Un-retiring หรือ การจ้างผู้เกษียณอายุกลับมา คือ หนึ่งในเทรนด์ที่กำลังกลับมาของโลกการทำงานไทย โดย ‘โรเบิร์ต วอลเทอร์ส’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดหางานในประเทศไทย บอกว่า ตอนนี้บริษัทในประเทศไทยสนใจอยากจะจ้างคนวัยเกษียณกลับมาทำงานมากขึ้น
ไม่ใช่ในรูปแบบของพนักงานประจำ แต่เป็น ‘งานชั่วคราว’ หรือ ‘โปรเจ็กต์ระยะสั้น’ ที่มีระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 2 ปี
‘ปุณยนุช ศิริสวัสดิ์วัฒนา’ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของโรเบิร์ต วอลเทอร์ส อธิบายว่า บริษัทจำนวนมาก เริ่มหันมาจ้างงานแบบ ‘ชั่วคราว’ มากขึ้น ทั้งเพื่อช่วยลดต้นทุนหรือทดแทนช่วงที่ยังหาคนมาทำตำแหน่งประจำไม่ได้
โดยเฉพาะในคน ‘วัยเกษียณ’ ที่มีประสบการณ์ทำงานและทักษะชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ใช่แค่ทำให้องค์กรมีคนทำงานไปก่อน แต่ยังทำให้บริษัทมี ‘ทีมของคนหลายรุ่นหลายวัย’ ได้มุมมองหลากหลาย นำไปสู่การแก้ปัญหา คิดเชิงนวัตกรรม และประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมที่เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานเองก็บอกว่า ประเทศไทยมีแผนจะขยายอายุเกษียณของทั้งภาครัฐและเอกชนจาก 60 ปีไปเป็น 65 ปีในอนาคตอันใกล้
นอกจากเรื่องการจ้างงานพนักงานวัยเกษียณมากขึ้นแล้ว อีกประเด็นที่ทาง ‘โรเบิร์ต วอลเทอร์’ บอกว่า เป็นเทรนด์ในไทย คือ บริษัทในไทยกำลังมองหา ‘ผู้นำ’ แบบที่นำด้วย ‘หัวใจ’ เพราะพนักงาน 70% เชื่อว่าความเข้าอกเข้าใจ (empathy) คือทักษะที่สำคัญที่สุดของผู้นำ
อีกเรื่อง คือ ในไทย ‘วัฒนธรรมดูแลผู้สมัครงาน’ อย่างดี ช่วยให้องค์กรดึงดูดคนเก่งได้ในตำแหน่งที่หาคนยากๆ ได้มากขึ้น เพราะคนไทยมองว่าการให้เกียรติและสร้างความสัมพันธ์ที่ดี คือ หัวใจสำคัญของธุรกิจด้วย
- ทั่วโลกเริ่มปรับ ‘อายุเกษียณ’ รับมือสังคมสูงวัย ‘ไทย’ ใช้เหมือนเดิมมาตั้งแต่ปี 2494
- แสนสิริ ขยายอายุเกษียณพนักงาน จาก 60 เป็น 65 ปี ส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะ เตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา