ธุรกิจต่างๆ คงชอบพนักงานที่จงรักภักดีต่อองค์กร, มาเร็วกลับช้า และไม่ใช้วันหยุดพร่ำเพรื่อ แต่รู้หรือไม่ว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของ Karoshi หรือการทำงานหนักจนตายของพนักงานในธุรกิจของคุณอยู่
Karoshi กับประวัติยาวนานกว่า 65 ปี
Karoshi หรือการทำงานหนักจนตาย เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในปีนี้ เพราะเพิ่งพิสูจน์ได้ว่า Miwa Sano พนักงานสาววัย 31 ปี ที่ทำงานใน NHK เสียชีวิตด้วยหัวใจล้มเหลวเมื่อปี 2556 กลับมีเหตุผลมาจากเธอทำงานล่วงเวลา 159 ชม. ใน 1 เดือน รวมถึงกรณี Matsuri Takahasi พนักงานของ Dentsu ที่ฆ่าตัวตายจากเหตุผลดังกล่าวเช่นกัน
แต่จริงๆ แล้ว Karoshi นั้นมีประวัติมายาวนาน เพราะเริ่มตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือช่วงปี 2493 (ค.ศ. 1950) ในยุคที่ Shigeru Yoshida เป็นนายกรัฐมนตรี และอย่างแรกที่เขาทำคือวางนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ผ่านการขอให้องค์กรใหญ่ๆ ยื่นข้อเสนอเรื่องความมั่นคงในการทำงาน
ในทางกลับกัน ตังธุรกิจเองก็ขอให้พนักงานเหล่านั้นตอบกลับด้วยความจงรักภักดีกับองค์กรด้วย และเรื่องนี้เองก็ช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวหลังจากแพ้งสงครามอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก แต่ความจงรักภักดีขององค์กรนั้นเอง ก็กลายเป็นวัฒนธรรมการทำงานอย่างหนักของพนักงานญี่ปุ่นถึงปัจจุบัน
Work-Life Balance ไม่มีมาตั้งแต่วันนั้น
และเมื่อความจงรักภักดีต่อองค์กรอยู่ในขั้นสุด คำว่า Work-Life Balance ในองค์กรธุรกิจญี่ปุ่นก็ไม่มีอีกต่อไป เพราะจากการสำรวจพนักงานกว่า 10,000 คนในประเทศญี่ปุ่น พบว่า 20% ทำงานล่วงเวลา 80 ชม./เดือน และกว่าครึ่งหนึ่งก็ตอบว่าไม่เคยใช้สิทธิ์วันหยุดพักผ่อนเลย
ซึ่งหลังจากวันนั้น ก็เกิดการฆ่าตัวตาย และภาวะหัวใจล้มเหลวของคนทำงานในญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงความคิดของเจ้านายที่นั่นก็ยังมองว่า คนทำงานที่ดีคือมาเช้า กลับช้า หรือไม่ก็กลับดึกไปเลย รวมถึงเรื่องนี้ก็เกิดกับผู้หญิงมาขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จากเดิมที่ Karoshi จะเจอแค่กับพนักงานผู้ชายเป็นหลัก โดยเหตุผลหลักคือ ความจงรักภักดีต่องาน
ให้สิทธิ์ต่างๆ เพิ่ม น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้
การปรับความคิดเจ้านายไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีการออกนโยบาย Premium Friday หรือการให้เลิกงานวันศุกร์สุดท้ายของเดือนได้ตั้งแต่บ่าย 3 โมง แต่นั่นก็ไม่ช่วยอะไรนัก เพราะช่วยปลายเดือนคือช่วงปิดยอดขาย ทำให้บางบริษัทเลือกเลี้ยงข้าวเช้ากับผู้ที่มาทำงานเร็ว หรือไม่ก็บังคับให้พนักงานเลิกเร็วๆ บ้าง
แต่ถึงกระนั้นวัฒนธรรมที่ฝั่งรากลึกมานาน การจะแก้ไขเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
อ้างอิง // Business Insider
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา