คุณคิดว่ากาแฟแก้วละ 500 บาท ต่างจากกาแฟทั่วไปยังไง?
‘NANA Coffee Roasters’ เป็นร้านกาแฟพรีเมียมราคาเริ่มต้น 130 บาท และมีอายุมาเกือบๆ 20 ปีแล้ว
แน่นอนว่า Brand Inside ไม่พลาด ไปสอบถามเรื่องราวความสำเร็จจาก ‘วรงค์ ชลานุชพงศ์’ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมาฝากทุกคน
เส้นทางการเติบโตของ NANA Coffee Roasters จะเป็นอย่างไร มาดูกันเลย
จากคนไม่ทานกาแฟ สู่เจ้าของร้านกาแฟ 100 ล้าน

วรงค์เล่าว่า เดิมทีตนเคยทำธุรกิจร้านถ่ายรูปมาก่อน โดยมีหน้าร้านถึง 9 สาขา แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนเปลี่ยนจากกล้องฟิล์มเป็นดิจิทัล ยอดขายก็ตก จนต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะทำอะไรเพิ่มดี
ตอนนั้น พนักงานคนหนึ่งของวรงค์เสนอว่า เราลองมาขายกาแฟสดกันดีไหม ซึ่งเธอก็คือ ‘กานดา โทจำปา’ หรือหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง NANA Coffee Roasters นั่นเอง
แต่กว่าจะเป็น NANA Coffee Roasters แบบที่ดังอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคิดด้วยว่า เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่ฮิตดื่มกาแฟเท่าปัจจุบันเลย
วรงค์และกานดาเองก็เป็นตัวอย่างของคนไทยที่ไม่ดื่มกาแฟ ดังนั้น สิ่งที่ทั้งคู่ตัดสินใจทำคือ ไปเรียนชงกาแฟเสียก่อน ซึ่งวรงค์ยอมรับว่า พวกเขาล้มลุกคลุกคลานกันมามากใน 10 ปีแรก
แล้วปีที่ 11 เจอแสงสว่างได้ยังไงล่ะ?
วรงค์เผยว่า สาขาแรกของ NANA Coffee Roasters เปิดขายอยู่แถวๆ นนทบุรี และใช้ชื่อว่า NANA Coffee เฉยๆ แต่ภรรยาของเขาก็บอกว่า ถ้าอยากให้คนรู้จัก ต้องมาเปิดสาขาในกรุงเทพมหานครสิ
และนั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายๆ คนรู้จัก NANA Coffee ซึ่งพอย้ายร้านเข้ามาในกทม. วรงค์ก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น NANA Coffee Roasters ที่ปัจจุบันมีสาขาอยู่ 5 แห่ง แถมมีแบรนด์ลูกที่เอาไว้ขายแฟรนไชส์อย่าง ‘Harudot by NANA’ อีก 7 ที่
นอกจากแบรนด์แม่และแบรนด์ลูกแล้ว ธุรกิจในเครือ NANA Coffee Roasters ยังรวมถึงการคั่วกาแฟส่งให้ร้านค้าทั่วประเทศ และขายเมล็ดกาแฟด้วย ทำให้ร้านของเขาสามารถทำรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทในปีที่แล้วเลย
จะไม่ยอมให้อะไรมาลดคุณภาพรสชาติกาแฟของคุณไป

คุณรู้หรือไม่ว่า เมนูที่แพงที่สุดของ NANA Coffee Roasters อยู่ที่ราวๆ 500 บาท?
วรงค์อธิบายว่า ราคานี้ ลูกค้าสามารถระบุแหล่งปลูกกาแฟ สายพันธุ์ วิธีการแปรรูป และเลือกคนชงที่เป็นแชมป์บาริสต้าได้ ซึ่งปัจจุบัน ทางร้านมีพนักงานมือรางวัลอยู่ 3 คน คือ
- แชมป์ World Siphonist Championship 2018
- แชมป์ Barista Innovation Challenge 2024
- แชมป์ National Brewer’s Cup 2024
เรียกได้ว่าต่อให้ราคาจะสูงแค่ไหน แต่ก็คงคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไปจริงๆ
NANA Coffee Roasters นิยามตนเองว่าเป็น ‘ร้านกาแฟที่ไม่เคยต่อรอง’ ในเรื่องคุณภาพ เนื่องจากทางร้านจะคัดสรรเมล็ดที่ได้มาตรฐานสูงสุด โดยไม่ลังเลเรื่องการเพิ่มต้นทุนการผลิตแม้แต่น้อย
นอกจากนั้น NANA Coffee Roasters วางโพสิชันไว้ว่า ตนเองไม่ใช่แค่ร้านกาแฟหรือคาเฟ่ แต่เป็น ‘นักเล่าเรื่องกาแฟ’ ที่เข้าใจกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และใส่ใจทุกรายละเอียดความต้องการของนักดื่มอย่างแท้จริง
ทางร้านยังประกาศไว้บนเว็บไซต์อีกว่า “จะไม่ขอประนีประนอมให้กับปัจจัยใดๆ ที่จะส่งผลให้กาแฟในถ้วยโปรดของคุณนั้นเสียรสชาติไป”
กาแฟแพงกระทบตลาดแน่ แต่หลายเจ้าไม่ยอมขึ้นราคา เพราะอยากรักษาฐานลูกค้า
ช่วงหลังๆ มานี้ คงเคยได้ยินข่าวการขึ้นราคาของกาแฟ ชา และโกโก้กันอยู่บ้าง เนื่องจากต้นทุนแพงขึ้น
วรงค์บอกว่า กาแฟมีราคาสูงที่สุดในรอบ 50 ปี และตลาดกาแฟได้รับผลกระทบหนักตั้งแต่กลางปี 2024 แล้ว โดยตนเชื่อว่า หากยังไม่ปรับราคา บางคั่วคงเริ่มขาดทุนปีนี้
อย่างไรก็ตาม วรงค์ยังรู้สึกแปลกใจว่า ณ ตอนนี้ ร้านกาแฟหลายๆ เจ้ายังไม่ขึ้นราคาเลย และต่อให้ปรับราคาแล้ว ก็ปรับเพียงเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นว่า แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลง แต่เนื่องจากทุกคนยังอยากรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ จึงยอมคงราคาแบบเดิมอยู่
“เนื่องจากว่าเศรษฐกิจตอนนี้มันอ่อนไหวมาก คนเซนซิทีฟมาก ถ้าปรับแค่บาทเดียว ลูกค้าจะไม่รู้สึกอะไร แต่ร้านกาแฟไม่ปรับแค่บาทเดียวอยู่แล้ว ถ้าจะปรับก็ปรับ 5 บาท 10 บาท ซึ่งผมว่าลูกค้ามีงอน” วรงค์อธิบาย
ด้าน NANA Coffee Roasters ก็คงไม่ขึ้นราคาเร็วๆ นี้เช่นกัน เนื่องจาก Economy of Scale สามารถช่วยตรึงราคาไว้ได้ และทางแบรนด์ซื้อกาแฟตุนไว้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว ทำให้เชื่อว่าภายในมิถุนายน 2025 สาขาต่างๆ จะยังมีกาแฟใช้อยู่
นี่คือยุคของกาแฟสเปเชียลตี้

ต่อให้กาแฟแพงแค่ไหน แต่วรงค์ก็บอกว่า ‘กาแฟสเปเชียลตี้’ ยังคงเป็นเทรนด์มากๆ และคิดว่านี่คือยุคของมัน เนื่องจากสามารถเพิ่มมูลค่าให้กาแฟ มีการเล่าถึงที่มาที่ไป ทำให้สุดท้ายผลประโยชน์จะตกอยู่กับทั้งห่วงโซ่อุปทาน
เอาง่ายๆ คือความแมสของกาแฟสเปเชียลตี้จะส่งผลดีต่อทุกคนตั้งแต่ต้นน้ำอย่างคนปลูก ยันผู้บริโภคเลย
“ผมว่ากาแฟเป็นเครื่องดื่มที่มีมาหลายร้อยปี ไม่ว่าจะยุคไหนก็ยังคงมีเสน่ห์ เนื่องจากตัวกลิ่นและรสชาติของเขามีการพัฒนาไปทุกยุคสมัย เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาชาไทยเย็นมีกระแสแรง แล้วปีที่ผ่านมาก็มีชาเขียว แต่ยังไง กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั้งโลกอยู่ดี” วรงค์กล่าว
ปีนี้ NANA Coffee Roasters มีแพลนที่จะขยายสาขา Harudot ไปที่ ซีคอน บางแค ส่วนปีหน้าก็จะเปิดแบรนด์แม่เพิ่มที่ ซีคอน ศรีนครินทร์
วรงค์กล่าวว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ NANA Coffee Roasters คือการเป็นกาแฟที่อยู่ในดวงใจของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบเครื่องดื่มหรือแคปซูลก็ตาม
ในส่วนของยอดขาย เขาบอกว่า ตนไม่ค่อยตั้งเป้าเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากอยากเน้นการทำสินค้าใหม่ๆ มากกว่า
เห็นได้เลยว่า ความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่เพราะกาแฟอร่อยเท่านั้น แต่ทัศนคติในการอยากมุ่งมั่นพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ก็มีส่วนทำให้ NANA Coffee Roasters เป็นร้านกาแฟที่ครองใจลูกค้าหลายคน
บทความหน้า Brand Inside จะพาทุกคนไปรู้จักกับแบรนด์ไทยเจ้าไหนอีก รอติดตามได้เลย
- วิธีคิด Phed Phed ขายอาหารอีสานยังไง ให้รายได้ทะลุ 100 ล้าน
- ประเทศนี้มี ‘ร้านกาแฟ’ เปิดใหม่วันละ 1.33 ร้าน Roots ทำยังไงถึงมัดใจลูกค้าได้
ที่มา: NANA Coffee Roasters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา