นับตั้งแต่โดนัลด์ ทรัมป์ ตบเท้ากลับเข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นหนที่สอง หนึ่งในนโยบายสำคัญที่ถูกจับตาทั่วโลกก็คือ ‘กำแพงภาษีนำเข้า’ ที่ทรัมป์มุ่งหวังให้เป็นเครื่องมือลดการขาดดุลการค้ากับประเทศอื่น ๆ รวมถึงไทย

ล่าสุด ทำเนียบขาวประกาศแล้วชัดเจนว่า ไทยจะโดนภาษี 36 % ภายในวันที่ 1 สิงหาคม ที่จะถึงนี้
ในกรณีนี้ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์สถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนว่า “นี่เป็นเหมือนจดหมายสไตล์ Art of the Deal ที่เหมือนเรียกค่าคุ้มครองบังคับไทยกลับโต๊ะเจรจา”
หลังจากขู่มา 3 เดือน ประกาศล่าสุดจากทำเนียบขาว ระบุว่า ไทยจะโดนภาษี 36% กับสินค้าทุกชนิดภายใน 1 สิงหาคม 2567 แต่จุดที่พอให้ไทยขยับได้บ้าง ดร.พิพัฒน์บอกว่า อยู่ตรงเงื่อนไขที่บอกว่าถ้าไทยตัดสินใจเปิดตลาดก็อาจจะพิจารณาลดภาษีลงมาได้
นอกจากนี้ การที่ขยับเส้นใต้จากเดิม 9 กรกฎาคม เป็น 1 สิงหาคม ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญะว่าแม้สหรัฐยังไม่พอใจกับการเจรจา แต่ก็เปิดให้เจรจาได้ต่อ ซึ่งนี่เป็นสไตล์การเจรจาที่เราเห็นจากทรัมป์อยู่บ่อย ๆ เช่น ในกรณีการแบน TikTok ในสหรัฐที่เลื่อนเส้นตายออกไปเรื่อย ๆ เหมือนกันเพื่อเก็บแต้มไว้ต่อรองกับจีน
ดร.พิพัฒน์ มองว่า ถ้าไทยโดนกำแพงภาษี 36% จริง จะเกิดผลกระทบกับไทยแน่ ๆ อย่างน้อยก็สองเรื่อง คือ
1. มากกว่าส่งออกหาย คือต่างชาติไม่เข้ามาลงทุน
ผลกระทบโดยตรงของกำแพงภาษีก็คือการที่สหรัฐจะนำเข้าของจากไทยน้อยลง ดร.พิพัฒน์ ระบุในสเตตัสดังกล่าวว่า “เราพึ่งพาสหรัฐมากกว่าสหรัฐพึ่งพาเรา สหรัฐฯ รับราว 18 % ของมูลค่าส่งออกไทย (กว่า 55 พันล้านดอลลาร์) ถ้าโดนภาษี 36 % คู่แข่งอย่างเวียดนาม-เม็กซิโกพร้อมเสียบ คำสั่งซื้ออาจหายทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิคส์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ยาง”
ส่วนในภาคการผลิต ดร.พิพัฒน์ตั้งข้อสังเกตว่า ไทยมีปัญหาความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว “ก็อาจโดนซ้ำเติม แรงงานเสี่ยงโดนเลิกจ้าง หรือต้องย้ายสายการผลิตไปประเทศภาษีต่ำ”
และที่หนักกว่านั้นคือ เสน่ห์ของไทยในการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ดร.พิพัฒน์มองว่า “นักลงทุนคงถามตรง ๆ ว่า ถ้าตั้งโรงงานในไทยแล้วต้องโดนภาษี 36 % แล้วทำไมไม่ไปเวียดนาม?” เรื่องนี้กระทบกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เราหวังไว้เต็ม ๆ “เงินลงทุนเทคโนโลยี EV AI อาจไหลออกตั้งแต่ยังไม่เปิดสายการผลิต”
2. โดนบังคับให้เลือกระหว่างภาคเกษตรและภาคการส่งออก
ในภาพที่ใหญ่ขึ้นมาอีก ดร.พิพัฒน์ มองว่าไทยกำลังโดนบังคับให้เลือกระหว่าง “ภาคส่งออก ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย” (ในแง่เม็ดเงิน) และ “ภาคเกษตร ที่แม้มีสัดส่วนต่อเศรษฐกิจไม่มาก แต่จ้างงานจำนวนมาก และมีผลต่อธุรกิจใหญ่เล็กมหาศาล”
คำอธิบายก็คือ ถ้าอยากลดกำแพงภาษีลง เพื่อให้ภาคการส่งออกโดนกระทบน้อย ไทยจะต้อง “เปิดตลาดให้สหรัฐเพิ่ม ซึ่งอุตสาหกรรมที่เราปกป้องมากที่สุดทั้งภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (เช่น quota และ import bans) ก็คือภาคเกษตร ซึ่งแน่นอนว่าการเปิดตลาดคงกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากแน่ ๆ”
ส่วนอีกเงื่อนไขสำคัญ คือการป้องกันสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ซึ่งอาจจะทำให้กระทบความสัมพันธ์กับจีน
ทางออกของประเทศไทย
ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า “การเจรจาแบบ Win-Win น่าจะเป็นไปได้ยากในกรณีนี้ เราอาจจะต้องหาทาง Give-and-Take และพิจารณาถึงผลกระทบในแต่ละทางเลือกอย่างรอบด้าน และหาทางชดเชยผลกระทบ”
สิ่งที่ต้องทำก็คือ “เข้าใจสิ่งที่สหรัฐต้องการก่อน ถ้าดูสิ่งที่เขาได้จากเวียดนาม เข้าใจว่าสหรัฐต้องการให้เราเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐ ลดภาษีนำเข้า ยกเลิก non-tariff barrier และจัดการกับเรื่องสินค้าสวมสิทธิ์ ซึ่งเราคงต้องพิจารณาผลกระทบของแต่ละเรื่องอย่างเข้าใจจริงๆ และเปรียบเทียบต้นทุนแต่ละทางเลือก”
ดร.พิพัฒน์ บอกว่าเราต้อง “พิจารณาหาทางเปิดเสรีด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคเกษตรซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีมาตรการลดผลกระทบ อย่างน้อยในระยะสั้น แต่ต้องหาวิธีชดเชยความเสียหายแบบเข้าใจจริง ๆ”
แน่นอนว่า การดำเนินนโยบายในลักษณะ Give-and-Take แปลว่าเรามีเรื่องที่ต้อง ‘ยอมให้’ ผู้มีอำนาจตัดสินใจ “ต้องสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจประเด็น และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาทางเลือกและพูดคุย”
ดร.พิพัฒน์สรุปว่า จดหมายฉบับนี้เป็นเหมือน Art of the Deal เวอร์ชันเรียกค่าคุ้มครอง “บีบให้ไทยต้องเลือก จะยอมเสียบางอย่างตอนนี้ เพื่อไม่ให้เสียอนาคตทั้งหมด”
หากเราเดินเกม Give-and-Take ค่อย ๆ เปิดตลาดเกษตร พร้อมกันชน-ชดเชย และเร่งยกระดับศักยภาพแข่งขัน ไทยจะไม่เพียงแค่รอดภาษี 36 % แต่ยังอาจใช้จังหวะนี้เร่งเครื่องเศรษฐกิจไทยสู่มูลค่าสูงกว่าเดิมได้
ที่มา: Pipat Luengnaruemitchai
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา