เหตุผลสำคัญที่ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็น gig นี่คือสิ่งที่คุณเลือกได้

gig ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ กิ๊ก ที่หมายถึงความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน หรือการแอบนอกใจไปคุยกุ๊กกิ๊กกับคนอื่น แม้คำอ่านจะพ้องเสียงกัน แต่ความหมายนั้นทิ้งห่างกันไกล

เป็น gig เพื่ออิสระ ไม่ผูกมัด

gig หมายถึง งานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ จุดเด่นของรูปแบบการทำงานนี้คือมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนงานและความยากง่ายของงานที่ทำ ซึ่งระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยลักษณะการทำงานในรูปแบบนี้ เรียกว่า Gig Economy

อาจไม่คุ้นหู แต่ Gig Economy อยู่คู่ไทยมาตลอด เพราะเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงเกิดอาชีพรับจ้าง รวมถึงการรับจ้างแบกหามส่งของ และรับเงินเป็นครั้งๆ ไม่มีพันธะสัญญาต่อกัน

สำหรับยุคปัจจุบัน การเติบโตของโลกออนไลน์ และแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้ Gig Economy ยิ่งเฟื่องฟู ประเภทงาน gig ก็เริ่มมีความหลากหลาย บวกกับค่านิยมของคนยุคใหม่ที่ต้องการมีอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ยิ่งทำให้ gig worker หรือคนที่รับงานรูปแบบ gig เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างว่างานรูปแบบ gig ที่ว่านี้จะเข้ามาแทนที่รูปแบบงานนั่งโต๊ะที่เราทำกันอยู่ในไม่ช้า

30% ของวัยทำงานในไทยคือ gig

ก่อนจะถามตัวเองว่าอยากเป็น gig หรือไม่ หลายคนคงอยากรู้ว่าประชากรชาว gig นี่มีอยู่กี่คนกันแน่ แม้จะยังไม่มีประเทศไหนเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ Mckinsey Global สถาบันที่ปรึกษาชั้นนำ ประเมินว่าในสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปมีจำนวนคนทำงานในลักษณะครั้งคราวรวมกันอยู่ 162 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรวัยทำงาน ถือเป็นตัวเลขที่สูง แถมยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เผลอๆ อาจจะโตดีกว่าจำนวนคนทำงานในตลาดงานประจำเสียด้วยซ้ำ

ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการเช่นกัน แต่ผลสำรวจของ EIC จากผู้ตอบแบบสอบถาม 9,387 คน ประมาณการได้ว่าประชากรชาว gig มีอยู่ประมาณ 30% ของคนวัยทำงาน หมายความว่าในคนจำนวน 10 คน จะมีคนที่เป็น gig worker อยู่ 3 คน ซึ่งในสามคนนี้ก็แบ่งย่อยได้อีกเป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม 2 คน และคนที่รับงานอิสระหรืองานครั้งคราวอย่างเต็มตัว (เช่น คนที่เป็นฟรีแลนซ์) 1 คน

อาชีพยอดนิยมของเหล่า gig worker ชาวไทยคือ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ สำหรับอาชีพรับจ้างทั่วไปนั้นมีตั้งแต่ทำสวน แม่บ้าน บาริสต้าร้านกาแฟ ไปจนถึงวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์พยาบาล นักออกแบบกราฟิก นักกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน

สายอาชีพของงานในรูปแบบ gig นั้นมีหลากหลาย และยังสามารถขยายขอบเขตประเภท เพิ่มความแปลกขึ้นได้อีกมาก เช่น ที่ญี่ปุ่น มีอาชีพคุณลุงรับจ้างไปเป็นเพื่อนทำธุระ บริการนี้เรียกว่า Ossan Rental (ossan ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า คุณลุง) แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการมา 4 ปีแต่ก็ได้รับความนิยมสูง แถมเหล่าคุณลุงยังมีรายได้ดี คือราวๆ หนึ่งพันเยนต่อชั่วโมง (หนึ่งพันเยนอยู่ที่ราวๆ 300 บาท)

ใครจะเป็น gig ได้บ้าง

ผลสำรวจของอีไอซี gig worker ชาวไทยนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งในแง่ของอายุ รายได้ ระดับการศึกษา ช่วงอายุที่มีสัดส่วนเป็น gig worker มากที่สุดคือรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานรายได้ที่มั่นคงแล้วจึงเลือกรับงานอิสระได้อย่างเต็มตัว ส่วนระดับรายได้นั้นมีตั้งแต่น้อยกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึงมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน โดย gig worker ส่วนใหญ่ตอบว่าระดับรายได้อยู่ที่ประมาณ 15,000-50,000 บาท ต่างกันไปตามประเภทงาน คุณภาพงานและความขยันของคนทำ (คือขยันมากงานก็มาก เงินก็เยอะ)

อีกประเด็นที่ควรพูดถึงคือความหลากหลายในแง่ของการศึกษา สมัยก่อนคนที่รับงานเหล่านี้คือคนที่มีการศึกษาน้อย คนการศึกษาดีส่วนมากมักไปสมัครรับราชการซึ่งถือว่าโก้มากๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่มายุคนี้ เหล่า gig worker นั้นมีตั้งแต่คนที่จบน้อยกว่ามัธยมไปจนจบปริญญาเอก

จะเห็นได้ว่าเทรนด์ Gig Economy ทำให้ค่านิยมในรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ทั้งยังทลายข้อจำกัดการทำงานในเรื่องอายุ ระดับการศึกษา หรือแม้แต่เชื้อชาติและภาษา ขอแค่มีทักษะ มีแรง มีเวลาที่จะทำงานได้ก็เพียงพอแล้ว

ใครๆ ก็อยากเป็น gig

ผลสำรวจของ EIC พบว่าคนไทยที่อยากลาออกจากงานประจำมารับงาน gig นั้นมีมากถึง 86% นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าจะทำให้หลายบริษัทที่จ้างพนักงานประจำเยอะๆ ต้องกุมขมับได้ แต่ที่เซอร์ไพรซ์ยิ่งไปกว่านั้นคือ จำนวนคนที่อยากเปลี่ยนงานมาเป็น gig worker นั้นมีมากเกิน 2 ใน 3 ของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแบ่งด้วยช่วงอายุ สังกัดอาชีพ ระดับเงินเดือน หรือภาระทางบ้าน ตัวเลขเปอร์เซ็นต์อาจจะมากน้อยต่างกันไปบ้าง เช่น คนที่ทำงานบริษัทเอกชนอยากจะเปลี่ยนมากกว่าคนทำงานภาครัฐ คนเจนวายอยากเปลี่ยนมากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แต่โดยรวมแล้วก็จะอยู่ที่ระดับประมาณนี้

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนอยากเปลี่ยนมาทำงานเป็น gig worker ก็คือเรื่องการมีอิสระ นี่คือข้อได้เปรียบสำคัญของการเป็น gig worker ซึ่งคนทั่วไปก็รับรู้แบบนั้น เพราะมันเป็นจุดขายที่แพลตฟอร์ม gig economy เจ้าใหญ่ๆ อย่าง Uber และ Task Rabbit ต่างเอามาใช้โฆษณาหาพาร์ทเนอร์ (ซึ่งก็คือคนขับหรือคนรับจ้างนั่นแหละ)

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่อยากเปลี่ยนมารับงาน gig จะยอมลาออกจากงานประจำมาตามหาอิสรภาพแห่งการทำงานกันทุกคน ด้วยค่านิยมทางสังคม บวกกับภาระ และข้อผูกมัดอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้คนเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ตามใจคิด

ถ้าอย่างนั้น เหตุผลที่คนออกมาเป็น gig คืออะไร

สรุปเหตุผลหลักที่คนเลือกมาทำงานในรูปแบบ gig ได้อยู่ 3 ข้อ

1.บริการจัดการเวลาได้เอง

การบริหารเวลาได้เองนี้ถือเป็นจุดเด่นของการทำงานในรูปแบบ gig ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ คุณก็สามารถแบ่งเวลาทำงานได้ตามใจตัวเอง อยากเริ่มทำงานตั้งแต่เช้า หรืออยากตื่นสายแล้วค่อยมานั่งปั่นงานตอนดึกๆ แต่จุดเด่นข้อนี้ก็อาจทำให้ชีวิตคุณพังได้เช่นกัน ถ้าจัดสรรเวลาไม่เป็น หรือแยกชีวิตที่บ้านกับชีวิตทำงานไม่ออก

2. ได้ทำงานจากความชอบ และความสุข

ความชอบและความสุขนี้หมายรวมไปถึงแพสชัน (passion) ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ความหลงใหล ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย หลายคนจะยอมทิ้งงานประจำเงินเดือนสูงๆ เพื่อออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีแพสชันกับมัน

3. เลือกงานได้เอง

ขอบเขตของการเลือกนั้นมีทั้งเลือกงานที่หลากหลายจะได้มีความรู้มีประสบการณ์รอบด้าน เลือกงานให้ไม่ซ้ำไม่จำเจเพื่อให้ไม่เบื่อ เลือกงานที่ท้าทายเพื่อพัฒนาฝีมือได้เรื่อยๆ เลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข นี่อาจเป็นสิ่งที่งานประจำให้กับพนักงานไม่ได้ แต่ระดับความเลือกเองก็มีผลต่อจำนวนงานด้วย

ไม่มีข้อจำกัดรายได้ อายุ และเพื่อนร่วมงาน

อีก 2 เหตุผลที่ทำให้ gig ได้รับความสนใจ คือ การไม่มีข้อจำกัดด้านรายได้ ได้ค่าตอบแทนตามจำนวนงานหรือคุณภาพงานที่ทำ เรื่องที่สองคือ ไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ จากผลสำรวจ gig worker หลายคนก็อยู่ในวัยเกษียณหรือเข้าใกล้วันทำบุญแซยิดกันทั้งนั้น คนรับงาน gig จึงไม่มีความกังวลว่าเกษียณแล้วไปไหนดี ขอแค่มีทักษะต่างๆ ตรงตามเงื่อนไขของงานที่จะรับจ้างก็พอแล้ว และไม่ต้องกังวลเรื่องเพื่อนร่วมงาน จบเป็นชิ้นๆ หมดปัญหาดราม่า

เหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมีพื้นฐานมาจากความต้องการมีอิสระในการเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกเวลาทำงาน เลือกงาน เลือกระดับรายได้ หรือแม้แต่เลือกเพื่อนร่วมงานที่ตรงกับความพอใจของเรา จึงอาจกล่าวได้ว่า ในยุคนี้ที่ใครๆ ต่างบอกว่าเป็นยุคแห่งการปรับแต่งทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการ (customization) การปรับแต่งที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงสินค้าหรือประสบการณ์อีกต่อไป แต่เดินทางมาถึงการปรับแต่งการทำงานตามใจเราแล้วเช่นกัน

ถึงตรงนี้แล้ว ใครอยากเป็น gig บ้าง ยกมือขึ้น

source: EIC SCB

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา