วิจัยเตือน รูทีนสกินแคร์เด็กใน TikTok ไม่ได้ช่วยอะไร แถมเสี่ยงทำร้ายผิว

ทุกวันนี้แค่เลื่อน TikTok ก็เจอเด็กวัยรุ่นโชว์รูทีนดูแลผิวที่เต็มไปด้วยครีมหรู ขั้นตอนละเอียดยิบ แถมตื่นตีสี่มาตบๆ โบกๆ กันเป็นเรื่องปกติ

แต่ใครจะคิดว่าเบื้องหลังความใสในจอ อาจซ่อนอันตรายที่ทำร้ายผิวเด็กได้แบบไม่รู้ตัว

งานวิจัยจาก Northwestern University Feinberg School of Medicine พบว่า รูทีนดูแลผิวแบบจัดเต็มที่อินฟลูเอนเซอร์วัยรุ่นโชว์กันใน TikTok ไม่ได้จำเป็นเลย แถมอาจทำร้ายผิวของเด็กๆ ด้วยซ้ำ

รูทีนที่ซับซ้อน กับผลลัพธ์ที่อันตราย

การศึกษาครั้งนี้นำโดย Dr. Molly Hales แพทย์ผิวหนังและนักวิจัยหลังปริญญาเอก ร่วมกับ Dr. Tara Lagu งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Pediatrics และถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการเจาะลึกว่าคลิป ‘Get Ready With Me’ พวกนี้มีผลกับผิวเด็กและวัยรุ่นอย่างไร

ทีมวิจัยสร้างบัญชี TikTok ปลอมเป็นเด็กอายุ 13 ปี แล้วเก็บวิดีโอรูทีนดูแลผิวของเด็กและวัยรุ่นอายุ 7-18 ปี ทั้งหมด 100 คลิป เกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ซึ่งหลายคลิปโชว์รูทีนซับซ้อนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ 6 ชิ้นขึ้นไป บางคนใช้เป็นสิบๆ ชิ้น รวมแล้วราคาเฉลี่ยราวๆ 170-500 ดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 5,500-16,200 บาท

ยิ่งไปกว่านั้น บางคนตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง เพื่อมาทำรูทีนยาวเหยียดนี้ แต่ทีมวิจัยบอกว่า ผลิตภัณฑ์พวกนี้ ทั้งโทนเนอร์ ยารักษาสิว ครีมลดริ้วรอย ไม่ได้จำเป็นกับผิวเด็กเลย แถมยังเจอว่าส่วนผสมหลายอย่างเต็มไปด้วยสารออกฤทธิ์แรง น้ำหอม และสารก่อภูมิแพ้ ที่อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคือง ผื่นแพ้ หรือไวต่อแสงแดดได้

นอกจากนั้น อินฟลูเด็กๆ หลายคน มองข้ามสิ่งสำคัญที่ปกป้องผิวได้จริงๆ คือ ‘ครีมกันแดด’ งานวิจัยพบว่ามีแค่ 26% ของคลิปที่เป็นรูทีนตอนกลางวันเท่านั้นที่ทาครีมกันแดด ซึ่ง Dr. Hales บอกว่านี่ถือเป็นโอกาสที่พลาดไปใหญ่หลวง เพราะกันแดดเป็นตัวช่วยที่สำคัญจริงๆ สำหรับผิว

Dr. Hales ยังบอกด้วยว่า ความเสี่ยงจากการใช้ผลิตภัณฑ์หลายตัวซ้อนกัน เช่น อาการระคายเคือง หรือผื่นแพ้ ติดต่อกันไปนานๆ อาจร้ายแรงกว่าประโยชน์เล็กน้อยที่ได้จากสารออกฤทธิ์พวกนี้หลายเท่า

เธอย้ำว่าเด็กๆ จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องใช้อะไรมากมาย แค่ล้างหน้าด้วยคลีนเซอร์อ่อนโยน และทาครีมกันแดดเป็นประจำก็พอ

สร้างภาพจำ ต้องขาว ต้องใส

งานวิจัยยังชี้ให้เห็นปัญหาใหญ่กว่านั้น คือวิดีโอส่วนใหญ่โชว์เด็กผู้หญิงที่มีผิวใสและขาว ทำให้เกิดมาตรฐานความงามที่เกินจริง และเชื่อมโยงการมี ‘ผิวดี’ เข้ากับ ‘ความขาว’ได้ด้วย

ซึ่งอาจทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าต้องซื้อของแพงๆ มาทำให้ตัวเองดู ‘เป๊ะ’

ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้ร่วมงานวิจัยนี้ก็ออกมาเห็นด้วย อย่าง Dr. Tess McPherson จาก British Association of Dermatologists บอกกับสื่ออังกฤษว่า ตอนนี้เธอเห็นเด็กๆ มาหาหมอด้วยอาการผิวอักเสบ หรือระคายเคืองจากการใช้สกินแคร์เกินความจำเป็นมากขึ้น

เธอเตือนว่าการหมกมุ่นกับผิว ‘ไร้ที่ติ’ นั้นไม่ดีต่อสุขภาพจิต และยังทำให้สภาพผิวปกติเช่น สิวหรือผื่นภูมิแพ้ดูน่าอายขึ้นมาโดยไม่จำเป็น

Dr. McPherson ยังบอกด้วยว่า ตอนนี้เด็กๆ หลายคนถึงขั้นขอเงินวันเกิดเพื่อไปซื้อสกินแคร์แพงๆ เพราะแพ็กเกจน่ารัก น่าใช้ และได้อิทธิพลจากคลิปในโซเชียล เธอบอกว่ากระแสนี้ยิ่งตอกย้ำความกลัวความแก่ตั้งแต่วัยเด็กๆ ซึ่งน่ากังวลมาก

แพทย์อีกคนอย่าง Dr. Sonal Shah จาก University Hospitals Rainbow Babies & Children’s ก็เห็นด้วย โดยบอกว่า TikTok เต็มไปด้วยคำแนะนำเรื่องสกินแคร์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนทำคลิปส่วนใหญ่ไม่ได้รู้จริงเรื่องส่วนผสมหรือวิธีใช้ที่ปลอดภัย

สรุปก็คือ กระแสสกินแคร์ในโซเชียลมีเดีย อาจเป็นเรื่องของ ‘การตลาด’ มากกว่า ‘ความจริง’ ทางวิทยาศาสตร์ เพราะการที่ของมันต้องมี ก็ไม่ได้แปลว่าผลลัพธ์จะดีขึ้น โดยเฉพาะสำหรับเด็ก

ที่มา: The Guardian, Bio Engineer

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา