ชวนศึกษาชีวิต Ayesha Curry จาก Food Blogger ธรรมดา สู่เจ้าของร้านอาหาร และผลิตภัณฑ์ครัวเรือน

Food Blogger ในตอนนี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แต่สุดท้ายก็เหลือแค่คนเจ๋งๆ ที่ยืนอยู่ได้นานเพียงไม่กี่ราย และถ้าผู้อ่านอยากเป็น Food Blogger บ้าง Brand Inside อยากให้ลองศึกษากลยุทธ์ของ Ayesha Curry ดู

Ayesha Curry // ภาพจากเว็บไซต์ ayeshacurry.com

จาก Food Blogger สู่ Food Empire

ผู้อ่านที่ดูบาสเก็ตบอลในช่วงไม่กี่ฤดูกาลนี้อาจคุ้นเคยกับนามสกุล Curry อยู่บ้าง เพราะ Stephen Curry เป็นนักบาสเก็ตบอลระดับ All-Star ของ NBA และ Ayesha Curry ก็คือภรรยาของเขา ซึ่งก่อนหน้านี้เธอก็เป็นแม่บ้านลูกสองที่ชื่นชอบเรื่องอาหารเหมือนกับผู้หญิงทั่วไป

แต่จาก Passion นี้เอง ทำให้ Ayesha Curry เริ่มก้าวออกจากชีวิตประจำวันเดิมๆ ที่เป็นภรรยาของนักบาสเก็ตบอล สู่การ Post เรื่องเกี่ยวกับอาหารในแง่มุมต่างๆ ของเธอเอง และด้วยเนื้อหาที่ถูกใจหลายๆ คน เพราะมันเข้าถึงง่าย แถมเป็นเรื่องในชีวิตประจำวันทั่วไป ก็ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน Food Blogger ตัวท็อปๆ ในทันที

ชุดเครื่องครัวภายใต้แบรนด์ของเธอเอง // ภาพจาก Target.com

เมื่อเป็นที่จับตามอง เธอก็ไม่รอช้าที่จะเดินไปหาพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อต่อยอด Passion ของเธอ โดยปัจจุบันเธอได้ร่วมทำธุรกิจกับ The Food Network, ZupaNoma และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีร้านอาหาร, หนังสือ กับแบรนด์สินค้าในครัวเรือนของเธอเองอีกด้วย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ Passion อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีกลยุทธ์ที่ดีด้วย

เนื้อหาชัด-เพิ่มพาร์ทเนอร์-เข้าหาสื่อฯ

จังหวะการก้าวของ Ayesha Curry นั้นเริ่มจากการวางกลยุทธ์ตั้งแต่เนื้อหาที่ต้องการสื่อออกไป เพราะเธอรู้ว่าตัวเองเป็นแม่บ้านลูกสอง จึงพยายามเน้นเรื่องนี้ เช่น Post เรื่องลูก ผสมกับเรื่องอาหาร เพื่อแสดงความเป็นตัวเอง และเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ง่าย ดังนั้นก่อนเริ่มถ้าคุณระบุเป้าหมายสัก 3 อย่างก็น่าจะตีกรอบการ Post ได้ง่ายขึ้น

ก้าวสู้ผู้ให้บริการส่งวัตถุดิบ และวิธีทำอาหารให้ผู้สนใจ // ภาพจาก cookhomemade.com

และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นเกี่ยวกับการหาพาร์ทเนอร์ จริงๆ แล้วอยากให้ผู้อ่านที่สนใจเป็น Food Blogger ลองลิสต์ชื่อ 5-10 แบรนด์ที่ชอบ แล้วนัดเข้าไปคุยกับหัวหน้าแผนก Social Media ด้วยตนเอง เพราะมันจริงใจ และเร็วกว่าส่งอีเมลเป็นแน่แท้ แต่แค่นี้ไม่พอ อย่าลืมพยายามทำตัวให้อยู่ในสื่อ และขึ้นเวทีเสวนาอาหารบ่อยๆ ด้วย

ผู้เชี่ยวชาญก็จำเป็นก่อนที่จะก้าวต่อ

ขณะเดียวกันการได้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่อง Social Media หรือการบริหารจัดการในร้านอาหารก็จำเป็น เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจที่จับต้องได้ ทั้งตัวร้านอาหาร และแบรนด์อุปกรณ์ในครัวเรือนทำได้ดีที่สุด ซึ่งเรื่องง่ายๆ ในการเปิดร้านอาหารก็คือ จ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ ดีกว่าจ้างเพื่อนสนิทมาช่วยบริหาร

สรุป

การจะเป็น Food Blogger ที่ดี และยั่งยืน อย่างแรกคือต้องมี Passion กับสิ่งที่ทำอย่างรุนแรง เพื่อสื่อเรื่องที่เราชอบ สู่ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจุดนี้เองจะเป็นจุดชี้ชะตาว่า เราจะก้าวไปสู่ Food Blogger ดังๆ ที่มีแบรนด์เข้ามาติดต่อโฆษณา และสร้างสินค้าเป็นของตนเองได้ แทนที่จะเป็นแค่นักรีวิวอาหารทั่วไปเฉยๆ

อ้างอิง // Entrepreneur

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา