่าแรงบันดาลใจคือจุดเริ่มต้นสำคัญของการเรียนรู้และนวัตกรรม เวทีนี้จึงไม่เพียงเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ต่อยอดความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ แต่ยังปลูกฝังรากฐานการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาองค์ความรู้ในทุกสาขา กลุ่มธุรกิจ TCP ให้ความสำคัญกับการผลักดันนวัตกรรมในทุกระดับ โดยเรามองว่าการสนับสนุนเยาวชนตั้งแต่วันนี้ คือการวางรากฐานให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ในระดับประเทศและนานาชาติ”

จากความเชื่อมั่นในพลังของนวัตกรรม กลุ่มธุรกิจ TCP จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโอกาสที่ช่วยต่อยอดกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับเยาวชน ซึ่งสะท้อนแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขององค์กร เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนา Hopster เครื่องดื่มแคลอรีต่ำ ผลิตจากดอกฮอปที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ตอบโจทย์สายรักสุขภาพด้วยแคลอรี่ที่ต่ำและไม่มีน้ำตาล หรือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม BESTURAL (เบสท์เซอรัล) คอลลาเจนรูปแบบกัมมี่ที่พัฒนาร่วมกับ DHC แบรนด์อาหารเสริมและวิตามินชั้นนำจากญี่ปุ่น สร้างสรรค์นวัตกรรม “คอลลาเจนกัมมี่” ซึ่งเป็นคอลลาเจนรูปแบบใหม่ แบรนด์แรกของประเทศไทยช่วยให้ผู้บริโภคมีความสะดวกและสามารถรับประทานคอลลาเจนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ จากที่กลุ่มธุรกิจ TCP ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่จังหวัดปราจีนบุรี อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง (High Precision Machining) การถ่ายภาพและวิเคราะห์ภาพถ่าย เพื่อระบุข้อบกพร่อง (Defect) เพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการผลิต ทั้งหมดนี้สะท้อนแนวทางเดียวกัน คือเริ่มต้นจากการ “ตั้งคำถาม” สู่การคิด วิเคราะห์ และลงมือสร้างสรรค์ เพื่อผลักดันนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค และแนวโน้มของเทรนด์ในอนาคต

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “การทำโครงงานดาราศาสตร์ต้องใช้กระบวนการคิดเป็นอย่างมาก วิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล และใช้เวลาในการศึกษาค้นคว้า เวทีประชุมวิชาการ ดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 จึงนับเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้ฝึกฝนกระบวนการเหล่านี้อย่างแท้จริง โดยปีนี้นับเป็นปีที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดนับตั้งแต่ที่เคยจัดมา และยังโดดเด่นด้วยเนื้อหาที่มีศักยภาพในการต่อยอดได้อีกมาก”

เด็กหญิงภิญญาพัชญ์ เล่าเพิ่มเติมถึงเบื้องหลังการนำเสนอผลงานในหัวข้อ Distance Analysis of Supernova Type Ia SN2024unx ที่ได้รับรางวัลเหรียญทองว่า “หลายคนมองว่าดาราศาสตร์เข้าถึงยาก หนูจึงพัฒนาโครงงานนี้เพื่อให้ผู้คนเห็นว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดถ้าเรากล้าลงมือทำ โครงงานนี้เป็นโครงงานแรกของหนูซึ่งได้ลงมือศึกษาทุกขั้นตอนร่วมกับทีม ตั้งแต่เก็บข้อมูล ถ่ายภาพ จนถึงพล็อตกราฟวิเคราะห์ด้วยตัวเอง จึงทำให้หนูเข้าใจว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้มองแค่ปลายทางเพื่อหาคำตอบ แต่ทำให้คิดรอบด้านผ่านการตั้งคำถาม พร้อมก้าวข้ามอุปสรรคได้ ถ้าเรามีเป้าหมาย”

สิ่งที่เด็กหญิงภิญญาพัชญ์ และเด็กหญิงพริม ศึกษาไม่ใช่เพียงแค่ผลงาน แต่คือกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง “จากที่ได้ฟังคำแนะนำจากกรรมการ ทำให้หนูอยากกลับไปหาค่าของดาวที่ยังหาไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่หนูศึกษามาตั้งแต่แรก หนูไม่อยากปล่อยให้ความอยากรู้นี้จบลงแค่นี้ มันเหมือนปริศนาที่ท้าทายให้หนูต้องค้นหาคำตอบต่อไป” เด็กหญิงภิญญาพัชญ์ กล่าวเสริม

อีกหนึ่งโครงงานที่ได้รับเหรียญทองคือ Interactive Website for Visualizing Habitability in Exoplanet Systems โดย นายกฤต พรหมษานุวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเทิงวิทยาคม เลือกพัฒนาสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อจำลองโครงสร้างวงโคจรของระบบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะและแสดงภาพบริเวณที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ (Habitable zone) จากฐานข้อมูลของ NASA เพื่อให้การเรียนรู้ดาราศาสตร์กลายเป็นเรื่องจับต้องได้ “เป้าหมายของผมคือการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่เข้าถึงง่ายผ่านเว็บไซต์อินเทอร์เฟซ แทนการใช้ซอฟต์แวร์ที่เข้าถึงได้ยาก ซึ่งหัวข้อสิ่งมีชีวิตยังไม่ค่อยมีคนพัฒนาด้านสื่อการเรียนรู้มากนัก เราจึงใช้ประเด็นนี้ตั้งโจทย์และสร้างสื่อที่สามารถจำลองภาพง่ายๆ เพื่อเพิ่มความสนใจให้ผู้เรียนมากขึ้น” โดยนายกฤต เน้นย้ำว่าเป้าหมายของโครงงานคือการจุดประกายให้ผู้คนสนใจในดาราศาสตร์ เพราะเขาเชื่อว่า “แรงบันดาลใจมักเริ่มจากการค้นพบประกายบางอย่าง ที่ทำให้เราอยากหาคำตอบไปเรื่อยๆ ด้วยตนเอง”

เวทีการประชุมในปีนี้ยังคงมีอีกหลากหลายโครงงานที่มีศักยภาพต่อยอดวงการดาราศาสตร์ในอนาคต โดยมีโครงงานที่สมัครเข้าร่วมกว่า 200 ผลงานจากทั่วประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์และมาเลเซีย ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบนำเสนอจำนวน 81 ผลงาน โดยโครงงานดาราศาสตร์ที่มีความโดดเด่นจะได้รับเหรียญรางวัลรวม 39 รางวัล พร้อมกันนี้ ยังได้มีการมอบเข็มเกียรติยศเพื่อเชิดชูครูแกนนำดาราศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันยุววิจัยรุ่นใหม่ สะท้อนถึงการเติบโตของความสนใจด้านดาราศาสตร์อย่างกว้างขวาง พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดยุววิจัยและครุวิจัยรุ่นใหม่ในเวทีระดับนานาชาติ

ทั้งหมดนี้คือภาพสะท้อนของแนวคิดสำคัญที่กลุ่มธุรกิจ TCP ยึดมั่นเสมอมา ว่าการเรียนรู้และรากฐานการคิดอย่างมีระบบคือจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง สอดคล้องกับแนวทางปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่าที่ กลุ่มธุรกิจ TCP มุ่งมั่นสนับสนุนให้ทุกศักยภาพได้ถูกจุดประกายและต่อยอดสู่อนาคต โดยเวทีการประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 11 ได้ปิดฉากลงท่ามกลางพลังความมุ่งมั่นของเยาวชน ที่ได้เติบโตไปอีกขั้นในฐานะยุววิจัยรุ่นใหม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเติบโตของนวัตกรรม อาจเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อย่างใจรักและโอกาสในการได้ลองที่จุดประกายให้เยาวชนพร้อมก้าวเดินสู่อนาคตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างวันที่ดีกว่าให้กับตัวเอง สังคม และประเทศในระยะยาว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา