นาทีนี้ ถ้าใครไม่เคยได้ยินคำว่า “ความยั่งยืน หรือ Sustainability” ถือว่าตกเทรนด์ เราจะเห็นหลายบริษัทชั้นนำทั้งในไทยและระดับโลกออกมาประกาศแผนกลยุทธ์ดำเนินนโยบายที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และประเทศชาติมากขึ้น
ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะเป็นส่วนหนึ่งจากการประชุมในเวทีโลกที่ตกลงร่วมกันไว้ว่าจะพยายามลดการปล่อยก๊าซ เรือนกระจกที่เป็นเหตุให้อากาศแปรปรวนและเกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งในปัจจุบัน
นี่คือส่วนหนึ่งจากความพยายามในการทำให้ประเทศก้าวสู่จุดหมายที่ปฏิบัติภารกิจเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจผู้บริหารผ่านหลักสูตร Net Zero CEO
Net Zero CEO เป็นหลักสูตรระดับผู้บริหารระดับสูง ที่จัดโดยสถาบันคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (CBiS) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกสิกรไทย นำเสนอองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีกรณีศึกษาจากกว่า 10 องค์กรชั้นนำให้ได้เรียนรู้ และยังมี Workshop ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงอีกด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลักสูตรนี้เกิดขึ้น มาจากการที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และการสร้างความเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่นั้นมักเป็นไปในลักษณะ Tone from the top ที่ผู้นำต้องเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จึงเป็นสาเหตุให้หลักสูตร Net Zero CEO ถูกพัฒนาขึ้นมา โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารองค์กรระดับแถวหน้าทั้งในประเทศ ต่างประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชนมากมายมาร่วมเป็นวิทยากร
เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ทันสมัยและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดจากทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายพันธมิตร เกิดเป็น Ecosystem ที่เข้มแข็ง และผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศได้
บทความนี้จะสรุป 4 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้จากหลักสูตร Net Zero CEO ให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ดังนี้
1. ต้องเข้าใจผลกระทบทางเศรษฐกิจและกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ผู้นำระดับโลกพยายามหาทางแก้ปัญหากันมาอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็นำไปสู่การตั้งเป้าหมายที่จะร่วมมือกันช่วยลดคาร์บอน
หากว่ากันไปตามหลักเศรษฐศาสตร์ การสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เรื่องราคาเข้ามาจัดการ รัฐบาลทั่วโลกใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอน เช่น 1) กลไก Carbon Tax บริษัทที่ปล่อยคาร์บอนเยอะ ไม่ลงทุนลดคาร์บอน ก็จะต้องจ่ายค่าปรับ เสียภาษีให้รัฐบาล
2) กลไก Cap and Trade โดยการจำกัดปริมาณในการปล่อยคาร์บอน (Cap) หากบริษัทไหนต้องการปล่อยคาร์บอนเกินกว่ากำหนด ก็ต้องไปซื้อสิทธิการปล่อยคาร์บอนจากบริษัทที่ปล่อยน้อยและมีสิทธิเหลือ (Trade) ทำให้คาร์บอนมีราคา และในที่สุดก็ทำให้กลไกตลาดเกิดขึ้น
Carbon Tax เริ่มใช้แล้วจริงหรือยัง?
ในเดือน มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ครม.ได้อนุมัติหลักการเก็บภาษีคาร์บอนเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่จะเริ่มใช้ระบบ Carbon Tax โดยในระยะแรกจะใช้วิธีการคำนวณร่วมกับภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และจะยังไม่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน แต่เชื่อว่า การเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้คนเริ่มตระหนักถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการปล่อยคาร์บอน
ส่วนใครที่ทำธุรกิจกับประเทศที่อยู่ในโซนยุโรปก็คงจะรู้จักกับ CBAM หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้สินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูงเข้าไปค้าขายใน EU นั่นแปลว่าในอนาคตไม่ว่าจะทำธุรกิจในไทยหรือต่างประเทศหากยังสามารถไม่ลดการปล่อยคาร์บอน ธุรกิจของคุณก็จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น นั่นก็ทำให้แข่งขันยาก และอาจถูกตัดออกจาก Supply Chain เพราะคู่ค้าจะไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกับคุณได้
2. ต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจใหม่
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ส่งผลแค่สิ่งแวดล้อม แต่เริ่มกระเทือนเศรษฐกิจทั่วโลก ผลกระทบเริ่มปรากฏให้เห็นชัดขึ้น เช่น ราคาช็อกโกแลตที่พุ่งจากผลผลิตโกโก้ที่ตกต่ำ หรือไร่องุ่นที่เปลี่ยนสภาพจนไม่เหมาะปลูกไวน์ในพื้นที่เดิม
แม้โลกจะพยายามลดการปล่อยคาร์บอน แต่ผลกระทบของโลกร้อนวันนี้เกิดขึ้นแล้ว จะยังเกิดขึ้นต่อไปอีกหลายสิบปี การ “ปรับตัว” (Adaptation) จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นพอ ๆ กับการลดการปล่อย ธนาคารโลกคาดว่า หากไม่เร่งปรับตัว ประเทศรายได้น้อยอาจสูญเสีย GDP สูงถึง 12% ภายในปี 2050
ประเทศไทยเองก็ไม่ต่าง หากโลกร้อนเกิน 2°C กรุงเทพฯ อาจเผชิญน้ำท่วม และระบบเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนจะต้องเปลี่ยนแปลง
ขณะเดียวกัน หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Apple, Walmart เริ่มคัด “คู่ค้า” ที่ไม่มีแผนลดคาร์บอนออกจาก supply chain เพราะการไม่ปรับตัวของคุณ อาจกลายเป็น “ต้นทุนความเสี่ยง” ของเขา\
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สัญญาณอันตราย แต่คือ “เทรนด์” ที่ชี้ว่าโลกธุรกิจกำลังเคลื่อนไปในทิศทางใหม่
คำถามคือ: เราจะเริ่มปรับตัวยังไง?
- มองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ไม่ใช่แค่ CSR
- ประเมินความเสี่ยงจาก Climate Change ในธุรกิจตนเอง ทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ติดตามกฎระเบียบสากล เช่น CBAM หรือการรายงานคาร์บอน
- เริ่มสื่อสารแผน Net Zero หรือการลดคาร์บอนให้คู่ค้าและลูกค้าเห็นภาพ
โลกกำลังเปลี่ยน และธุรกิจที่รู้เท่าทัน ยืดหยุ่น และปรับตัวได้เร็ว จะมีโอกาสเติบโตในยุคเศรษฐกิจสีเขียว
3. ต้องรู้จักเครื่องมือด้านการเงิน (Green Financial Tools)
การเงินไม่ใช่แค่เรื่องของผลตอบแทน แต่กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการต่อสู้กับวิกฤตโลกร้อน ในเวทีโลกอย่าง Paris Agreement ทุกประเทศเห็นตรงกันว่า “เงินทุนต้องไหลไปสู่โครงการที่ลดคาร์บอน” ถ้ายังลงทุนในสิ่งที่ทำลายโลก เราก็ไม่มีวันชนะวิกฤตนี้ได้
ธนาคารกสิกรไทยจึงประกาศ Net Zero commitment ผลักดันลูกค้าให้เปลี่ยนผ่านสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าเงินทุนจะไหลไปสู่โครงการสะอาด พร้อมตั้งเป้าสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวรวม 2 แสนล้านบาท พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่าง Green Bond/loan, Sustainability Loan และ Sustainability-linked Bond/Loan เป็นต้น
อย่าง Sustainability-linked bond/loan หรือ ตราสารหนี้/เงินกู้ที่ผูกผลตอบแทนกับเป้าหมายความยั่งยืน ถ้าบริษัทลดคาร์บอนหรือบรรลุเป้าหมาย ESG ได้จริง ดอกเบี้ยจะถูกลง แต่ถ้าทำไม่สำเร็จ ก็ต้องจ่ายแพงขึ้น เหมือนเครื่องมือจูงใจให้ธุรกิจทำดีต่อโลก ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางการเงินแบบใหม่ ที่เพิ่งเริ่มนำมาใช้จริงในไทยไม่เกิน 3- 4 ปีที่ผ่านมา
นี่คือการเงินยุคใหม่ที่ไม่วัดแค่กำไร แต่ให้รางวัลกับความรับผิดชอบต่ออนาคตอีกด้วย
4. ต้องมองเทคโนโลยีเป็นโอกาส ไม่ใช่ภาระต้นทุนเทคโนโลยี คือ “โอกาสทางธุรกิจ” ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายระยะยาว และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน วันนี้ เทคโนโลยีอย่าง โซล่าเซลล์, แบตเตอรี่, รถ EV, และ IoT มีราคาถูกลงมาก และพร้อมใช้งานเชิงพาณิชย์ในหลายระดับ ธุรกิจไทยควรเริ่มจากการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะกับบริบทตัวเอง
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยี Net zero วันนี้ยังไม่ได้ mature มาก และผู้นำอยู่ในเอเชีย เช่น จีน และอินเดีย ที่ขึ้นแท่นเป็นผู้นำโลกด้านโซล่าเซลและแบตเตอรี่ ดังนั้น ถ้าไทยสร้างเทคโนโลยีในประเทศอย่าง CCUS (Carbon Capture Utilization and Storage) ได้ก่อน เราก็จะไม่ใช่แค่ผู้ใช้เทคโนโลยี แต่ยังมีโอกาสเป็น “ผู้พัฒนา” ได้ โดยปัจจุบัน แม้ต้นทุนยังสูง แต่เทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มมีการลงทุนจริงในไทย เช่น โครงการ Arthit CCS ของ PTTEP ซึ่งเทคโนโลยี CCUS คือหัวใจสำคัญของการลดคาร์บอนในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และพลังงาน หากไม่มีเทคโนโลยีนี้ โลกจะไปไม่ถึง Net Zero
เทคโนโลยี Net Zero จึงไม่ได้แค่ช่วยเปลี่ยนธุรกิจ แต่ยังเปิดโอกาสให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำโลกและสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่ทำให้ประเทศเติบโตและแข่งขันได้ในเวทีโลก
ภายในหลักสูตร Net Zero CEO นอกจากจะมีวิทยากรแถวหน้าของไทยมาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้าอบรมแล้ว ก็ยังมีกรณีศึกษาจากบริษัทชั้นนำระดับประเทศ เช่น HomePro และ Thai Union มาแชร์ประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ
HomePro : เปลี่ยนธุรกิจให้ Green มากยิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจยั่งยืน ผ่านโมเดล Closed Loop Circularity สู่เป้าหมาย Net Zero
ตัวอย่างจาก HomePro ที่หันมาให้ความสำคัญและมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน ผ่านโมเดล Closed Loop Circularity ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างครบวงจร
โดยนำสินค้าที่ไม่ใช้งานแล้วจากบ้านลูกค้าโฮมโปร มาจัดการอย่างถูกวิธีแบบครบวงจร ยั่งยืน และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และผลิตใหม่เป็นสินค้ารักษ์โลก (Circular Products) จากวัสดุหมุนเวียน และกลับมาวางจำหน่ายให้กับลูกค้าโฮมโปรอีกครั้ง ภายใต้โครงการ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” หรือ “Trade-in”
นอกจากนี้ โฮมโปรเดินหน้าใช้พลังงานสะอาดในทุกๆ มิติ ทั้งการใช้รถขนส่งไฟฟ้า EV Truck และการติดตั้ง Solar Roof ในหลายๆ สาขาทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
สิ่งเหล่านี้คือ การกระทำที่เป็นรูปธรรม ที่ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ทำให้โฮมโปรขยับเข้าใกล้เป้าหมาย และมุ่งสู่เป้าหมาย ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ Net Zero ภายในปี 2050
Thai Union: ชูกลยุทธ์ใหม่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เป็นธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น
Thai Union คือหนึ่งในผู้นำด้านอาหารทะเลในระดับโลก มีหลากหลายแบรนด์กระจายอยู่ 16 ประเทศ ทั่วโลก โดยตลาดในอเมริกาและสหภาพยุโรปคิดเป็นยอดขายมากกว่า 70% ของบริษัท ซึ่ง Thai Union ก็ตั้งเป้าด้านความยั่งยืนเช่นกัน เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 42% ภายในปี 2030 และลดปล่อยคาร์บอนให้เหลือศูนย์ภายในปี 2050
นอกจากนี้ Thai Union ยังเน้นเป้าหมาย SDGs Goals ด้านแรงงานปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยเฉพาะธุรกิจอาหารทะเล ซึ่งแม้ว่าไทยยูเนียนไม่ได้ซื้อปลาจากชาวประมงที่ถูกโจมตีเรื่องการใช้แรงงาน แต่เนื่องจากเป็น Big Player ของโลกและตั้งอยู่ในประเทศไทย จึงเป็นจุดเปลี่ยนให้ไทยยูเนียนเข้าร่วมกับรัฐบาลเพื่อช่วยเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมอาหารทะเล ออกเป็นกลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange® 2030 ที่ใช้งบประมาณราว 7.2 พันล้านบาท
ตัวอย่างเช่น การทำให้ปลาทูน่ามีใบรับรองว่ามีมาตรฐานการผลิตที่ดี โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ว่าจับทูน่ามาจากที่ใด
เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมตามแผนตามกลยุทธ์ SeaChange เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง
สรุป
นี่คือ 4 เรื่องสำคัญที่ผู้บริหารธุรกิจต้องรู้จากหลักสูตร Net Zero CEO เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ คว้าโอกาสแข่งขันใน Climate Game ได้อย่างยั่งยืน เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กร สำหรับผู้ที่สนใจอยาก Transform สู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ สามารถติดตามข่าวสารการรับสมัครหลักสูตร Net Zero CEO รุ่นที่ 2 ได้ที่ https://netzeroceothailand.kasikornbank.com
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา