บุกตลาดออนไลน์ช้ากว่าผู้เล่นค้าปลีกรายอื่น ทำให้ MBK ต้องสร้างจุดต่างด้วยการใช้คอนเซปต์ขายดีลออนไลน์ ไม่ลงเล่นในตลาดช้อปออนไลน์ หรือสร้างมาร์เก็ตเพลส
สร้างจุดต่าง หนีเรดโอเชียนช้อปออนไลน์
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้เห็นการปิดตัวของเว็บไซต์ขายดีลออนไลน์มากมาย ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ “ensogo” ได้ทิ้งดราม่าเรื่องเงิน และการใช้ดีลให้ผู้บริโภคต่างปวดตัวไปตามๆ กัน ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่ได้เห็นผู้เล่นอีคอมเมิร์ซในคอนเซปต์ดีลออนไลน์อีกเลย ลุยแต่โมเดลของมาร์เก็ตเพลส และช้อปออนไลน์
แต่ MBK กลับไม่คิดเช่นนั้น ขอท้าทายตลาดด้วยการปัดฝุ่นดีลออนไลน์ขึ้นมาอีกครั้ง แต่เป็นคอนเซปต์ของ e-Exhibition หรือจัดงานแสดงสินค้าออนไลน์ ให้นึกถึงงานแฟร์ที่ศูนยป์ระชุมแห่งชาติสิริกิติย์ หรือไบเทคที่เป็นงานอีเวนท์ และมีบูทต่างๆ แต่ MBK ได้ยกงานอีเวนท์ บูทสินค้ามาอยู่บนออนไลน์
โปรเจ็คต์นี้ได้ใช้เวลาคิดค้น พัฒนาอยู่ 2 ปี ได้ใช้งบ 80 ล้านบาท ปั้นเว็บไซต์ MBKgo.com ขึ้นมา ภายใต้ยูนิตใหม่ก็คือ “บริษัท เอ็ม บี เค ดิจิตอล จำกัด” จะนำร่องลุยธุรกิจดิจิทัลเต็มตัวเป็นครั้งแรก ภายในเว็บจะรวมดีลลดราคาที่เน้น 3 กลุ่มใหญ่ ร้านอาหาร, ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์
ยศสันธ์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็ม บี เค ดิจิตอล จำกัด เล่าวว่า
“MBKgo.com ได้วางจุดยืนเป็นช้อปดีลออนไลน์ เป็นงานแสดงสินค้าแบบออนไลน์ ซึ่งพบว่าตลาดนี้ไม่มีคู่แข่ง ต่างจากตลาดมาร์เก็ตเพลส หรือเว็บช้อปปิ้งออนไลน์ที่มีทั้งผู้เล่นค้าปลีก และผู้ต่างชาติ กลายเป็นเรดโอเชี่ยนที่มีการแข่งขันสูง”
ได้มีการทดลองตลาดก่อนเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม พบว่ายอดขายเติบโต 100% ทุกเดือน มีอัตราการมาซื้อซ้ำ 40% โดยกลุ่มยอดนิยมที่สุดคืออาหาร 50% ที่พัก 25% และไลฟ์สไตล์ 25%
กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิ 66% และผู้ชาย 34% อายุ 25-34 ปี 50% อายุ 35-44 ปี 32% อายุ 45-54 ปี 8% โดยที่มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 900-1,000 บาท/ครั้ง
มั่นใจได้! โมเดลต่างจากเว็บดีลในอดีต
ในอดีตได้มีเรื่องราวดราม่าเกี่ยวกับเว็บไซต์ดีลออนไลน์ จนทำให้ภาพความเชื่อมั่นอาจจะลดลงไปได้ แต่ยศสันธ์ตอบอย่างมั่นใจว่า ภาพไม่เหมือนเว็บดีลในอดีตที่เป็นมาร์เก็ตเพลส
อย่างแรกคือมีระยะเวลาในการขายกำหนดชัดเจน ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 12 วัน โดยเว็บดีลมีกำหนดขายเรื่อยๆ ไม่มีกำหนด อย่างที่สองหารายได้จากการเก็บ % จากยอดขายที่คนออกบูทได้ ส่วนเว็บดีลจะหักคอ ตัดมาร์จิ้นจนร้านค้าอยู่ไม่ได้ และอย่างที่สามคือฐานะทางการเงินของกลุ่มเอ็มบีเคแข็งแกร่ง สามารถจ่ายเงินให้ลูกค้าได้
จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ MBK ต้องตั้งชื่อว่า MBKgo.com เพราะต้องหารสร้างความมั่นใจด้วยการนำชื่อ MBK มาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภค และร้านค้าเชื่อมั่นได้
ผนึกธุรกิจในเครือ MBK
การลุยธุรกิจดิจิทัลครั้งนี้ ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการผนึกช่องทางออนไลน์ และ ออฟไลน์เข้าด้วยกัน คือการนำธุรกิจในเครืออย่างร้านอาหาร และโรงแรมเข้าไปอยูาในดีลได้ ซึ่งจะสามารถเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจได้อีก
สำหรับแผนต่อไปของ MBKgo.com นั้น จะเริ่มขยายไปทั่วประเทศมากขึ้นในปีหน้า เพราะตอนนี้เน้นอยู่ในกรุงเทพฯ จากนั้นปี 61 จะเริ่มขยายไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว
ในปี 2561 มีการตั้งเป้าจำนวนอีเวนท์ทั้งหมด 100 อีเวนท์ภายในเว็บ มีร้านค้ามีออกงาน 1,500 บูท มีคนเข้าชม 500,000 คน และต้องการขยายกลุ่มลูกค้าไปยังนักท่องเที่ยวมากขึ้น ตั้งเป้าจำนวนมูลค่าการซื้อขายเกิดขึ้นในเว็บ 250 ล้านบาท
อีคอมเมิร์ซกลุ่มท่องเที่ยวโต 9%
มีการประเมินตลาดอีคอมเมิร์ซในปี 2560 มีมูลค่า 2.8 ล้านล้านบาท เติบโต 9.8% ส่วนในปี 2561 มีมูลค่า 3.1 ล้านล้านบาท เติบโต 11.4% โดยที่กลุ่มท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์มีมูลค่า 740,000 ล้านบาท เติบโต 9% เป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากหมวดค้าปลีกและค้าส่ง
สรุป
ธุรกิจค้าปลีกในไทยตอนนี้ต่างหาพื้นที่ในโลกออนไลน์ โลกดิจิทัลกันหมด เพราะพฤติกรรมของลูกค้าอยู่ในนั้น โดยที่ MBK อาจจะมาช้ากว่ารายอื่นอยู่บ้าง แต่ก็สร้างความแตกต่างด้วยการขายดีลออนไลน์ และผนึกธุรกิจในเครือเข้าไป แต่ก็ต้องจับตาดูก่อนว่าโมเดลของดีลออนไลน์ยังได้ผลอยู่หรือไม่กับผู้บริโภคคนไทย เพราะที่ผ่านมามีการล้มหายตายจากไปพอสมควร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา