ทุนจีนบุกหนัก ดังไว-ดับไว เปิดใหม่ทุกสัปดาห์ ความจริงที่ ‘ร้านอาหาร’ ในไทยต้องเจอปีนี้

ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดอาหารอันดุเดือด คุณคิดว่าการเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ มันยากแค่ไหน?

CRG

Brand Inside มีโอกาสเข้าฟังภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย โดย ‘ณัฐ วงศ์พานิช’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) จึงอยากแบ่งปันมาให้ทุกคนอ่านกัน

ปีนี้ตลาดอาหารโตแน่ แต่อุปสรรคก็เยอะไม่แพ้กัน

restaurant

ณัฐเผยว่า ในปี 2025 ตลาดอาหารไทยมีแนวโน้มโตขึ้นราวๆ 5-7% โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 5.72 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมของธุรกิจอาหารจะยังดูสดใส แต่อุปสรรคขวากหนามมากมายกำลังรอผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าอยู่ ซึ่งณัฐอธิบายไว้ ดังนี้

  1. แบรนด์ใหม่เกิดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ ทำให้การแข่งขันดุเดือด 
  2. ธุรกิจจีนบุกหนักมาก แถมยังตอบโจทย์ความต้องการคนไทย และมีต้นทุนต่ำ
  3. คุณภาพก็สำคัญ เพราะเดี๋ยวนี้ลูกค้ายินดีจ่ายแพงเพื่อแลกกับของดีๆ 
  4. อายุขัยแบรนด์สั้นลง ธุรกิจหนึ่งสามารถกลายเป็นที่นิยมได้ในเวลาไม่นาน แต่ก็อาจดับไวด้วยเช่นกัน 
  5. แบรนด์ที่อยู่มานานต้องรู้จักปรับตัว ถ้าไม่อัปเดตให้ทันโลก ก็จะล้าสมัย
  6. หัดคิดค้นอะไรใหม่ๆ เช่น แบรนด์ใหม่ หรือ รูปแบบใหม่บ้าง เพราะความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ
  7. ขาดแคลนแรงงาน ค่าแรงก็อาจเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนไม่แน่นอน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อุตสาหกรรมอาหารเผชิญความท้าทายขนาดนี้ เพราะณัฐเล่าว่า ในปี 2024 ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารก็มีความท้าทายจากหลากหลายสถานการณ์ เช่นการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

CRG เตรียมรับมือกับปี 2025 อยากขยายสาขากว่า 100 แห่ง พร้อมเปิดตัวน้องใหม่ 2-3 เจ้า

CRG

แม้อุปสรรคจะมากมายขนาดไหน แต่สำหรับปี 2025 CRG ยังอยากโตอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายคือ

  • ทำยอดขายให้ถึง 1.79 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13% จากปี 2024 
  • เปิดร้านใหม่เพิ่ม 120-140 แห่ง
  • เติมธุรกิจใหม่เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ 2-3 แบรนด์

นอกจากนี้ ณัฐเล่าว่า บริษัทยังอยากเพิ่มร้านอาหารประเภท ‘ปิ้งย่าง-ชาบู’ เข้ามาด้วย และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2025

ดังนั้น CRG จึงกำหนดแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจ ท่ามกลางความท้าทาย เพื่อที่จะโตตามเป้าหมายอย่างยั่งยืนได้ ประกอบไปด้วย

  1. ต่อยอดธุรกิจ ผ่านการสร้างการเติบโตจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ พร้อมขยายสาขาของแบรนด์ที่มีกำไร เช่น KFC, Mister Donut, Auntie Anne’s, นักล่าหมูกระทะ และ Shinkanzen รวมถึงพัฒนาสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง
  1. ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายด้วย ‘3C Actions’ ได้แก่ Cost การบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ, CAPEX (Capital Expenditure) เน้นลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ Cash Flow การบริหารกระแสเงินสด รวมถึงการลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
  1. เพิ่มความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอด้วยแบรนด์ใหม่ และตั้งเป้าขยายธุรกิจรูปแบบ Joint Venture มากกว่า 25 สาขา
  2. ผลักดันความยั่งยืนทุกมิติ ด้วยกลยุทธ์ ‘CRG Strategy’ ซึ่งหมายถึงการดูแลบุคลากรและพันธมิตร (CARE for People and Partner), การลดก๊าซเรือนกระจก โดยใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น (REDUCE Greenhouse Gases) และการลดปริมาณขยะอาหารในกระบวนการผลิต (GREEN Waste & Environment)

ในปี 2024 CRG ก็เปิดตัวสินค้าและแคมเปญใหม่ๆ ออกมาไม่น้อย แถมยังประสบความสำเร็จ อาทิ 

  • ‘White Pon De Ring’ ของ Mister Donut ที่สร้างปรากฏการณ์ยอดขายทะลุ 3.6 ล้านชิ้น พร้อมรายได้ 70 ล้านบาท
  • ปรับโฉม ‘KFC สาขาแรกของไทย’ ให้พาย้อนความทรงจำในวันวาน ผสานความโมเดิร์นด้วย Kiosk สั่งอาหาร
  • คลิปสุดไวรัลอย่าง ‘How to Cook’ จาก Pepper Lunch ที่เป็นตัวจุดกระแสให้คนลองปรุงความอร่อยตามสไตล์แบรนด์
  • เปิดตัว 2 แบรนด์ใหม่คือ NAMA Japanese and Seafood Buffet และ Katsu Midori Sushi

ดังนั้น ปีนี้ CRG จะงัดแนวทางใหม่ๆ อะไรให้ผู้บริโภคได้เห็นบ้าง และจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา