ในยามที่เศรษฐกิจไทยชะลอตัว กำลังซื้อถดถอย ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายกว่าเดิม คุณคิดว่าขนมปังแถวละ 40 บาท จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นหรือน้อยลง?
‘อภิเศรษฐ ธรรมโนมัย’ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เพรซิเดนท์ เบอเกอรี่ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ ‘Farmhouse’ เผยว่า ขณะนี้ ภาพรวมตลาดขนมปังและเบอเกอรีไทยอยู่ในภาวะทรงตัว ตามสภาพเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความผันผวน แถมหนี้ครัวเรือนยังสูง กระทบกำลังซื้อผู้บริโภค
แม้ Farmhouse จะครองส่วนแบ่งทางตลาดราวๆ 40-45% จากมูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท แต่ก็หนีไม่พ้นผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจอยู่ดี โดยยอดขายและกำไรลดลง ขณะที่กำลังการผลิตของโรงงานกลับอยู่ที่ 60-70% เท่านั้น ต่างจากช่วงก่อนโควิดที่มีกำลังการผลิตประมาณ 70-80%
อย่างไรก็ตาม อภิเศรษฐมองว่า การแข่งขันยังดุเดือดอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Farmhouse ต้องเร่งแก้เกม ทั้งในแง่การตลาด การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ และขยายช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภค
Farmhouse จะมีกลยุทธ์รับมือสถานการณ์นี้อย่างไรบ้าง มาดูกัน
เร่งพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ขยายช่องทางการเข้าถึงลูกค้าด้วย Vending Machine

ปัจจุบัน Farmhouse มีสินค้าหลากหลายประเภทกว่า 120 รายการ เช่น ขนมปังแผ่น ขนมปังเบอร์เกอร์ ขนมปังฮ็อตด็อก และขนมปังมีไส้ แต่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทางบริษัทจึงเดินหน้าออกสินค้าใหม่ ปีละ 10 รายการในทุกปีเลย
ล่าสุด Farmhouse เพิ่งเปิดตัว ‘Pocket Pizza’ ซึ่งเป็นการนำแป้งพิซซ่ามาทำในรูปแบบขนมเปี๊ยะไส้พิซซ่า ร่วมรังสรรค์โดย ‘พล ตัณฑเสถียร’ เซเลบริตี้เชฟชื่อดังของไทย
ปีนี้ Farmhouse ยังตั้งใจเพิ่มช่องทางการเข้าถึงผู้บริโภคผ่านการสร้าง ‘ตู้ขนมปังฟาร์มเฮ้าส์’ ที่เป็น Vending Machine โดยมีเป้าจะเพิ่มจาก 500 ตู้เป็น 1,000 ตู้ภายในสิ้นปี 2025
อภิเศรษฐเผยว่า เทรนด์สมัยนี้ ลูกค้าชอบใช้เงินจากแอปพลิเคชันออนไลน์มากขึ้นราวๆ 30-40% ดังนั้น บริษัทจึงตั้งเป้าอยากให้ตู้ฟาร์มเฮ้าส์เข้าถึงได้ง่ายกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป
ลงทุนหลักพันล้าน หวังแตะหมื่นล้านภายใน 2027
แม้ภาพรวมตลาดขนมปังและเบเกอรีอาจย่ำแย่แค่ไหน อภิเศรษฐยังเชื่อว่า Farmhouse จะสามารถทำรายได้ให้ถึงตามเป้า 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2027 และปีนี้คาดว่ายอดขายจะเติบโตอีก 7-10% เลย
หลักๆ แล้ว ภายในปี 2027 บริษัทจะลงทุนไปกับ
- การสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ลาดกระบัง (2,000 ล้านบาท)
- การสร้างโรงผลิตแป้งเป็นของตนเอง เพื่อช่วยบริหารต้นทุนและต่อยอดการพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ (1,200 ล้านบาท)
- การซื้อรถไฟฟ้าเพื่อการขนส่ง (1-1.2 ล้านบาท/คัน)
- การเพิ่มตู้อัตโนมัติ (100 ล้านบาท/ปี)
- การฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร
- การเพิ่มศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ โดยจะมีการสร้างศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดในหาดใหญ่
- การจ้างพรีเซนเตอร์
เมื่อไม่นานมานี้ Farmhouse ได้ทุ่มงบราวๆ 600-700 ล้านบาท ในการนำเข้าเครื่องจักรใหม่จากยุโรปด้วย เพื่อพัฒนาคุณภาพการผลิตขนมปัง และเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20% ซึ่งจะช่วยลดแรงงานคนควบคู่กับการลดใช้พลังงาน
ยังคงมีหวัง เน้นความสดใหม่ตามเดิม
“แม้ภาพรวมตลาดจะทรงตัว เรามองว่าอนาคต ตลาดขนมปังและเบเกอรีในบ้านเรายังมีโอกาสเติบโตอีกอย่างน้อย 2 เท่า เพราะเมื่อเทียบกับมาเลเซียและญี่ปุ่น ซึ่งประชากรเน้นกินข้าวเป็นหลักก็จริง แต่มีอัตราการบริโภคขนมปังมากกว่าคนไทย” อภิเศรษฐกล่าว
อภิเศรษฐมองว่า หนึ่งในตัวแปรที่จะขับเคลื่อนตลาดขนมปังและเบเกอรีไทยให้เติบโตได้ คือ การให้ความรู้ และสร้างวัฒนธรรมการกินขนมปัง
ที่สำคัญ ทาง Farmhouse ยังมีโครงการ ‘Good Morning Farmhouse’ แฟรนไชส์แซนด์วิชเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยในไทยสามารถประกอบธุรกิจเป็นของตนเอง
อภิเศรษฐย้ำว่า ไม่ว่าตลาดจะเป็นอย่างไร Farmhouse ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพไปให้ถึงผู้บริโภค ตามสโลแกน ‘หอมกรุ่นจากเตาทุกวัน’
ด้วยเหตุนี้ พนักงานของบริษัทจึงมีหน้าที่เช็ก พร้อมเก็บขนมปังที่อายุเกิน 3 วันออกจากชั้นวางขายกว่า 65,000 ร้าน แม้จริงๆ มันจะอยู่ได้นานกว่านั้นก็ตาม
ท้ายสุด อภิเศรษฐทราบดีว่า ขนมปังเป็นสินค้าที่ผันแปรตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้น สิ่งที่บริษัททำได้คือการไม่หยุดพัฒนา และต่อให้ตลาดทรงตัว Farmhouse ก็จะยังขยายการลงทุน เพื่อยกระดับการพัฒนาต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา