คุณคิดว่าของที่ซื้อๆ กันทุกวันนี้บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นสินค้าจากไทยกี่เปอร์เซ็นต์?
‘ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยว่า หนึ่งในความเสี่ยงจากนโยบายระหว่างประเทศที่ไปรษณีย์ไทยต้องจับตามองคือ ‘นโยบายภาษีศุลกากรต่างตอบแทน’ (Reciprocal Tariff) หรือกำแพงภาษีของทรัมป์
นโยบายนี้อาจส่งผลต่อการขนส่งระหว่างประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งปัจจุบัน ใน 1 ปี สินค้าข้ามพรมแดนที่เข้าไทยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว โดย 70% ของผลิตภัณฑ์ที่ขายตามแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้นมาจากต่างชาติ
ยิ่งกรณีของ Temu คือนำเข้า 100% เลยด้วยซ้ำ
ดนันท์มองว่า จากเดิมที่หลากหลายประเทศเคยส่งออกให้สหรัฐฯ ก็คงต้องหาที่ทางระบายใหม่ จนอาจทำให้มีสินค้าต่างชาติทะลักเข้าไทยเยอะ กลายเป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ
จากวิกฤตนี้ ‘ไปรษณีย์ไทย’ มีบทบาทอย่างไร มาดูกัน
กำแพงภาษีกระทบอีก สินค้าทะลักไทยมากขึ้น
แน่นอนว่า หากกำแพงภาษีของทรัมป์กระทบการขนส่งทั่วโลก ไปรษณีย์ไทยคือหนึ่งในผู้เล่นที่อาจโดน
ดนันท์อธิบายว่า เมื่อร้านต่างๆ ในไทยขายไม่ได้ Volume ที่ไปรษณีย์ไทยถือกับลูกค้าเหล่านี้ก็จะน้อยลง
และถ้าคุณคิดว่า แต่อย่างน้อยบริษัทขนส่งต่างๆ ก็ยังส่งสินค้าต่างชาติได้หรือเปล่า?
ดนันท์บอกไว้เลยว่า ถ้าให้หวังพึ่งสินค้าที่ทะลักมาจากต่างประเทศคงไม่ได้ เพราะมันไม่ง่ายขนาดนั้น และไม่รู้ว่าพวกเขาจะมั่นคงกับเราขนาดไหน
“เราจะเป็นแค่คนรอรับของไปส่งไม่ได้ เราต้องทำมากกว่านั้น” ดนันท์กล่าว
ด้วยเหตุนี้ ไปรษณีย์ไทยจึงวางกลยุทธ์รองรับความเสี่ยงกลุ่มธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็ก SME และอีคอมเมิร์ซที่อาจได้รับผลกระทบด้านการส่งออก ผ่านการ
- ร่วมมือกับ ‘สหภาพสากลไปรษณีย์’ และ ‘การไปรษณีย์สมาชิกอาเซียน’ เพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศให้ดีขึ้น และเพิ่มทางเลือกในการขนส่งไปยังปลายทางต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ
- ผลักดันศักยภาพธุรกิจไทยสู่ตลาดโลก ด้วยการร่วมมือกับ ‘eBay’ และ ‘Amazon FBA’ ในการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน รวมถึงจัดตั้ง ‘Regional Post Alliance’ เพื่อสร้างพันธมิตรอันแข็งแกร่งประจำภาคขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยเชื่อมเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ไปรษณีย์ยังตั้งใจนำจุดแข็งหรือทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว มาสร้างแต้มต่อให้ธุรกิจอย่างรอบด้านในปีนี้ ประกอบด้วย
- บริการส่งด่วน EMS ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ โดยเฉพาะในตลาดอีคอมเมิร์ซที่ต้องการความรวดเร็วและเชื่อถือได้ ผ่านเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกล
- บริการขนส่งที่ครอบคลุมธุรกิจอย่างครบวงจร โดยตอนนี้ บริการของไปรษณีย์ไทยครอบคลุมทั้งการขนส่งสิ่งของขนาดใหญ่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ ยา นมแม่ สินค้าการเกษตร และปลาสวยงาม ซึ่งดนันท์มองว่า กระบวนการส่งสิ่งของต่างๆ มันไม่เหมือนกัน ถ้าปรับตัวไม่ได้ ก็จบ
- บริการทางการเงิน ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรด้านการเงินในการเป็น ‘ตัวแทนธนาคาร’ เพื่อให้บริการด้านนี้อย่างครบวงจร
- การให้บริการกลุ่มค้าปลีกในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การค้นคว้าข้อมูล เลือกซื้อสินค้า หรือ ชำระเงิน รวมถึงมีแพลตฟอร์ม ‘Thailand Post Mart’ ซึ่งเป็นการเอาสินค้าจากทั่วประเทศมาจำหน่ายกว่า 20,000 รายการ
- ขยาย ‘Postman Cloud’ ซึ่งเป็นการต่อยอดเครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ เพื่อสร้างอรรถประโยชน์แก่สังคม เช่นปีนี้ พวกเขาก็ได้ร่วมงานกับสำนักสถิติแห่งชาติในการสำรวจข้อมูลสำมะโนประชากรและเคหะกว่า 4 ล้านครัวเรือน
- มุ่งสู่ ‘Information Logistics’ ด้วยการอัปเกรดฟีเจอร์ ‘Digital Postbox’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการติดตามสถานะเอกสาร และทำศูนย์ไปรษณีย์ที่เป็น Full Automation โดยดนันท์เผยว่า ปี 2025 เป็นปีแห่งการปรับเปลี่ยนโฉมเป็น Tech Post แบบเต็มรูปแบบ
ไปรษณีย์ไทยคว้าใจ Gen Z แถมไตรมาสแรก รายได้พุ่งเกือบ 6 พันล้านบาท
ในช่วงเวลาเช่นนี้ อนาคตของไปรษณีย์ไทยจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครทราบ แต่ในไตรมาสแรกของปี 2025 ดนันท์เล่าว่า บริษัทสามารถทำรายได้รวมๆ กว่า 5,945 ล้านบาท นับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 11.83%
สำหรับกำไรก็โตขึ้นเช่นกัน โดยสามารถทำกำไรกว่า 534 ล้านบาท เพิ่มจากไตรมาสแรก ปี 2024 ราวๆ 227%
ความสำเร็จนี้ ดนันท์เผยว่า มาจากปัจจัยสองอย่างคือ จำนวนการขนส่งและรายได้ต่อชิ้นที่มากขึ้น
นอกจากนั้น ถ้าคุณยังติดภาพจำไปรษณีย์ไทยเป็นบริการเก่าแก่ ไม่ทันสมัยโดนใจวัยรุ่น อาจต้องคิดใหม่ เพราะล่าสุดงานวิจัย ‘Gen Z Top Brand 2025’ โดย INTAGE Thailand พบว่า Gen Z มองไปรษณีย์ไทยเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ จนเกิดเป็นภาพจำ “พี่ไปรฯ คือคนรู้ใจ”
ไปรษณีย์ไทยกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ตนยืนหนึ่งในกลุ่มลูกค้า Gen Z ไม่ใช่แค่เพราะความรวดเร็วหรือจำนวนสาขาที่ครอบคลุม แต่คือ ‘หัวใจของการขนส่ง’ ที่ส่งต่อความรู้สึกดีๆ ไปพร้อมพัสดุด้วยต่างหาก
ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของไปรษณีย์ไทยในปัจจุบันจะดำเนินการไปด้วยดี ทั้งนี้ ดนันท์บอกว่า รู้สึกมาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่วางใจ เพราะมีความไม่แน่นอนอีกมหาศาล ซึ่งต้องแข่งกับผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บริษัทไม่สามารถหยุดนิ่ง แล้วทำเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ ได้
ในส่วนของกำแพงภาษีที่ดนันท์กล่าวไปก็เช่นกัน โดยไปรษณีย์ไทยยืนยันว่าจะติดตามความเสี่ยงประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
อนาคตของ SME ไทย และบริการโลจิสติกส์ในไทยจะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นคนที่อยู่รอด คงได้แต่เอาใจช่วยกันไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา