เจาะลึก SCB Easy แม่มณี ความร่วมมือกับ Alipay และการต่อยอดในอนาคต ที่จะเปลี่ยนโฉมธนาคาร

ตั้งแต่ PromptPay ถึง QR Payment คือ นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาเปลี่ยนโฉมระบบการจ่ายเงิน เปลี่ยนโฉมธนาคาร และกำลังกลายเป็น Infrastructure เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต และจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

นี่คือประเด็นที่ ธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Marketing Officer และ อภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการ ผู้บริหารสูงสุด Retail Product และ Retail Payments ของ SCB พร้อมด้วย พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย Ant Financial Services Group ร่วมกันให้สัมภาษณ์กับ Brand Inside แบบ Exclusive

และเป็นเรื่องที่ต้องบอกต่อทันที

ความร่วมมือกับ Alipay เพื่อกระจายการใช้ QR Payment

หลังจาก ธปท. อนุญาตให้ 5 ธนาคารแรก ซึ่งรวมถึง SCB ให้บริการ QR Payment ทั่วประเทศได้ โจทย์ที่ SCB มองคือ ทั้งร้านค้าที่ใช้ QR และผู้ซื้อ ต้องเกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน แต่จะทำให้ร้านค้ามาเปิดรับชำระเงินด้วย QR ก็ต้องมีตัวอย่างที่จับต้องได้

Alipay เป็นสิ่งที่ร้านค้าคุ้นเคยดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะใน 3 เมืองหลัก คือ กรุงเทพ, ภูเก็ต และเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจีน ร้านค้าส่วนใหญ่เข้าใจระบบชำระเงินผ่าน QR อยู่แล้ว ดังนั้น ความร่วมมือของ SCB และ Alipay จะยิ่งช่วยให้ร้านค้าเปิดรับ QR เร็วขึ้น และผู้ใช้คนไทยก็มีร้านค้าที่รับชำระเงินด้วย

“SCB Easy มีผู้ใช้ 5 ล้านรายไม่พอ แต่นักท่องเที่ยวจีนที่เข้าไทย 10 ล้านคนต่อปี 70-80% ใช้งาน Alipay จะสร้างการรับรู้ได้มหาศาล”

การทำตลาดเชิงลึก แม่มณี คือ คาแรกเตอร์ตัวแทน

หลังจากเปิดตัว SCB Easy แม่มณี มาได้ 2 สัปดาห์แล้ว ผลตอบรับเป็นอย่างไรยังยากจะบอกได้ แต่ในหลายพื้นที่ เช่น ยูเนียนมอลล์ พ่อค้าแม่ค้าตอบรับดีมาก มีการใช้จ่ายผ่าน QR หลักพันบาทต่อร้านค้า

ถ้าเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่ SCB Easy App เปิดตัวกับแคมเปญ “เป็นทุกอย่างเพื่อคุณ” มาพร้อมเพลง เป็นทุกอย่าง ของ Room 39 กลายเป็นประโยคติดหู เพราะเป็นการตลาดที่เน้นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก เพื่อให้คนอยากใช้งาน แตกต่างกับการทำตลาดของแม่มณี ที่เป็นเรื่องของ คาแรกเตอร์ ทำให้คนจดจำได้

“ตอน SCB Easy App อยากให้คนรู้สึกร่วม แต่ แม่มณี คือต้องการสร้าง Visibility ให้คนเห็นมากๆ จดจำได้ว่า สัญลักษณ์แบบนี้ คือรับชำระเงินด้วย QR Payment ดังนั้นต่อไปเตรียมตัวได้เลย จะเห็นแม่มณีในทุกที่”

จุดเด่นที่แตกต่าง ทำให้ร้านค้าต้องมี “แม่มณี” อยู่ด้วย

ถ้าแอพจ่ายเงิน QR Payment ของทุกธนาคารใช้งานได้เหมือนกัน ทำให้ทุกธนาคารต้องแข่งขันเพื่อให้ บัญชีของตัวเอง เป็นบัญชีหลักของร้านค้า แล้วทำไมต้องใช้ SCB Easy แม่มณีด้วย

  1. SCB มีบริการ SCB Connect ผ่าน LINE ที่จะแจ้งเตือนเงินทุกบาทที่เข้ามาในบัญชี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน เมื่อรับชำระด้วย QR จะแจ้งเตือนทันที ร้านค้ามั่นใจได้
  2. แม่มณี คือ นางกวักยุคดิจิทัล เป็นเรื่องของ emotional และไม่แน่ว่าในอนาคตจะพัฒนาเรื่อง functional เช่น ผ่านการทำบุญเพื่อให้มีผลทางใจกับการค้าขาย
  3. มี Promotion กระตุ้นให้เกิดการใช้งาน ซึ่งจะร่วมกับร้านค้าหลายแห่ง
  4. มี Customize App มาเพื่อให้บริการเสริม เช่น JJ Guide ให้ความช่วยเหลือคนเดินตลาดนัดจตุจักร และจะขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ ทำให้คนซื้อคนขายมาเจอกัน

“เมื่อเป็นบริการรับชำระ QR เหมือนกัน SCB Easy ต้องสร้าง คุณค่าและมูลค่า ให้กับร้านค้า ทำให้พ่อค้าแม่ค้าขายของได้ดียิ่งขึ้น และนางกวัก คือสัญลักษณ์ที่ดี ที่ทุกร้านมีอยู่แล้ว และพร้อมจะตั้งไว้ที่จุดเก็บเงิน ไม่เก็บไว้ที่อื่น”

SCB เปลี่ยนกลยุทธ์ ลงพื้นที่จริง เรียนรู้ความต้องการจริง

ถ้าถามถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา SCB เป็นธนาคารแรกที่ผู้บริหารลงไปเดินตลาดเพื่อโปรโมทบริการ QR Payment ซึ่งการไปพบกับผู้ใช้งานจริง ทำให้ได้รู้ความต้องการและปัญหาจากการใช้งานจริง

ทำให้เกิดเป็น “แม่มณี” ที่มีความหมายดี คือ มณี ที่แปลว่า แก้วแหวนเงินทอง และยังออกเสียงคล้ายกับคำว่า “มานี่” หมายถึงการเรียกลูกค้า และยังคล้ายกับคำว่า มันนี่ หรือ Money ซึ่งแปลว่า เงิน และสะท้อนถึงการเป็นบริการ Money Solution สำหรับร้านค้า เรียกว่า แค่ชื่อ ก็โดนใจพ่อค้าแม่ค้าแล้ว

รวมถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ คือ การใช้สัญลักษณ์รูปนางกวักแต่ดูน่ารัก ทำให้พ่อค้าแม่ค้าอยากวางโชว์ มีพื้นที่ใส่ชื่อร้านและเบอร์โทรศัพท์ ช่วยโฆษณาร้าน หรือการเดินตลาดทางภาคใต้ ซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ต้องใส่ใจเรื่องทางศาสนา การใช้นางกวัก อาจไม่เหมาะสม เป็นสิ่งที่รู้ได้จากการลงพื้นที่จริง ทำให้ SCB ได้สัมผัสในสิ่งที่คู่แข่งไม่ได้ทำ และได้รู้ว่าคู่แข่งทำอะไรบ้าง

“บางครั้งการออกไปโดนตำหนิบ้าง ก็ทำให้รู้ข้อบกพร่องตัวเอง และนำมาปรับปรุง แค่ออกไปเดินแล้วได้ร้านค้าใช้ แม่มณีเพิ่มขึ้น ก็ถือว่า SCB ได้ลูกค้าใหม่แล้ว”

ต้นเดือน ธ.ค. เตรียมขยายการใช้งาน QR ทุกตลาด

เวลานี้การรับชำระด้วย QR ยังจำกัดอยู่ในระดับ C2C หรือ การโอนเงินระหว่างบุคคล ซึ่งร้านค้าทั่วไป พ่อค้าแม่ค้า ก็ถือเป็นบุคคล เช่นกัน แต่ประมาณต้นเดือน ธ.ค. ถ้ามาตรฐานที่ใช้สำหรับนิติบุคคลผ่านการอนุมัติ การใช้งาน QR Payment จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

นั่นคือการจ่ายเงินแบบ C2B ซึ่ง SCB ได้ประกาศความร่วมมือกับ The Mall Group ไปแล้ว ทำให้เกิดการจ่ายระหว่างบุคคลกับนิติบุคคลได้ นั่นหมายถึง ร้านอาหารเชน, ร้านกาแฟเชน หรือร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-ELEVEN, Family Mart จะสามารถรับชำระ QR จากธนาคารได้ รวมถึง การรับชำระ QR ผ่านเครื่อง Vending Machine หรือตู้อัตโนมัติทั้งหลาย ซึ่ง SCB มีความร่วมมือกับ Sun108 ผู้ให้บริการตู้อัตโนมัติ ไม่ต้องห่วงเรื่องหยอดเหรียญ หรือเงินทอน เพราะใช้ QR จ่ายได้ง่ายๆ

นอกจากนี้ จะต่อยอดไปถึงแบบ B2B คือ การรับชำระเงินระหว่างนิติบุคคล ซึ่ง SCB ได้ร่วมมือกับ โอสถสภา อนาคตเมื่อไปส่งสินค้าตามห้างร้านต่างๆ สามารถชำระเงินด้วย QR ได้ทันที

หรือแม้แต่บริการ Cash on Delivery ก็สามารถใช้ QR ได้ ซึ่งจะสะดวก ปลอดภัยมากกว่าเดิม ไม่ต้องจำกัดจำนวนเงิน เมื่อพนักงานมาส่งสินค้า ก็แค่สแกน QR รับชำระเงินตรงไปที่บริษัทได้เลย

พัฒนาสู่ Infrastructure สร้างธุรกิจใหม่ สตาร์ทอัพ

ทาง SCB เชื่อว่า QR Payment จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ที่มาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ต่อไปไม่ต้องกดเงินจาก ATM เพราะสามารถสแกน QR จ่ายเงินได้ทันที สะดวกกว่า ปลอดภัยกว่า และจะส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะ สตาร์ทอัพ

ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพ เกิดขึ้นได้ยากเพราะขาดโมเดลในการหารายได้ แต่ QR เป็นวิธีการชำระเงินระดับ Micro Payment จ่ายได้ทุกบาท ดังนั้น สตาร์ทอัพ หรือใครก็ตามที่มีไอเดียธุรกิจ สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ได้และมีวิธีในการเก็บเงิน เพิ่มโอกาสที่ธุรกิจจะอยู่รอดได้มากขึ้น

ทั้งหมดคือ การเปลี่ยนแปลงของธนาคารที่เดินเข้าหาผู้บริโภค เพื่อรับรู้ความต้องการ และ SCB ถือเป็นธนาคารแรกๆ ที่เปลี่ยนอย่างชัดเจน ส่วนต้นปีหน้าจะมีอะไรที่เปลี่ยนอีก โปรดติดตาม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา