หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมา SoftBank ผิดหวังกับการที่ไม่ประสบความสำเร็จในการนำ Sprint มาควบรวมกิจการกับ T-Mobile เพราะปัญหาสัดส่วนในการถือหุ้นระหว่างทั้งสองที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ตอนนี้ SoftBank มีวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่ที่อาจดีกว่าแผนเดิม และทำให้โครงสร้างของบริษัทอาจดูดีกว่าเดิมในอนาคต
SoftBank เตรียมนำธุรกิจในเครือ คือ SoftBank Mobile ซึ่งให้บริการโทรศัพท์มือถือในญี่ปุ่น เข้า IPO ซึ่งถ้าทำสำเร็จ จะเป็นดีลขนาดใหญ่มากในรอบ 20 ปีของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น
ความน่าสนใจคือ การระดมทุนมหาศาลขนาดนี้ ท่ามกลางปัจจัยบวกและลบของ SoftBank จะเป็นการสร้างมิติใหม่ หรือ SoftBank 2.0 ขึ้นอย่างเป็นทางการ
Note: เพื่อป้องกันการสับสนทุกวันนี้หุ้นของ SoftBank (9984) เป็น Holding Company เพราะถือหุ้นในกิจการหลายๆ อย่างรวมกัน ไม่ใช่แค่ธุรกิจโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว ดังนั้นผู้เขียนเลยเรียกกิจการมือถือในประเทศญี่ปุ่นว่า SoftBank Mobile
ปัญหาใหญ่ๆของ SoftBank คือ “หนี้”
ปัญหาของ Sprint ที่สร้างความปวดหัวให้กับ SoftBank คือหนี้ใน Sprint สูงมาก และทำให้หนี้ใน SoftBank สูงขึ้นตามไปด้วย โดยหนี้ที่ต้องชำระ 6 ปีข้างหน้ามีมูลค่า 50,000 ล้านเรียญสหรัฐ นักลงทุนเลยให้คุณค่าของ SoftBank น้อยกว่าบริษัทสื่อสารอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นเช่น NTT Docomo หรือแม้แต่ KDDI และสมทบด้วยการที่ SoftBank ไล่ซื้อกิจการเพิ่มเติม เช่น การซื้อ ARM ยิ่งทำให้เกิดปัญหาหนี้ก้อนโตตามมา ฉะนั้นบริษัทเองก็ต้องหาวิธีปลดล็อกหนี้ ไม่งั้นต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะสูงตามไปด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ในระยะยาวของ SoftBank
มหากาพย์ Sprint หนังเรื่องยาวก่อนที่จะได้สูตร IPO
ก่อนที่จะกล่าวถึงเรื่อง IPO ของ SoftBank Mobile ต้องกล่าวถึงเรื่องดีลของ Sprint กับ T-Mobile ซึ่งวงการสื่อสารโทรคมนาคมนั้นจับตามองเป็นอย่างมาก หลังจากมีข่าวลือตั้งแต่ปี 2014 รวมไปถึงข้อตกลงไม่ลงตัวและลามไปถึงเรื่องการเมืองในสหรัฐอเมริกาด้วยในสมัย Donald Trump ว่ามีการล็อบบี้พยายามให้ดีลนี้ผ่านให้ได้
เพื่อความเข้าใจผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Sprint คือ SoftBank ส่วนทาง T-Mobile มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Deutsche Telekom
โดยข่าวลือในแต่ละรอบปีก่อนที่ดีลจะล่มลงไป
- ปี 2014 SoftBank เคยที่ต้องการจะควบรวมกิจการของ T-Mobile ซึ่งทาง SoftBank จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
- ปี 2016 SoftBank จะควบรวมกิจการของ T-Mobile โดยจะจ่ายเป็นหุ้น 50% เงินสด 50%
- ปี 2017 Masayoshi Son ได้ไปพบปะเพื่อพูดคุยกับบุคคลหลายคนเพื่อขายกิจการให้ หรือไม่ก็ให้มาช่วยลงทุนให้กับบริษัท
- Bloomberg รายงานว่า Masayoshi Son ไปพบป่ะกับ John Malone เจ้าของ Liberty Global เพื่อคุยเรื่องของการควบรวมกิจการ
- Wall Street Journal รายงานว่าช่วงเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา Masayoshi Son เคยไปพบปะกับ Warren Buffet เพื่อให้ช่วยลงทุนใน Sprint
ในเดือนตุลาคม 2017 ที่ผ่านมา ทาง SoftBank ยอมขอเป็นผู้ถือหุ้นรองจาก Deutsche Telekom ในบริษัทใหม่ แต่ท้ายที่สุดแล้วเดือนพฤษจิกายน ดีลนี้ก็ล่มลงไปเพราะว่าเจรจากันไม่สำเร็จระหว่างสัดส่วนผู้ถือหุ้น จึงจบเรื่องของการควบรวมกิจการของทั้งสองไปปริยาย และท้ายที่สุดทาง SoftBank เลยเพิ่มการถือหุ้นใน Sprint มาอยู่ที่ 85%
IPO ที่มูลค่ามากที่สุดในรอบ 20 กว่าปี
ข่าวลือล่าสุดจาก Nikkei คือ SoftBank เตรียมนำ SoftBank Mobile มา IPO เป็นหลักทรัพย์ใหม่ โดยการ IPO ครั้งนี้ถือว่ามีมูลค่าการระดมทุนใหญ่มากในรอบ 20 ปีของตลาดหลักทรัพย์โตเกียว โดยมีมูลค่าการระดมทุน 2 ล้านล้านเยน แต่ยังถือว่าเป็นรอง NTT ที่เคยทำ IPO ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียวในปี 2530 มีมูลค่าระดมทุนอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านเยน หุ้นที่จะนำมาขาย IPO มีสัดส่วน 30% ทางด้าน Credit Suisse ประมาณมูลค่าของ SoftBank Mobile อยู่ที่ 6.2 ล้านล้านเยน
หุ้นของ SoftBank ปัจจุบันจะกลายร่างเป็น Holding Company
หุ้นของ SoftBank หลังจากการนำธุรกิจผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศญี่ปุ่นออกมา IPO นั้นจะกลายเป็นว่าหุ้นปัจจุบันจะกลายเป็นบริษัท Holding Company กลายๆ โดยโครงสร้างจะเป็นการไล่ถือหุ้นบริษัทต่างๆ
- ถือหุ้น ARM
- ถือหุ้น Alibaba
- ถือหุ้น Yahoo Japan
- ถือหุ้น SoftBank Mobile (บริษัทใหม่ที่ IPO)
- ถือหุ้น Sprint
- ถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ เช่น Scigineer หรือ SoftBank Technology Corp ฯลฯ
- เงินลงทุนใน SoftBank Vision Fund
Chris Lane นักวิเคราะห์ของ Sanford C. Bernstein มองว่าการที่ SoftBank พยายามแยก SoftBank Mobile ออกมา IPO จะทำให้ดึงดูดนักลงทุนที่สนใจในตัว Holding (บริษัทเดิม) ว่าบริษัทได้ลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีอะไรใหม่ๆ ในอนาคต
ราคาหุ้นก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ
อีกเรื่องที่สำคัญที่สร้างความหงุดหงิดให้กับ Masayoshi Son อีกเรื่องคือเรื่องของราคาหุ้นของ SoftBank ในปัจจุบันที่มีผลตอบแทนไล่ตามบริษัทคู่แข่งในประเทศญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย ทุกวันนี้นักลงทุนยังคาใจในเรื่องของทิศทางของบริษัทและรวมไปถึงโครงสร้างบริษัทที่ชวนปวดหัวแก่นักลงทุนรวมไปถึงนักวิเคราะห์
ฉะนั้นการ IPO ส่วนของ SoftBank Mobile ออกมา อาจทำให้ปลดล็อกมูลค่าแฝงได้อีกทาง ทำให้นักลงทุนมองเห็นมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น และใกล้เคียงกับกลุ่มบริษัทคู่แข่งอย่าง NTT และ KDDI มากขึ้น
สังคมผู้สูงอายุและผู้เล่นรายที่ 4 ต้องเร่ง IPO ไวขึ้น
ธุรกิจของ SoftBank Mobile ในประเทศญี่ปุ่นเป็นส่วนที่ทำรายได้คงที่ให้กับ SoftBank มากที่สุด แต่ขณะเดียวกันปัญหาในประเทศญี่ปุ่นที่กำลังพบมากขึ้นคือรายได้ของบริษัทที่กำลังทยอยลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น
และผู้เล่นรายใหม่คือ Rakuten ที่ประกาศออกมาชัดเจนว่าจะเป็นผู้เล่นรายที่ 4 ยิ่งทำให้ SoftBank ต้องรีบ IPO ให้ไวที่สุด และรวมไปถึงช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของยุคดอกเบี้ยต่ำ ทำให้มีเม็ดเงินอีกจำนวนมากที่พร้อมจะซื้อ IPO ถึงแม้ว่าล่าสุดดัชนี Nikkei ช่วงนี้จะลงตามตลาดหุ้นอื่นๆ ก็ตาม
มีการคาดการณ์ว่าการ IPO ไวที่สุด จะอยู่ในช่วงของฤดูใบไม้ผลิ และช้าที่สุดผู้เขียนคาดว่าอาจอยู่ที่ปีหน้า ยกเว้นเสียแต่ว่า Masayoshi Son ได้วิธีใหม่ในการหาเงินทุนก้อนใหม่ในการลงทุน
ที่มา – Financial Times, Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา