Ericsson หวังไทยปลดล็อกคลื่น 3500MHz ดันใช้งาน 5G SA รองรับการใช้งาน AI เต็มประสิทธิภาพมากกว่า

Ericsson มองเครือข่าย 5G SA จะเสริมประสิทธิภาพการทำงาน AI โดยเฉพาะยูสเคส อุปกรณ์ Generative AI (GenAI) ที่ต้องการเครือข่ายการทำงานที่ซับซ้อนได้ พร้อมยังสนับสนุนให้ไทยจัดสรรคลื่นความถี่ 3500MHz มาใช้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อให้ใช้งาน 5G SA ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

รายงาน Ericsson Mobility ฉบับเดือนมิถุนายน 2025 เปิดเผยข้อมูลและแนวโน้มเกี่ยวกับการใช้งานเครือข่ายมือถือ การเติบโตของเทคโนโลยี 5G และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคในด้านต่างๆ พบว่า คาดการณ์สิ้นปี 2030 จำนวนบัญชีผู้ใช้บริการ 5G ทั่วโลก จะพุ่งแตะ 6.3 พันล้านราย และคาดว่าสิ้นปี 2025 บัญชีผู้ใช้ 5G ทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 2.9 พันล้านราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดผู้ใช้บริการมือถือทั้งหมด ส่วนปริมาณการใช้ดาต้าเน็ตบนเครือข่ายมือถือทั่วโลกเพิ่มขึ้น 19% จากไตรมาสแรกของปี 2024 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ ถึงแม้อัตราการเติบโตจะลดลง แต่ปริมาณการใช้ดาต้ายังเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในรายงานนี้ยังคาดการณ์ว่ายอดการใช้ดาต้าเน็ตมือถือจะเพิ่มมากกว่าสองเท่าตลอดช่วงของการคาดการณ์จนถึงสิ้นปี 2030

สำหรับประเทศไทย Ericsson Mobility คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้ดาต้าเน็ตต่อสมาร์ทโฟนคาดว่าจะเติบโตจาก 30 กิกะไบต์ต่อเดือน ในปี 2023 เพิ่มเป็น 67 กิกะไบต์ต่อเดือน ในปี 2030 ถือเป็นโอกาสที่โอเปอเรเตอร์ในการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน (ARPU) จากการใช้งานดาต้าบนเครือข่าย 5G 

แอนเดอร์ส เรียน ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย

มร.แอนเดอร์ส เรียน ประธานบริษัท อีริคสัน ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับการใช้งาน 5G ที่มีการเติบโตเรื่องปริมาณการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้านั้น มองเป็นเทรนด์จากการใช้แอปพลิเคชัน และ Streaming ที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงการใช้งาน AI ที่ต้องการใช้เครือข่าย 5G ในการเชื่อมต่อการทำงาน และต้องทำงานบนเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Ericsson ย้ำเรื่องของธรรมาภิบาลในการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้ใช้งาน 

“สำหรับเครือข่าย 5G Standalone (SA) ที่ร่วมทำงานกับอุปกรณ์ที่รองรับ 5G จะยกระดับประสิทธิภาพและระบบนิเวศที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ และเพื่อให้ 5G ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญที่จะต้องดำเนินการคือการนำเครือข่าย 5G SA มาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างฐานย่านความถี่ Mid-Band เพิ่มเติม ซึ่งอีริคสัน ประเทศไทย พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของประเทศไทย โดยอาศัยความเป็นผู้นำระดับโลกของเราในด้านเทคโนโลยี 5G ที่วันนี้เปิดให้บริการเครือข่าย 5G ไปแล้ว 187 เครือข่ายทั่วโลก จะผลักดันการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล… เราเชื่อว่าการร่วมมือที่เข้มแข็งในระบบนิเวศเป็นสิ่งสำคัญช่วยปลดล็อกศักยภาพของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้เต็มที่ ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตรในอุตสาหกรรม และชุมชนต่าง ๆ เราตั้งเป้าส่งเสริมนวัตกรรม สร้างความเท่าเทียม และการเติบโตระยะยาวให้กับประเทศไทย”

การใช้ 5G SA ที่ได้รับการพัฒนาเพิ่มขึ้นจะเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นสำหรับการนำไปปรับใช้และขับเคลื่อนยูสเคสการใช้งานใหม่ๆ ให้กับทั้งองค์กรและผู้บริโภค เนื่องจากอุปกรณ์ generative AI (GenAI) เป็นที่แพร่หลายและแอปฯ AI มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันและผู้ให้บริการด้านการสื่อสารจึงต้องให้ความสำคัญกับความสามารถในการอัปลิงก์ (Uplink) และระยะเวลาแฝงในการรับส่งข้อมูล (Latency) มากขึ้น ตามรายงาน Ericsson Mobility Report ระบุถึงอุปกรณ์ 5G ที่เป็นนวัตกรรมอื่นๆ นอกเหนือจาก GenAI ที่ฝังอยู่ในสมาร์ทโฟนรุ่นไฮเอนด์ อย่าง แว่นตาอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI และใช้ประสิทธิภาพจากการโต้ตอบด้วยเสียง รวมถึงการนำประสิทธิภาพการเชื่อมต่อที่แตกต่างกัน (Differentiated Connectivity) มาใช้มากขึ้นในแอปพลิเคชันใหม่ ๆ สำหรับผู้บริโภคและสำหรับองค์กร โดย Differentiated Connectivity จะเป็นกุญแจสำคัญมอบประสบการณ์คุณภาพสูงให้กับผู้ใช้ สำหรับ AI Agent ที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคลและแอปพลิเคชันการสนทนาอื่นๆ

อ่านรายงาน Ericsson Mobility ฉบับเต็ม มิถุนายน 2025 ได้ที่ลิงก์นี้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คนไอที อยู่วงการเทเลคอมมาร่วม 20 ปี ผันตัวมาทำสิ่งใหม่ๆ แล้วก็เริ่มสนุกกับมัน!