TikTok กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงใหม่ที่เน้นที่ ‘ประสิทธิภาพ’ การทำงาน หลังลงทุนอย่างหนักมาหลายปี โดยเฉพาะในแผนก ‘อีคอมเมิร์ซ’ ในสหรัฐฯ อย่าง ‘TikTok Shop’ ตอนนี้บริษัทกำลังควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อปรับปรุงผลกำไรสุทธิ
ซึ่งก็คือ ‘การเลิกจ้าง’ และปรับนโยบาย-การใช้จ่ายที่เข้มงวดยิ่งขึ้นภายในบริษัท
Business Insider บอกว่า จากข้อมูลของพนักงานหลายคน พบว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ TikTok ได้เลิกจ้างพนักงานที่มีผลงานต่ำกว่ามาตรฐาน บังคับใช้นโยบายการกลับเข้าออฟฟิศที่เข้มงวดยิ่งขึ้น เลิกจ้างพนักงานถึงสองครั้ง และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางใหม่ในทุกแผนก
การเลิกจ้างรอบล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ กระทบพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอีคอมเมิร์ซ และความร่วมมือของแบรนด์ต่างๆ โดยในการสื่อสารกับพนักงานที่ได้รับผลกระทบ TikTok บอกว่าบริษัทมีความจำเป็นในการปรับการดำเนินงานให้ง่ายขึ้น เพื่อความสำเร็จในระยะยาว
‘Shou Chew’ ซีอีโอ TikTok ได้ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยระบุว่าบริษัทจะประเมินแต่ละทีม และกำจัดชั้นการจัดการที่ซ้ำซ้อน สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ใช้โดยบิ๊กเทครายอื่น ๆ เช่น Meta, Google, และ Microsoft ซึ่งลดจำนวนพนักงาน และตัดสวัสดิการเพื่อปรับกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
การเปลี่ยนแปลงภายในเหล่านี้ เกิดขึ้นช่วงที่ TikTok ยังคงเจอกับความเป็นไปได้ที่จะถูกแบนในสหรัฐฯ หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายปี 2024 ที่กำหนดให้ต้องถอนการลงทุนจากบริษัทแม่ในจีนอย่าง ByteDance ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา TikTok ยังได้รวมอำนาจควบคุมจากจีนมากขึ้น
ลดต้นทุน-เปลี่ยนลำดับความสำคัญ
นอกจากการเลิกจ้างแล้ว TikTok ยังปรับเปลี่ยนการดำเนินการทางการเงินอื่นๆ ปัจจุบันทีมงานบางส่วนกำลังถูกประเมินจากประสิทธิภาพด้านต้นทุน และตัวชี้วัดรายได้หลัก เช่น มูลค่าสินค้ารวม (GMV)
ส่วน ‘TikTok Shop’ มีแผนที่จะยกเลิกนโยบายกจัดส่งฟรีภายในสิ้นเดือนนี้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนที่อาจทำให้ผู้ขายบางรายไม่พอใจ แต่จะทำให้แนวทางปฏิบัติของบริษัทสอดคล้องกับคู่แข่งอย่าง ‘Amazon’ มากขึ้น
ขณะที่งบประมาณการเดินทางทั่วทั้งบริษัท อยู่ภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เช่น กระบวนการอนุมัติการเดินทางของพนักงานที่เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยมีข้อกำหนดเพิ่มเติมในการพิสูจน์ค่าใช้จ่าย และเพดานค่าใช้จ่ายใหม่สำหรับเที่ยวบินและโรงแรม
อีคอมเมิร์ซ: ใช้จ่ายสูง ผลตอบแทนต่ำ
‘TikTok Shop’ ซึ่งเปิดตัวด้วยเงินลงทุนมหาศาล แต่ตอนนี้กลายเป็นเป้าหมายหลักในการลดงบ หลัง ByteDance เคยหวังว่าอีคอมเมิร์ซจะประสบความสำเร็จในสหรัฐฯ แบบเดียวกับ ‘Douyin’ ในจีน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
ข้อมูลภายในชี้ว่า ยอดขายในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาษีศุลกากรใหม่ทั่วโลกที่บังคับใช้ โดยคำสั่งซื้อรายสัปดาห์ลดลงประมาณ 20% ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เทียบกับเดือนก่อนหน้า
ByteDance ไม่พอใจกับการเติบของ TikTok Shop ในตอนนี้ จึงเปลี่ยนทีมผู้บริหารชุดใหม่ โดยให้คนที่มีประสบการณ์จาก Douyin เข้ามาดูแล ซึ่งหลังจากการปลดพนักงาน ปรับโครงสร้าง และบางคนลาออกเอง ทีมอีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ก็เล็กลงมาก
ตามบันทึกภายในที่ Business Insider พบ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทีมงาน “ทำงานได้เร็วขึ้น คล่องตัวขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ตามที่ Mu Qing ผู้บริหารด้านอีคอมเมิร์ซพูดไว้
ที่มา: Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา