โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ขึ้นภาษีนำเข้าญี่ปุ่น 30–35% หลังไม่พอใจขาดดุลการค้า–ไม่ยอมนำเข้าข้าว

ทรัมป์ไม่พอใจแล้วนะ!

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์บอกว่า ไม่แน่ใจว่าจะตกลงการค้ากับญี่ปุ่นได้ก่อนเส้นตายวันที่ 9 กรกฎาคมหรือเปล่า ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเป็น 30-35% เพราะญี่ปุ่นยังไม่ยอมนำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ

ประเด็นนี้สหรัฐฯ บ่นมานานแล้ว เพราะญี่ปุ่นถือว่า ข้าวเป็นสินค้าเกษตรสำคัญที่ต้องปกป้อง มีกลุ่มชาวนาเป็นฐานเสียงใหญ่ของรัฐบาล รัฐบาลในหลายๆ สมัยที่ผ่านมาจึงใช้โควตาและภาษีศุลกากรสูง เพื่อกันไม่ให้ข้าวต่างชาติเข้ามากระทบราคาข้าวในประเทศ แม้ตอนเจรจาข้อตกลงใหญ่ๆ อย่าง ‘TPP’ ก็ยังยอมเปิดตลาดข้าวได้แค่บางส่วนเท่านั้น

ส่วนฝั่งสหรัฐฯ มองว่าถ้าเปิดตลาดข้าวได้จริง ชาวนาอเมริกันก็จะได้ประโยชน์มาก เพราะสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก แต่ตอนนี้กลับขายข้าวให้ญี่ปุ่นได้น้อยมาก ทรัมป์ก็เลยหยิบประเด็นนี้มาใช้เป็นเงื่อนไขต่อรอง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็น ‘รถยนต์’ ที่ก็ร้อนพอๆ กัน สหรัฐฯ กับญี่ปุ่นมีดราม่ารถยนต์ยาวเป็นสิบๆ ปี เพราะญี่ปุ่นส่งออกรถมาขายอเมริกาได้มหาศาล ทั้งโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ขายได้เป็นล้านคัน

แต่รถอเมริกันกลับเจาะตลาดญี่ปุ่นแทบไม่ได้ ทั้งเพราะมาตรฐานรถญี่ปุ่นที่ละเอียด ขนาดรถที่เล็กพอดีกับถนนในเมือง และพฤติกรรมคนญี่ปุ่นที่ชอบรถประหยัดพื้นที่ รถอเมริกันที่คันใหญ่หรือเครื่องแรงจึงไม่ตอบโจทย์

แม้ฝั่งสหรัฐฯ จะโวยว่าญี่ปุ่นกีดกันทางการค้า แต่ญี่ปุ่นก็มองว่าเป็นรสนิยมผู้บริโภคและเงื่อนไขถนนที่เลี่ยงไม่ได้

ด้านเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวออกมาบอกว่า ตอนนี้รัฐบาลทรัมป์จะพักการเจรจากับญี่ปุ่นไปก่อน แล้วหันไปคุยกับประเทศอื่นแทน อย่าง ‘อินเดีย’ ที่ดูจะมีลุ้นกว่าในการเจรจาภาษีรอบนี้

จริงๆ แล้วทรัมป์เริ่มเก็บ ‘ภาษีศุลกากรตอบโต้’ ตั้งแต่เมษายน แต่ก็พักชั่วคราวไปก่อน 90 วัน ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 9 กรกฎาคมนี้ ถ้าญี่ปุ่นยังเจรจาไม่จบ ก็อาจต้องจ่ายภาษีศุลกากรรวมประมาณ 24% โดยคิดจากเดิมที่มีภาษี 10% บวกเพิ่มอีก 14%

รอบนี้ทรัมป์เหมือนจะกดดันญี่ปุ่นให้ยอมเรื่องข้าวกับรถยนต์ โดยขู่ว่าอาจขึ้นภาษีไปสูงสุด 35% ฝั่งญี่ปุ่นก็ยังยืนยันว่าอยากให้สหรัฐฯ ยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งหมด แต่ดูเหมือนทรัมป์จะไม่ยอมง่ายๆ เพราะยังหงุดหงิดเรื่องขาดดุลการค้าอยู่

ที่มา: Nikkei Asia [1] [2], Japan Times, CNN, Reuters

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา