วิกฤตครูหมดไฟ งานหนัก งานเหนื่อย เงินน้อย นักเรียนหมดใจ ไม่อยากเรียน

หากคุณคิดว่าตนเองกำลังประสบภัยทางการศึกษา ไม่ต้องห่วงไปนะ เพราะระบบการศึกษาก็กำลังประสบภัยเหมือนกัน

education

Brand Inside มีโอกาสพูดคุยกับ ‘Kahoot!’ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มีผู้เข้าร่วมใช้งานกว่า 11 พันล้านครั้งจาก 200 กว่าประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย จึงอยากแบ่งปัน ‘วิกฤตการศึกษา’ ณ ตอนนี้มาให้ทุกคนได้อ่านกัน

คุณครูหมดไฟ นักเรียนหมดใจ

ภาพจาก pixabay.com

‘Meira Koponen’ ผู้จัดการการออกแบบการเรียนรู้ของ ‘Kahoot!’ เผยว่า ปัจจุบัน การศึกษาทั่วโลกกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก โดยหลักๆ แล้ว สามารถจำแนกปัญหาออกเป็น 2 ประเด็นคือ

  1. คุณครูหมดไฟ

จากงานวิจัย นับตั้งแต่ปี 2015-2022 อัตราการลาออกของคุณครูระดับชั้นประถมเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และราวๆ 9% ของคุณครูทั่วโลกมีแนวโน้มลาออกภายใน 5 ปีแรกของการทำงาน

Koponen เล่าว่า ต้นตอหลักของปัญหาดังกล่าวคือ จำนวนคุณครูไม่สอดคล้องกับจำนวนนักเรียน ทำให้ภาระงานหนักขึ้น มีเวลาเตรียมการเรียนการสอนน้อยลง สวนทางกับเงินเดือนอันน้อยนิด แถมเด็กหลายๆ คนก็ยังมีพฤติกรรมไม่น่ารักอีก

สำหรับประเทศไทย เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับตำแหน่ง ‘ครูผู้ช่วย’ หรือคุณครูที่บรรจุแล้วแต่ยังไม่มีประสบการณ์คือ 15,050 บาท ส่วนคุณครูอัตราจ้าง ตัวเลขอาจต่ำถึง 4,000 บาทเลยด้วยซ้ำ

งานเยอะ เงินน้อย เหนื่อยกาย แล้วยังเหนื่อยใจ ดังนั้น มันจึงไม่แปลกเท่าไรที่ครูบาอาจารย์ทั่วโลกจะพากันหมดไฟ ไม่อยากสอนอีกต่อไปแล้ว

  1. นักเรียนหมดใจ

สำหรับนักเรียน Koponen กล่าวว่า ความวิตกกังวล ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของโลกกำลังเป็นภาระอันหนักอึ้งในใจเยาวชน

ด้วยเหตุนี้ จำนวนนักเรียนขาดเรียนหรือไม่มีส่วนร่วมในชั้นเรียนจึงเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดย 19% ของเด็กวัย 15 ปีเผยว่า ‘ความเบื่อหน่าย’ คือปัจจัยหลักที่ทำให้ตนไม่อยากเข้าเรียน

ฝั่งไทยเองก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะราวๆ 1 ใน 7 ของเด็กไทยอายุ 10-19 ปี มีแนวโน้มป่วยทางจิต และถ้าเจาะไปที่เยาวชนไทยวัย 15 ปี จะพบว่า 20% รู้สึกโดดเดี่ยวในโรงเรียน ขณะที่ 18% รู้สึกแปลกแยกจากเพื่อนๆ 

Koponen อธิบายว่า การมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลการเรียนด้วย และหากปัญหาด้านสุขภาพจิตของเด็กๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข เกรดพวกเขาก็จะแย่ลง จนอาจหลุดออกไปจากระบบการศึกษาในที่สุด

แค่ช่วงปี 2019-2023 ประเทศไทยก็มีเด็กชั้นอนุบาล 1 ถึงมัธยม 6 ที่ ‘ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษา’ หรือ ‘หลุดจากระบบการศึกษา’ กว่า 1.02 ล้านคนแล้ว เราคงไม่อยากเห็นตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นหรอก จริงไหม?

ไม่อ่อมๆ Kahoot! เสนอตัวช่วยบูสต์เอเนอร์จี้คุณครูและนักเรียน

kahoot

แม้ปัญหาจะดูรุนแรงขนาดไหน แต่ Koponen เชื่อว่า สำหรับยุคนี้ หากคนรู้จักใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธี ปัญหาทางการศึกษาจะสามารถแก้ได้ โดย Kahoot! เองก็พร้อมสนับสนุนคุณครูและนักเรียนทุกคนให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีไฟมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยเองก็เช่นกัน เพราะเราถือเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับ Kahoot! ไม่น้อย โดยตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมใช้งานถึง 24 ล้านคนเลย  

จริงๆ แล้ว Kahoot! ไม่ใช่แค่แพลตฟอร์มสำหรับสร้างเกมถาม-ตอบในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังมีฟังก์ชันอำนวยความสะดวกทั้งสองฝ่ายอีกมากมาย เช่น

  • ฟีเจอร์ ‘Self-Study’ ที่มีทั้งแฟลชการ์ด Study Group ร่วมกับผู้ใช้งานคนอื่นๆ พร้อมรายงานติดตามผลการเรียนรู้รายสัปดาห์ 
  • เปลี่ยนโน้ตหรือไฟล์เนื้อหาธรรมดาๆ ให้เป็นเกม Kahoot! แฟลชการ์ด หรือข้อสอบในไม่กี่วินาทีด้วย AI ของแพลตฟอร์ม
  • จากความร่วมมือระหว่างสององค์กร ผู้ใช้งานสามารถสร้างคู่มือการเรียนรู้หรือเนื้อหาการนำเสนอ จากการดึงบทความบน ‘Wikipedia’ ที่น่าเชื่อถือมาใช้ได้เลย 

Koponen อธิบายว่า นอกจากฟีเจอร์ของ Kahoot! จะช่วยประหยัดเวลาในการเตรียมสื่อการเรียนการสอนของคุณครูแล้ว ยังมีงานวิจัยการันตีอีกว่า แพลตฟอร์มนี้สามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมในห้องเรียนได้จริงๆ โดย

  1. เพิ่มแรงบันดาลใจในการเรียน 
  2. ลดความวิตกกังวลของเด็กๆ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้แบบสนุกสนาน
  3. สร้างวัฏจักรการเรียนรู้เชิงบวก ให้นักเรียนรู้สึกมั่นใจและมีผลการเรียนที่ดีขึ้น

เป็นเรื่องดีที่ Kahoot! ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือปัญหาคุณครูหมดไฟและนักเรียนหมดใจ แต่การศึกษาจะดียิ่งขึ้นไปอีก หากผู้นำของทุกๆ ประเทศ เห็นมันเป็นวิกฤตที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

ที่มา: SDG MOVE, โรงเรียนบ้านตือระ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา