ขยายตลาดเข้าสู่ “ไลฟ์สไตล์” ความท้าทายครั้งใหญ่ของ “GoPro”

พูดถึงแบรนด์ “GoPro” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่บุกเบิกกล้องในเซ็กเมนต์ Action Camera ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย จนในปัจจุบันมีหลายแบรนด์ลงมาจับตลาดนี้เยอะมาก ทั้งแบรนด์กล้องรายใหญ่ และแบรนด์จากประเทศจีน โดนเทรนด์นี้มาจากต่างประเทศ เป็นกล้องสำหรับบุคคลที่ชื่นชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ต่างๆ ทั้งกีฬา แข่งรถ ดำน้ำ ทำให้กลายเป็นจุดแข็งของ GoPro ไปโดยปริยาย

ไม่ต้องเป็นฮีโร่ ใครก็ใช้ GoPro ได้

จากจุดแข็งในการทำตลาดก็กลายเป็นจุดอ่อนของ GoPro เช่นกัน ด้วยการสื่อสาร และการใช้งานค่อนข้างจำกัดเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบแอดเวนเจอร์ ทำให้การทำตลาดแคบ และมีแต่ฐานลูกค้ากลุ่มเดิมๆ

โจทย์ใหญ่ที่ GoPro ได้กลับมาแก้เกมก็คือเรื่องการทำตลาด และการสื่อสารที่เน้นในเรื่องของ “ไลฟ์สไตล์” มากขึ้น ไลฟ์สไตล์ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องกีฬา ท่องเที่ยว กิน ดื่ม และอีกสารพัด โดยที่ได้พยายามเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ในการพูดที่ไม่ได้เน้นคำว่า “Hero” มากนัก เพราะผู้บริโภคเข้าใจคำว่า Hero ว่าต้องเป็นคนใช้ GoPro เล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมจนชำนาญ

การปรับการสื่อสารนี้ได้เห็นมา 2-3 ปีแล้ว ตั้งแต่ระดับโกลบอล รวมถึงในประเทศไทยเองก็ได้ทำการปรับเช่นกัน เพราะต้องการขยายฐานกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น ไม่ได้จับแค่กลุ่มลูกค้ากลุ่มเดิมๆ และต้องการให้คนรู้จัก GoPro มากขึ้น

ณัฐพล ปัทมพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมนทาแกรม จำกัด

ณัฐพล ปัทมพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมนทาแกรม จำกัด เล่าให้ฟังว่า ในตอนแรกโพซิชั่นของ GoPro เป็นกล้องแอคชั่น คาเมร่าเจาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบกิจกรรมแอดเวนเจอร์ต่างๆ แต่ 2-3 ปีมานี้ได้เริ่มปรับจุดยืนให้เป็นกล้องสำหรับไลฟ์สไตล์ทั่วไป เหมาะกับทุกคนมากขึ้น เพราะต้องการให้คนจดจำแบรนด์เหมือนแบรนด์กล้องใหญ่ๆ อย่างแคนนอน นิค่อน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเหมือนที่ผ่านมา

การทำกิจกรรมการตลาดจึงเน้นเรื่องเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนมากขึ้น หลากหลายทั้งท่องเที่ยว กีฬา ทำให้ Simple ใครๆ ก็ใช้ได้

แค่ไลฟ์สไตล์ไม่พอ แบรนด์ต้องคูลด้วย

นอกจากการสื่อสารที่ขยายกลุ่มเป้าหมายแล้ว โจทย์อีกอย่างหนึ่งก็คือการทำแบรนด์ให้ “คูล” มากขึ้น ผ่านช่องทางการขายซึ่งเป็นจุดที่ลูกค้าพบเห็น GoPro ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยจะเน้นเข้าร้านเฉพาะทางมากขึ้น เช่น ร้านขายมอเตอร์ไซต์ รถยนต์ ณัฐพลบอกว่าเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ เมื่อ GoPro ไปวางที่ช่องทางเหล่านี้ทำให้แบรนด์ดูคูลขึ้น

จากเดิมที่มีวางจำหน่ายที่ร้านเชนสโตร์อย่างพาวเวอร์ บาย ร้านกล้องถ่ายรูป และร้านเฉพาะทางต่างๆ มีดิสทริบิวเตอร์รวมกันทั้งหมด 400 เอาท์เล็ต

อย่างไรก็ตาม GoPro ยังเป็นพระเอกหลักของเมนทาแกรม มีสัดส่วนรายได้ถึง 80% จากภาพรวมบริษัทที่มีแบรนด์อื่นๆ ในเครือ 20 แบรนด์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มกีฬา แก็ดเจ็ต และอิเล็กทรอนิกส์ มีรายได้รวมทั้งกลุ่ม 650 ล้านบาท เติบโต 5-10% ในปีนี้ได้ตั้งเป้ารายได้ 800 ล้านบาท

ในปีนี้ได้เปิดตัว GoPro HERO6 Black เป็นรุ่นใหม่ล่าสุด มีฟีเจอร์ที่ล้ำกว่ารุ่นเกิมคือ GoPro HERO5 ได้ตั้งเป้ายอดขายของ GoPro HERO6 Black 10,000 เครื่อง คิดเป็น 25-30% อีก 70% เป็น GoPro HERO5

และมีการคาดการณ์ตลาดแอคชั่น คาเมร่ามีมูลค่า 2,000 ล้านบาท มีจำนวนยอดขาย 1 แสนเครื่อง มีการเติบโต 20% โดย GoPro มีส่วนแบ่งตลาดราว 50%

สรุป

GoPro เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งในตลาดแอคชั่น คาเมร่า แต่เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้ยังจำกัดในวงแคบ ทำให้ต้องขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น จึงต้องสื่อสารไปยังเรื่องไลฟ์สไตล์ ทั้งเรื่องกีฬา ท่องเที่ยว ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องกิจกรรมแอดเวนเจอร์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา