AI for Sustainable Nation วิสัยทัศน์ใหม่ของ AIS ที่ถูกขับเคลื่อนโดย AI และโครงข่ายอัจฉริยะ

ท่ามกลางภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลก และประเทศไทยที่ยังมีความผันผวนสูง รวมถึงความท้าทายจากปัจจัยหลากหลายที่ยากจะควบคุม ไม่ว่าจะเป็นสังคม, สิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยี ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด และเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับ AIS ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

นั่นคือการส่งวิสัยทัศน์ใหม่ AI for Sustianable Nation ที่ล้อไปกับการเข้ามาของ AI ที่เปลี่ยนแปลงโลกราวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่ รวมถึงชื่อของ AIS อีกด้วย 

รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ AIS จะเป็นอย่างไร แล้วการนำ AI เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหนบ้าง Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เพื่อรับรู้ถึงรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

ความท้าทายรอบด้านนำมาซึ่งจุดเปลี่ยน

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS ได้เริ่มต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ไล่ตั้งแต่ปัจจัยเรื่อง เศรษฐกิจ ที่กำลังเกิดสงครามการค้า รวมนโยบายต่าง ๆ ของหลากหลายประเทศ จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และการจับจ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีเรื่อง สิ่งแวดล้อม ที่มีหลายอย่างคาดเดาไม่ได้ 

แต่มากกว่านั้นคือเรื่อง เทคโนโลยี ที่ปัจจุบันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หรือเทียบเท่ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ผ่านการเกิดขึ้นของ AI เพราะ AI นั้นเพิ่งถูกพูดถึงในโลกเทคโนโลยีเพียงไม่กี่ปีก่อน แต่ผ่านมาเพียงไม่นาน AI กลับสามารถทำอะไรได้หลากหลาย หรือเกินกว่าที่หลายคนคิดไว้ คล้ายกับการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนผ่านจากการเกษตรไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมที่พลิกโฉมเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมของโลกไปตลอดกาล

“มีพาร์ตเนอร์เล่าให้ผมฟังว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมของโลกนั้นมีอยู่ 4 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อกว่า 200 ปีก่อนที่ใครมีโรงงาน และเครื่องจักรไอน้ำจะเป็นเจ้าโลก จากนั้นข้ามมาเป็นช่วง 100 ปีก่อน หรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เริ่มมีไฟฟ้า และเทคโนโลยีต่าง ๆ ส่วนครั้งที่ 3 คือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยคน ที่ในไทยเรียกว่ามนุษย์ทองคำ เพราะพวกเขาต่างไปเรียน MBA เพื่อมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจ และครั้งที่ 4 หรือปัจจุบันที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ และเกิดการปฏิวัติอีกครั้ง”

เทคโนโลยีไม่ใช่ทางเลือก แต่คือความจำเป็น

เมื่อ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขนาดนี้ ทำให้หลากหลายองค์กรเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น พร้อมก้าวข้ามจากการเป็นแค่แพลตฟอร์มที่ดี หรือตอบโจทย์การใช้งานสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน แต่เทคโนโลยีต่าง ๆ ล้วนมาทั้งข้อดี และข้อเสียง ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้บริโภค รวมถึงองค์กรต่าง ๆ เพื่อตระหนักรู้ถึงประโยชน์ และโทษของเทคโนโลยีก็คืออีกสิ่งที่จำเป็น ซึ่ง AIS พร้อมเดินหน้าเรื่องนี้เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

“เมื่อ 10 ปีที่แล้วใครที่มีแพลตฟอร์มย่อมเป็นผู้ชนะของโลกเศรษฐกิจ ซึ่งสังเกตได้ว่าแพลตฟอร์มดัง ๆ ในระดับโลกต่างเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนมีอิทธิพลอย่างชัดเจน แต่เวลานั้นเริ่มมีหลายคนคาดการณ์ว่าจะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง แต่ก็ยังมองไม่ออกว่ามันคืออะไร เพียงแค่มองว่าจะเกิดขึ้นอีก 10 ปีนับจากนั้น ซึ่งตอนนี้ผมคิดว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหม่นี้คือ AI ดังนั้น AIS ที่มีผมเป็น CEO จะต้องนำเรื่องนี้เข้ามามีบทบาทกับองค์กร และการดำเนินธุรกิจ”

เมื่อ AI เข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจมากขนาดเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้ง ทำให้ ทฤษฎีพาย 3 ชิ้น ที่ สมชัย เคยแจ้งไว้ก่อนหน้านี้ผ่านการนำ 3 เรื่องมาประกอบกันคือ

  • Digital Intelligence Infrastructure: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ AIS
  • Cross Industry Collaboration: การสร้างความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอบริการที่หลากหลายแก่ลูกค้า AIS 
  • Human Capital & Sustainability: การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล (Digital Talent) และส่งเสริมความยั่งยืน

จากบริบทของโลกยุคปัจจุบันที่มีความผันผวนและไม่แน่นอน ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็น 4 เสาหลักยุทธศาสตร์ วางรากฐานดิจิทัลไทยสู่ความยั่งยืน ที่ประกอบด้วย

  • Digital Infrastructure: ตอกย้ำการลงทุนต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ทั้งเครือข่าย Mobile และ Broadband ให้ครอบคลุม เข้าถึงได้ และมีคุณภาพสูงสุดทั่วประเทศ เพราะเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างโอกาส คุณสมชัยย้ำว่า แม้จะมุ่งสู่อนาคต แต่พื้นฐาน “Classic Connectivity” นี้จะไม่มีวันหยุดลงทุน เพราะคือจุดแข็งที่ทำให้ AIS เป็นเบอร์หนึ่งมาตลอด
  • Digital Talents: การพัฒนาทักษะและขีดความสามารถด้านดิจิทัลของคนไทย โดยเฉพาะทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, Cloud เพื่อให้คนไทยพร้อมรับมือและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนประเทศ
  • Digital Safety: การสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลให้คนไทย ให้ความรู้ และพัฒนาเครื่องมือป้องกันภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
  • Digital Green: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ และส่งเสริมการบริโภคอย่างยั่งยืน

AI for Sustainable Nation วิสัยทัศน์ใหม่ของ AIS

ขณะเดียวกัน AIS ยังส่งวิสัยทัศน์ใหม่ AI for Sustainable Nation ที่ AIS มุ่งมั่นจะนำศักยภาพของ AI ผสานกับโครงข่ายอัจฉริยะ (Intelligent Network) เพื่อสร้างเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Ecosystem Economy) ให้ทุกภาคส่วนเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน นอกจากนี้ยังนำ AI มาเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน 4 เสาหลักเพื่อก้าวไปสู่ Cognitive Tech-Co หรือองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ให้บริการเครือข่าย และผู้ให้บริการดิจิทัล ทั้ง AI ยังช่วยให้ AI มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับตัวอย่างการดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ AI for Sustainable Nation ของ AIS จะเริ่มตั้งแต่การขับเคลื่อนข้อมูลด้วย AI ที่นำ AI มาทำความเข้าใจลูกค้า และบริหารจัดการเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างประสบการณ์ และการบริการใหม่ ๆ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ AI จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเหล่านี้ได้ แต่ถึงจะมี AI เข้ามาช่วยเหลือ AIS ในวิสัยทัศน์ใหม่นี้ยังต้องการเดินหน้าธุรกิจแบบเติบโตไปด้วยกันกับพาร์ตเนอร์ที่หมายถึงองค์กรธุรกิจต่าง ๆ เช่นเดิม

“เรายังยึดมั่นในแนวทางการเติบโตผ่าน Ecosystem และการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน พร้อมประโยชน์แก่ลูกค้า ตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ที่ AIS เลือกที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แม้สัดส่วนการถือหุ้นอาจไม่มากที่สุด แต่จะสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนกว่าในระยะยาว รวมถึงความสัมพันธ์อันยาวนานกับคู่ค้า และตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ”

เจาะโครงสร้างองค์กรใหม่ที่แยกส่วนธุรกิจชัดเจน

ภายใต้วิสัยทัศน์ AI for Sustainable Nation และการเป็นองค์กร Cognitive Tech-Co ทาง AIS ยังปรับโครงสร้างธุรกิจให้ชัดเจนยิ่งขึ้นโดยแบ่งเป็น

  • Growing Core: ธุรกิจหลักที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ได้แก่ Mobile, Broadband, และ Enterprise ซึ่งยังคงเติบโตต่อเนื่องอย่างมั่นคง
  • Expanding Growth Engine: กลุ่มธุรกิจใหม่ที่จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต ได้แก่ Retail, Entertainment, และ Digital Finance (รวมถึง Virtual Bank) ซึ่ง AIS ตั้งเป้าจะขยายการเติบโตในส่วนนี้อย่างมีนัยสำคัญ โดยอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตร และการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้

ขณะเดียวกัน สมชัย ยังย้ำว่า ความสำเร็จของ AIS ตลอด 35 ปี ไม่ได้มาจากเทคโนโลยีหรือเงินทุนเพียงอย่างเดียว แต่มาจาก คน และ วัฒนธรรมองค์กร ที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการมีนโยบายที่ชัดเจน และต่อเนื่อง รวมถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำ แต่หากจะไปถึงธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสเติบโตสูง AIS จำเป็นต้องดึงดูดผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเหล่านั้นมาช่วย และสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเติบโต รวมถึงรักษาค่านิยมขององค์กรเอาไว้ ซึ่งสามารถระบุออกมาเป็นกลยุทธ์ได้ดังนี้

  • The Leadership Vanguard: การสร้าง กองหน้าของผู้นำ ที่มีวิสัยทัศน์ และความสามารถในการนำพาองค์กรสู่อนาคต
  • Legacy in Motion: การส่งต่อพลัง ความรู้ และประสบการณ์จากผู้นำรุ่นสู่รุ่น เพื่อรักษาความต่อเนื่องและ DNA ขององค์กร เหมือนกับ สมชัย CEO คนที่ 5 ของ AIS ที่ได้รับการส่งต่อภารกิจมาจากผู้บริหารรุ่นก่อน และพร้อมที่จะส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปเช่นกัน
  • Multi-Gen Leadership: การส่งเสริมผู้นำข้ามรุ่น ผสานจุดแข็ง และมุมมองที่หลากหลายของคนต่างวัย เพื่อสร้างพลังขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

จากการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ Brand Inside มองว่า การประกาศวิสัยทัศน์ AI for Sustainable Nation ถือเป็นก้าวสำคัญของ AIS ในการปรับตัวและกำหนดทิศทางสู่อนาคต ท่ามกลางความท้าทายที่ซับซ้อน การผสานพลังของเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงข่ายอัจฉริยะ การยึดมั่นในแนวทางการเติบโตร่วมกับพันธมิตร และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง พร้อมส่งต่อพลังผู้นำจากรุ่นสู่รุ่น

ทั้งหมดนี้คือกลยุทธ์หลักที่ AIS เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำพาองค์กรให้เติบโต ควบคู่ไปกับการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยในทุกมิติได้อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจและสังคมต้องจับตามองต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Branded Content เป็นบทความที่ได้รับการสนับสนุนจากสปอนเซอร์